วันจันทร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

พืชชนิดใหม่ของโลก...ได้รับพระราชทานชื่อ 3 ชนิด

ไม้ดอกไม้ประดับ ที่เห็นกันอยู่ในท้องตลาดจำนวนไม่น้อยได้รับการพัฒนามาจาก พรรณไม้ในวงศ์เทียน (Balsaminaceae) และ วงศ์ชาฤาษี (Gesneriaceae) เป็นหลัก เช่น แอฟริกันไวโอเล็ต โคมญี่ปุ่นและ อิมเพชั่น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพรรณไม้ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีการสำรวจและศึกษาเพื่อพัฒนาต่อยอดเป็นไม้ประดับเชิงการค้า


ดังนั้น นักวิชาการ สำนักคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร จึงได้ทำงานวิจัยเรื่อง การศึกษาพรรณไม้วงศ์เทียนและวงศ์ชาฤาษี ขึ้นมา โดยใช้ระยะเวลาดำเนินการถึง 5 ปีเต็ม จนกระทั่งประสบความสำเร็จในการค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกที่อยู่ในวงศ์ของ 2 พรรณไม้นี้ รวมกว่า 50 ชนิด นับเป็นการค้นพบพืชชนิดใหม่จำนวนมากที่สุดของโลก ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตรจึงพิจารณาให้ผลงานดังกล่าวได้รับ รางวัลผลงานวิจัยดีเด่นขั้นพื้นฐาน เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อนักวิจัยนำไปต่อยอดด้านต่างๆ ต่อไป

ดร.ปราโมทย์ ไตรบุญ หัวหน้าคณะวิจัยเรื่องการศึกษาพรรณไม้วงศ์เทียนและวงศ์ชาฤาษี กล่าวว่า พรรณไม้ใน 2 วงศ์นี้ มีอยู่ตามธรรมชาติของประเทศไทยโดยเฉพาะบริเวณเทือกเขาหินปูน ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีใครได้ศึกษาอย่างจริงจัง ประกอบกับข้อมูลอ้างอิงในพิพิธภัณฑ์พืช กรมวิชาการเกษตรที่มีอยู่นั้นเป็นข้อมูลที่ถูกรวบรวมมาเป็นระยะเวลานานและมีตัวอย่างไม่มากนัก จึงไม่ครอบคลุมความหลากหลายชนิดของพืช 2 วงศ์นี้ที่มีอยู่ในประเทศไทย ดังนั้น คณะวิจัยจึงได้ตัดสินใจศึกษาเรื่องนี้เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลพื้นฐานของพรรณไม้ 2 วงศ์ที่อยู่ในประเทศไทยว่ามีจำนวนเท่าไร สามารถจำแนกได้กี่ชนิด มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้องอย่างไร และเก็บตัวอย่างพืชสำหรับใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงไว้ในพิพิธภัณฑ์พืชต่อไป

จากการสำรวจและเก็บตัวอย่างพืชเป็นเวลา 5 ปี ผลปรากฏว่าในประเทศไทยมีพืช 2 วงศ์นี้รวมถึง 198 ชนิด แบ่งเป็นพืชในวงศ์เทียน 60 ชนิด และวงศ์ชาฤาษี 138 ชนิด จากนั้นได้นำตัวอย่างมาตรวจสอบข้อมูลทางอนุกรมวิธานและเปรียบเทียบกับตัวอย่างที่มีอยู่ในพิพิธภัณฑ์พืชของไทย ตลอดจนมีการนำตัวอย่างไปประเทศอังกฤษเพื่อเปรียบเทียบกับตัวอย่างพืช 2 วงศ์นี้จากทั่วโลก ผลสรุปว่าในจำนวน 198 ชนิดที่พบนี้ เป็นพืชชนิดใหม่ของโลกถึง 52 ชนิด เนื่องจากไม่เคยมีใครค้นพบและตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์มาก่อน นับว่าเป็นการค้นพบพืชชนิดใหม่ที่มีจำนวนมากที่สุดของโลก ทั้งนี้ คณะวิจัยได้ขอพระบรมราชานุญาตใช้ชื่อวิทยาศาสตร์พืชชนิดใหม่วงศ์ชาฤาษีจำนวน 2 ชนิด เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีนครินทรา


บรมราชชนนี โดยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Trisepalum bhumibolianus ซึ่งมีพระบรมราชานุญาต พร้อมโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อสามัญว่า “ภูมิพลินทร์” และ Trisepalum sangwaniae พระราชทานชื่อสามัญว่า “นครินทรา” นอกจากนี้ ยังได้ขอพระราชานุญาตใช้ชื่อวิทยาศาสตร์พืชชนิดใหม่วงศ์เทียน 1 ชนิด เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ว่า I. sirindhorniae และได้พระราชทานชื่อทั่วไปว่า “ชมพูสิริน”

ขณะนี้ได้มีการตีพิมพ์เผยแพร่เป็นพืชชนิดใหม่ของโลกในเอกสารทางวิชาการ เพื่อให้นานาชาติได้รับทราบถึงข้อมูลที่ประเทศไทยค้นพบ พร้อมกันนี้ได้จัดเก็บตัวอย่างพืชที่ค้นพบใหม่ไว้ในพิพิธภัณฑ์พืชกรุงเทพ เพื่อให้นักอนุกรมวิธานพืชทั่วโลกได้ใช้ในการอ้างอิงต่อไป ซึ่งนับเป็นเกียรติประวัติของคณะวิจัย กรมวิชาการเกษตร และประเทศไทย

แหล่งที่มา    เว็บไซต์เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 14 พฤษภาคม 2555 เวลา 00:00 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...