พลังงานแสงอาทิตย์ที่สามารถนำมาใช้ได้นั้นประกอบไปด้วย 2 ส่วน คือความร้อน ซึ่งเป็นพลังงานทั่วไปที่สามารถรับรู้ได้อย่างชัดเจน และความเข้มข้นของแสง ซึ่งจะต้องใช้อุปกรณ์ที่เรารู้จักในชื่อเซลล์สุริยะหรือโซลาร์เซลล์ โดยจะเป็นตัวแปลงความเข้มข้นของแสงให้กลายเป็นพลังงานไฟฟ้า แต่ทว่าโซลาร์เซลล์ที่จะนำมาใช้ผลิตไฟฟ้าจำเป็นต้องใช้จำนวนมาก ด้วยเหตุผลนี้เองทำให้ต้นทุนของการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงจึงมีต้นทุนที่สูงมาก
บริษัทเอกชนอย่าง Cool Earth Solar จึงคิดค้นวิธีการลดต้นทุนในการนำแสงอาทิตย์มาเป็นพลังงาน ที่สำคัญยังเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในการลดปริมาณขยะจากเซลล์สุริยะที่หมดสภาพการใช้งาน โดยนายร็อบ แลมกิ้น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Cool Earth Solar ผู้คร่ำหวอดในวงการเซลล์สุริยะ ได้คิดค้นรูปแบบการผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์สุริยะรูปแบบใหม่ที่ใช้ต้นทุนเพียงไม่กี่ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น
“รูปแบบใหม่ที่เราคิดค้นขึ้นมานั้น เป็นการใช้ลูกโป่งขนาดเล็ก โดยภายในลูกโป่งจะแบ่งออกเป็น 2 ด้าน ทั้งด้านที่มีผิวพลาสติกใสและอีกด้านที่ทำการเคลือบแผ่นอลูมิเนียมแบบบางไว้ จากนั้นนำเซลล์สุริยะแบบแผ่นฟิล์ม (Thin Film) มาติดไว้ที่กลางลูกโป่งในด้านพลาสติกใสแล้ว ทำการต่อวงจรไฟฟ้าที่เซลล์สุริยะนั้น ซึ่งใช้ต้นทุนในการผลิตลูกโป่งเพียง 2 ดอลลาร์ต่อลูกเท่านั้น”
หลักการทำงานของลูกโป่งสุริยะจะเป็นลักษณะคล้ายการทำงานของจานดาวเทียม โดยโครงสร้างของลูกโป่งจะเป็นทรงค่อนข้างกลม ซึ่งด้านที่มีแผ่นอลูมิเนียมบางจะทำหน้าที่ในการรับแสง จากนั้นด้วยความโค้งของลูกโป่งจะทำให้แสงไปรวมอยู่ที่จุดตรงกลางด้านพลาสติกใส เซลล์สุริยะแบบแผ่นฟิล์มจะถูกนำมาติดตั้งในบริเวณนั้น ทำให้ได้รับความเข้มข้นของแสงราว 400 เท่า สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 500 วัตต์ถึง 1 กิโลวัตต์ต่อลูก ขึ้นอยู่กับสภาพแสง
นอกจากนี้ตัวลูกโป่งยังเป็นวัสดุที่สามารถนำมารีไซเคิลได้ ช่วยลดการสร้างขยะจากการสิ้นสภาพการใช้งาน ปัจจุบันลูกโป่งสุริยะของ Cool Earth Solar มีต้นแบบอยู่ในเมืองลิเวอร์มอร์ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยทางบริษัทตั้งเป้าที่จะสร้างโรงไฟฟ้าลูกโป่งสุริยะเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์แห่งแรก ในพื้นที่บางส่วนที่ถูกปล่อยให้รกร้างจากการเพาะปลูกของแคลิฟอร์เนีย
แหล่งที่มา เว็บไซต์ THAIZA
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น