วันอาทิตย์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ฟักข้าว พืชพื้นบ้าน ช่วยต้านมะเร็งชั้นยอด

ฟักข้าว เป็นพืชไม้เลื้อยอยู่ในวงศ์แตงกวาและมะระ มีชื่อสามัญว่า Spring Bitter Cucumber เป็นพืชที่ขึ้นตามรั้วบ้าน หรือตามต้นไม้ต่างๆ มีมือเกาะคล้ายกับตำลึง ใบเป็นรูปหัวใจคล้ายใบโพธิ์ ขอบใบหยักเว้าลึกเป็นแฉก 3-5 แฉก ดอกจะมีสีขาวแกมเหลือง ตรงกลางมีสีน้ำตาลแกมม่วง

ผลของฟักข้าว 2 ลักษณะ คือ
  1. ทรงกลม ผลกลมๆ จะยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร และ
  2. ทรงรี ส่วนผลรีจะยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร
ถ้ายังเป็นผลอ่อนอยู่ ผลจะมีสีเขียวอมเหลือง มีหนามถี่ๆ อยู่รอบผล แต่เมื่อสุกแล้ว ผลจะมีสีแดง หรือแดงอมส้ม และหากผ่าผลฟักข้าวออกดูข้างใน ก็จะเห็นเมล็ดจำนวนมากเรียงตัวกันคล้ายเมล็ดแตง แต่ละผลหนักประมาณ 0.5-2 กิโลกรัม

หลายคนที่อยู่ต่างจังหวัดอาจจะไม่คุ้นชื่อกับ "ฟักข้าว" แต่คุณอาจจะคุ้นกับชื่อที่เรียกกันในท้องถิ่น อย่างจังหวัดปัตตานี จะเรียก "ฟักข้าว" ว่า "ขี้กาเครือ"    จังหวัดตาก จะเรียกว่า "ผักข้าว"    จังหวัดแพร่ เรียก "มะข้าว" เป็นต้น


เห็นหน้าค่าตารู้จัก "ฟักข้าว" กันไปแล้ว ลองมาดูกันบ้างดีกว่า ว่า "ฟักข้าว" นำไปทำประโยชน์อะไรได้บ้าง ที่เห็นชัดๆ เลยก็คือ คนนิยมนำผลอ่อนของฟักข้าวมาปรุงอาหาร เพราะรสชาติของฟักข้าวอร่อยออกขมนิดๆ แต่นุ่มลิ้น และเพราะว่า "ฟักข้าว" เป็นพืชที่มีฤทธิ์เย็นเช่นเดียวกับพืชตระกูลแตง การรับประทาน "ฟักข้าว" จึงช่วยลดความร้อนในร่างกายได้ด้วย ซึ่งวิธีปรุงอาหารจาก "ฟักข้าว" ก็ไม่ยาก แค่นำ "ฟักข้าว" มาลวก หรือต้มให้สุก แล้วจิ้มกินกับน้ำพริก หรือใส่ในแกง เช่น แกงเลียง แกงส้ม ก็ได้เมนูอร่อยเด็ดอีกจานแล้ว


แล้วรู้ไหมว่า เห็น "ฟักข้าว" ผลเล็กๆ แบบนี้ แต่มีสรรพคุณเด็ดๆ มากมายเลยล่ะ โดยเฉพาะผลอ่อนของฟักข้าวที่มีทั้งวิตามินซี แคลเซียม เหล็ก ไฟเบอร์ แต่สารอาหารที่พบมากใน "ฟักข้าว" ก็คือ เบต้าแคโรทีน โดยพบว่า เยื่อเมล็ดของฟักข้าวมีปริมาณเบต้าแคโรทีนสูงกว่าแครอทถึง 10 เท่าเชียวนะ ซึ่งสารตัวนี้เป็นสารตั้งต้นของวิตามิน ซึ่ส่วนช่วยบำรุงสายตาได้อย่างดี และยังทำหน้าที่เสมือนเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ


ไม่ใช่แค่ "แคโรทีน" เท่านั้น เพราะรายงานการศึกษาของต่างประเทศ ยังพบด้วยว่า ในเยื่อหุ้มเมล็ดฟักข้าวสีแดงมีไลโคปีนมากกว่ามะเขือเทศถึง 70 เท่า แต่สำหรับฟักข้าวสายพันธุ์ไทยมีปริมาณไลโคปีนมากกว่ามะเขือเทศเพียง 12 เท่า ซึ่งก็ถือว่ามากแล้ว

