วันอาทิตย์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2555

วัตรในการบิณฑบาต

กิจวัตรของพระภิกษุสงฆ์ที่เป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนาที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ การออกบิณฑบาตในเวลาเช้า ซึ่งเป็นเวลาที่ผู้คนทั้งหลายจะได้พบเห็นพระเณรออกบิณฑบาตด้วยอาการอันสำรวม มีสายตาที่ทอดลง เดินโดยเท้าเปล่า คนส่วนใหญ่มักเกิดศรัทธาเมื่อพบเห็นพระเณรออกบิณฑบาตด้วยอาการอันน่าเลื่อมใส แม้นักท่องเที่ยวหรือผู้ที่ไม่ได้เป็นชาวพุทธก็ยังชื่นชมต่อกิจวัตรอันประกอบไปด้วยความสำรวมระวังนี้

คนไทยเองที่ชินตากับการเห็นพระเณรออกบิณฑบาต แต่เมื่อไปต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ประเทศลาว เห็นพระสงฆ์ออกเดินบิณฑบาตพร้อมกัน เดินเป็นแถวดูเรียบร้อยงดงาม ไม่มีการเดินแซงกัน เล่นหรือพูดคุยกัน มีสายตาทอดลงและสำรวมในการรับบิณฑบาต ก็ยังอดประทับใจไม่ได้

ทำไมพระสงฆ์จึงต้องออกบิณฑบาตด้วยความเรียบร้อยสำรวม?

นั่นมิใช่เพียงเพราะท่านแสดงถึงความไม่โลภ ความเมตตา ความเพียร และความอดทน ซึ่งต้องมีอยู่ในจิตใจของผู้ที่ออกบวชในพระพุทธศาสนา ผู้เลี้ยงชีพด้วยการบิณฑบาตเป็นหลักเท่านั้น แต่ความจริงแล้วความเรียบร้อยความสำรวมเหล่านี้ยังมีที่มาจากพระวินัย ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ได้อย่างเหมาะสมยิ่ง

ในการบัญญัติพระวินัยนั้นก็มีต้นเรื่องเป็นที่มาด้วยในพระวินัยปิฎก วัตตขันธกะ ปิณฑจาริกวัตร กล่าวถึงภิกษุรูปหนึ่งเป็นผู้ออกบิณฑบาตเป็นวัตร แต่เป็นพระที่ไม่เรียบร้อย ทั้งการนุ่งห่มก็ไม่เรียบร้อย และกิริยามารยาทในเวลาออกจากวัดเข้าไปสู่บริเวณบ้านเพื่อบิณฑบาตก็ไม่เรียบร้อย ท่านมักจะเข้าไปโดยไม่คิดก่อนที่จะเข้าไปว่าจะไปทางไหน จะกลับทางไหน บางทีก็รีบร้อนเข้าไปบิณฑบาต รีบร้อนกลับออกมาบ้าง ยืนไกลบ้าง ใกล้บ้าง ยืนนานเกินไปบ้าง วันหนึ่งท่านไม่กำหนดให้ดีเข้าไปบิณฑบาต เดินไปไม่ได้พิจารณา เดินผ่านเข้าไปในประตูบ้านโดยท่านไม่ได้สังเกตให้ดี เดินไปกลายเป็นประตูเข้าห้อง ในห้องเล็กนั้นมีหญิงนอนหงายเปลือยกายหลับอยู่ เมื่อได้เห็นเช่นนั้นท่านก็รีบถอยกลับออกไปในทันที แต่สามีของหญิงนั้นเห็นเข้าพอดี จึงสำคัญผิดว่าพระมาทำมิดีมิร้ายภรรยาของตนที่นอนเปลือยอยู่ในห้อง จึงเข้าทุบตีทำร้ายพระรูปนั้น ขณะนั้นเองภรรยาของเขาจึงตื่นขึ้นเพราะได้ยินเสียงอันดัง จึงบอกสามีว่าพระมิได้ประทุษร้ายฉันแต่ประการใดเลย ให้ปล่อยท่านกลับไปเถิด

