จากนั้นได้มีการตรากฎหมายภาษีอากรประเภทต่างๆ ขึ้นมา ในชั้นแรกมีการจัดเก็บภาษีอากรรวมกันไว้ที่ส่วนกลางทั้งหมด เว้นแต่ภาษีโรงเรือนและที่ดินที่กำหนดให้ส่วนท้องถิ่นเป็นผู้จัดเก็บตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา ต่อมาได้แยกภาษีบำรุงท้องที่ออกจากประมวลรัษฎากร เมื่อปี พ.ศ. 2508 โดยพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 และแยกภาษีป้ายออกจากประมวลรัษฎากร เมื่อปี พ.ศ. 2510 โดยพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 ท้ายที่สุดได้โอนอากรรังนกอีแอ่นไปให้ราชการส่วนท้องถิ่นจัดเก็บ เมื่อปี พ.ศ. 2540
คำว่า “ภาษี” กำหนดจัดเก็บจากฐานภาษีดังต่อไปนี้
- ฐานรายได้ ได้แก่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร รวมทั้งภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ตามพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ภาษีเงินได้ทั้งหมดเป็นภาษีทางตรง กล่าวคือ จัดเก็บภาษีจากผู้มีเงินได้ที่ถูกกำหนดให้เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีนั้นโดยตรง
- ฐานรายจ่ายหรือการจับจ่ายใช้สอย ได้แก่ ภาษีการบริโภค อาทิ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ ภาษีศุลกากร ภาษีสรรพสามิต โดยส่วนใหญ่ภาษีการบริโภคเป็นภาษีทางอ้อม เพราะรัฐไม่สามารถจัดเก็บภาษีการบริโภคโดยตรงจากผู้บริโภคได้โดยสะดวก จึงต้องบัญญัติกฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคโดยการซื้อสินค้าหรือรับบริการให้เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีการบริโภค โดยให้มีสิทธิผลักภาระภาษีการบริโภคไปเป็นส่วนหนึ่งของราคาสินค้าหรือค่าบริการ เว้นแต่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่กำหนดแยกค่าภาษีมูลค่าเพิ่มออกต่างหากจากราคาสินค้าหรือค่าบริการเพื่อประโยชน์ในการบริหารการจัดเก็บภาษีอากร
- ฐานทรัพย์สิน ได้แก่ ภาษีที่เรียกเก็บจากการเป็นเจ้าของหรือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน อาทิ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีป้าย ภาษีบำรุงท้องที่ ส่วนคำว่าอากรนั้น เป็นการที่รัฐเรียกเก็บเงินจากผู้ต้องเสียอากรในรูปของค่าธรรมเนียม เช่น อากรแสตมป์ เป็นการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการยอมให้ใช้ตราสารที่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ตามกฎหมายเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่ง ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการใช้รถยนต์ที่ต้องเสียก่อนเริ่มใช้ ค่าธรรมเนียมผ่านทางหลวง ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตอื่นๆ เป็นต้น
แหล่งที่มา เว็บไซต์เดลินิวส์ วันอังคารที่ 13 มีนาคม 2555 เวลา 00:00 น.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น