ทั้งนี้ ทางการแพทย์พิสูจน์แล้วว่า ไลโคปีนจากเยื่อหุ้มเมล็ดฟักข้าวเป็นสารต้านมะเร็ง มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งปอด และมะเร็งกระเพาะอาหาร ดังนั้น หากจะบอกว่า ฟักข้าว เป็นอาหารอีกหนึ่งชนิดที่ต้านมะเร็งได้ดีก็คงไม่ผิดนัก


นอกจากในประเทศไทยแล้ว เรายังสามารถพบ "ฟักข้าว" ได้ในอีกหลายประเทศในแถบเอเชีย ทั้งประเทศจีน พม่า ไทย ลาว บังกลาเทศ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ซึ่งแต่ละประเทศก็รู้จักสรรพคุณของ "ฟักข้าว" เป็นอย่างดี และนำ "ฟักข้าว" มาใช้ประโยชน์ต่างๆ กัน อย่างเช่น ประเทศจีน นิยมนำเมล็ดแก่ของฟักข้าวมาบดให้แห้ง นำไปผสมน้ำมัน หรือน้ำส้มสายชูเล็กน้อย แล้วทาผิวหนังบริเวณที่มีอาการอักเสบ บวม จะช่วยรักษาอาการบวมได้ นอกจากนั้น ยังช่วยรักษาโรคกลาก เกลื้อน



ประเทศเวียดนาม ชาวเวียดนามนิยมนำฟักข้าวมาปรุงอาหารในเทศกาลปีใหม่ และงานมงคลสมรส โดยจากงานวิจัย

ประเทศฟิลิปปินส์ นำรากฟักข้าวมาบดแล้วนำไปหมักผม เพื่อช่วยให้ผมดกและยังสามารถกำจัดเหาได้ด้วย ซึ่งในประเพณีล้านนาของไทยก็มีการนำฟักข้าวไปสระผมเช่นกัน เพื่อช่วยแก้อาการคันศีรษะ แก้รังแค แก้ผมร่วง และช่วยให้ผมดกดำขึ้น

ประเทศญี่ปุ่น มีการวิจัยพบว่า โปรตีนจากสารสกัดน้ำของผลฟักข้าวช่วยยับยั้งการเจริญของก้อนมะเร็งลำไส้ใหญ่ในหนูทดลอง

สำหรับในประเทศไทยเองนั้น ขณะนี้มีนักวิจัยกำลังศึกษาสรรพคุณของฟักข้าวอย่างมากมาย อย่างเช่น คณะนักวิจัยจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ ได้ร่วมกันศึกษาเรื่องการนำน้ำมันของเยื่้อหุ้มเมล็ดฟักข้าวในอนุภาคไขมันระดับนาโน มาพัฒนาเป็นเครื่องสำอางลดเลือนริ้วรอย ซึ่งจากการทดสอบก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ และทำให้งานวิจัยชิ้นนี้ได้รับรางวัล "IFSCC Host Society Award 2011" จากงานประชุมสมาพันธ์นักเคมีเครื่องสำอางนานาชาติ 2011 (IFSCC 2011) 

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่พบว่า ในเมล็ดฟักข้าวมีโปรตีนที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้อเอชไอวี และยับยั้งเซลล์มะเร็งได้ด้วย ขณะที่นักวิจัยจากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก็กำลังศึกษาวิจัย เพื่อปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์ฟักข้าวให้มีปริมาณเบต้าแคโรทีนและสารไลโคปีนสูงขึ้น และมีผลผลิตของเยื่อหุ้มเมล็ดเพิ่มมากขึ้นด้วย

เห็นแบบนี้แล้ว ต้องยกให้ "ฟักข้าว" เป็นพืชมหัศจรรย์อีกหนึ่งชนิด เพราะมีสรรพคุณทางยาและคุณค่าทางโภชนาการไม่น้อยเลยทีเดียว และเชื่อว่าหากมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม เราคงได้ค้นพบถึงสรรพคุณเจ๋ง ๆ ของพืชพื้นบ้านชนิดนี้อีกแน่นอน


แหล่งที่มา    เว็บไซต์กระปุกดอทคอม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...