เรื่องนี้จึงเป็นต้นเรื่องทำให้พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติวัตรแก่ภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ทำให้ภิกษุต้องประพฤติเรียบร้อย ซึ่งนอกจากจะทำให้พระเณรปลอดภัยแล้ว ยังก่อให้เกิดความน่าเลื่อมใสต่อพุทธศาสนิกชนและผู้พบเห็นมาจนถึงทุกวันนี้ โดยทรงแสดงโดยละเอียด ซึ่งจะขอนำมาแสดงโดยย่อเพียงบางส่วนพอกับเนื้อที่คอลัมน์ดังนี้

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร คิดว่าจักเข้าบ้านในบัดนี้ เมื่อปกปิดมณฑลสาม พึงนุ่งห่มให้เป็นปริมณฑล คาดประคดเอว ห่มผ้าซ้อน 2 ชั้น กลัดลูกดุม ล้างบาตรแล้วถือเข้าบ้านโดยเรียบร้อย ไม่ต้องรีบร้อน พึงปกปิดกายด้วยดีไปในละแวกบ้าน พึงสำรวมด้วยดีไปในละแวกบ้าน พึงมีตาทอดลงไปในละแวกบ้าน (ต่อไปขอละคำว่าไปในละแวกบ้าน) อย่าเวิกผ้า อย่าหัวเราะลั่นไป พึงมีเสียงน้อย อย่าโยกกาย อย่าไกวแขน อย่าโคลงศีรษะ อย่าค้ำกาย อย่าคลุมศีรษะ อย่าเดินกระโหย่ง

เมื่อเข้านิเวศน์พึงกำหนดว่า จักเข้าทางนี้ จักออกทางนี้ อย่ารีบร้อนเข้าไป อย่ารีบร้อนออกเร็วนัก อย่ายืนไกลนัก อย่ายืนใกล้นัก อย่ายืนนานนัก อย่ากลับเร็วนัก พึงยืนกำหนดว่าเขาประสงค์จะถวายภิกษาหรือไม่ ... เขาประสงค์จะถวาย เมื่อเขาถวายภิกษา พึงแหวกผ้าซ้อนด้วยมือซ้าย พึงน้อมบาตรเข้าไปด้วยมือขวา แล้วพึงใช้มือทั้งสองประคองบาตรรับภิกษา และไม่พึงมองดูหน้าผู้ถวายภิกษา ... เมื่อเขาถวายภิกษาแล้ว พึงคลุมบาตรด้วยผ้าซ้อนแล้วกลับโดยเรียบร้อย ไม่ต้องรีบร้อน พึงปกปิดกายด้วยดีไปในละแวกบ้าน ...”

เท่านี้ก็จะเห็นได้ว่าพระพุทธเจ้าทรงกำหนดวัตรในการบิณฑบาตไว้ได้เหมาะสมยิ่ง เพราะทั้งครบถ้วนงดงาม ทั้งกิริยามารยาท การนุ่งห่ม การพิจารณาทางไปกลับ การยืนเดินหยุดรับบาตร สามารถเป็นไปได้ด้วยความเรียบร้อย สุภาพ น่าเลื่อมใส โดยไม่ต้องพูดแม้สักคำเดียว
เมื่อพระภิกษุสามเณรรักษาวัตรอันงามในการบิณฑบาต ก็ย่อมก่อให้เกิดศรัทธา ผู้ใส่บาตรที่มีจิตใจงาม มีความรู้ความเข้าใจ จึงใส่บาตรด้วยความเคารพนอบน้อมด้วยจิตที่เคารพต่อพระสงฆ์โดยรวมด้วย เพราะการใส่บาตรนับเป็นการสืบต่อชีวิตของพระสงฆ์และพระพุทธศาสนาอย่างหนึ่งทีเดียว เมื่อกระทำด้วยดีจึงได้บุญมากอย่างไม่ต้องสงสัย...

แหล่งที่มา   เว็บไซต์โพสทูเดย์ 25 มีนาคม 2555 เวลา 08:57 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...