วันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ห้องสมุดสีเขียว

กรุงเทพมหานคร ร่วมมือกับ ธนาคารเอชเอสบีซี เปิดตัว “ห้องสมุดสีเขียว” ห้องสมุดประชาชนต้นแบบประหยัดพลังงานแห่งแรกในไทยและเอเชีย
กรุงเทพมหานครขยับตัวเร็วเป็นมหานครแห่งแรกในเอเชีย เปิดให้บริการห้องสมุดสีเขียว (Green Library) สำหรับประชาชนอย่างเป็นทางการ โดยความร่วมมือระหว่างธนาคารเอชเอสบีซี และพันธมิตรธุรกิจชั้นนำ หวังนำร่องเป็นห้องสมุดประชาชนต้นแบบเพื่อการประหยัดพลังงานและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
มร.แมตทิว ล็อบเนอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย กล่าวว่า “การเปิดตัวห้องสมุดสีเขียวอย่างเป็นทางการวันนี้ เป็นจุดเริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรมของการตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม และยังถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของเอชเอสบีซีในการสนับสนุนให้มีการพัฒนาอาคารสีเขียวให้เกิดขึ้นทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายความยั่งยืนของธุรกิจของธนาคารฯ ที่คำนึงถึงคนในสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม โดยนับแต่ปี 2550 เอชเอสบีซี ได้ดำเนินการก่อสร้างหรือปรับปรุงอาคารสำนักงานสำคัญต่างๆ ของธนาคารฯ ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยขณะนี้มีอาคารสำนักงานของเอชเอสบีซีประมาณ 24 แห่งทั่วโลก ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการก่อสร้าง หรือรอผลการรับรองอาคารสีเขียว ธนาคารฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ห้องสมุดสีเขียวแห่งนี้จะเป็นแหล่งเรียนรู้ที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไป และจุดประกายแนวคิดการรักษาสมดุลธรรมชาติเพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างยั่งยืน”

ม.ร.ว. สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “ในนามของกรุงเทพมหานคร ผมขอขอบคุณธนาคารเอชเอสบีซี และพันธมิตรธุรกิจชั้นนำทุกแห่งที่รวมมือกันพัฒนาห้องสมุดสีเขียวนำร่องแห่งนี้จนสำเร็จลุล่วงเป็นอย่างดี และเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการแก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป ทั้งนี้กรุงเทพมหานครรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นภาคเอกชนตื่นตัวด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตลอดจนริเริ่มโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมต่างๆ เพื่อลดปัญหาวิกฤติการณ์โลกร้อน การเปิดตัวห้องสมุดสีเขียวครั้งนี้ ไม่เพียงแต่ร่วมสนับสนุนให้กรุงเทพมหานครเป็น “มหานครแห่งการอ่านและการเรียนรู้” เท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างจริงจังอีกด้วย”

ห้องสมุดสีเขียว ตั้งอยู่ ณ สวนเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ ในชุมชนร่มเกล้าเขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ได้รับการพัฒนาขึ้นจากอาคารเปล่าของกรุงเทพฯ และได้รับการออกแบบพื้นที่ใช้สอยและพื้นที่โดยรอบตัวอาคารให้สอดคล้องกับหลักการอาคารสีเขียว อาทิ การใช้เทคโนโลยีเพื่อสะท้อนความร้อนบนหลังคาและตัวอาคาร การติดตั้งกระจกกันความร้อนแบบ 2 ชั้น และติดตั้งแผงกันแดดที่จำจากวัสดุรีไซเคิล เพื่อช่วยลดการทำงานของเครื่องปรับอากาศ การติดตั้งเซ็นเซอร์เพื่อเปิด-ปิดไฟฟ้าภายในและนอกอาคารแบบอัตโนมัติ การใช้สุขภัณฑ์ประหยัดน้ำ และการใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติหมุนเวียนกลับมาใช้ และการใช้วัสดุรีไซเคิลสำหรับทำเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งภายใน เป็นต้น

ห้องสมุดสีเขียวสามารถประหยัดพลังงานไฟฟ้าต่อปีได้ร้อยละ 40 และประหยัดน้ำต่อปีได้ร้อยละ 45 เทียบกับค่ามาตรฐานการใช้น้ำไฟฟ้าของ Leed สำหรับเขตอากาศร้อนชื้นแบบไทย ซึ่งถือว่าเป็นอาคารที่ประหยัดพลังงานได้มากที่สุดในบรรดาโครงการอาคารสีเขียวทั้งหมดที่ได้รับการรับรองโดย LEED ในประเทศไทย ธนาคารเอชเอสบีซี เป็นผู้ริเริ่มโครงการห้องสมุดสีเขียว และจัดหาเงินทุนในการก่อสร้าง โดยได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญและองค์กรชั้นนำ ในการให้คำปรึกษาแนะนำ ออกแบบ และบริจาคอุปกรณ์ประกอบด้วย บริษัท DWP บริษัท โจนส์ แลง ลาซาลล์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ชไนเดอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัท อีอีซี ลินคอร์น สก็อตต์ จำกัด บริษัท คอสท์ แพลน จำกัด และบริษัท T.R.O.P จำกัด ซึ่งภายหลังจากการส่งมอบแล้ว กรุงเทพมหานครจะรับผิดชอบบริหารจัดการและบำรุงรักษาห้องสมุดสีเขียวแห่งนี้เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนต่อไป

ห้องสมุดสีเขียว ได้รับการออกแบบและก่อสร้างตามหลักการของ LEED ซึ่งเป็นมาตรฐานของสภาอาคารสีเขียว (Green Building Council) และเป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ และอยู่ระหว่างการยื่นขอรับประกาศนียบัตรรับรองอาคารเขียวระดับ LEED Platinum ซึ่งเป็นการจัดอันดับอาคารสีเขียวระดับสูงสุด โดยหวังจะเป็นห้องสมุดประชาชนแห่งแรกในเอเชียที่ได้รับรองด้านการก่อสร้างอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ห้องสมุดสีเขียวได้เปิดให้บริการทั้งสิ้นประมาณ 25,000 คน ทั้งนี้ ประชาชนทั่วไปสามารถเดินทางมาเยี่ยมชมและใช้บริการห้องสมุดสีเขียวแห่งนี้ได้ ทุกวันอังคาร-วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 10.00 – 18.00 น.


แหล่งที่มา   เว็บไซต์ GreenscapeASIA.com By y natcha On May 17, 2012

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...