"จากการเข้าไปคลุกคลีกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวใน จ.นครศรีธรรมราช ทำให้ได้ทราบถึงความเชื่ออย่างหนึ่ง นั่นก็คือ เชื่อว่าการแช่เมล็ดข้าวในน้ำสกัดชีวภาพจากรกหมูจะทำให้เมล็ดมีความงอกสูงขึ้น"
ผศ.มนทนา รุจิระศักดิ์ อาจารย์ประจำสาขาพืชศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวถึงอาชีพชาวนาในประเทศไทยนับเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุด เพราะข้าวเป็นอาหารหลักของคนไทย อาชีพทำนาเป็นอาชีพดั้งเดิมของคนไทยที่สืบทอดมาเป็นเวลายาวนานและสภาพภูมิอากาศก็เอื้อต่อการทำเกษตรกรรม แต่ด้วยสภาพร้อนชื้นตลอดทั้งปีของภาคใต้เป็นสภาวะที่ไม่เหมาะต่อการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ข้าว ทำให้เมล็ดพันธุ์ข้าวเสื่อมคุณภาพลงอย่างรวดเร็ว
หากจำเป็นต้องเก็บรักษาเมล็ดไว้เป็นเวลานานจะทำให้ปัญหาดังกล่าวทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น แต่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวยังมีความจำเป็นต้องเก็บเมล็ดไว้ทำพันธุ์ จึงหาวิธีในการทำให้เมล็ดงอกได้สูงขึ้นจนสามารถนำเมล็ดกลับมาทำพันธุ์ได้อีกครั้ง ในขณะที่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวบางรายใน จ.นครศรีธรรมราช เชื่อว่าการใช้น้ำสกัดชีวภาพที่หมักจากรกหมูแช่เมล็ดพันธุ์ข้าวก่อนนำไปปลูกจะทำให้เมล็ดพันธุ์ข้าวมีความงอกสูงขึ้นได้
ผศ.มนทนา เปิดเผยต่อว่า หลังจากได้เข้าไปคลุกคลีกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในแปลงนาด้วยเป็นนักเทคโนโลยีเมล็ดพันธุ์ (Seed Tech) ก็รู้ว่าเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ชาวบ้านนำมาให้ดูเป็นเมล็ดพันธุ์เก่า โดยนำมาแช่ในน้ำสกัดชีวภาพจากรกหมูจะทำให้เมล็ดมีความงอกมากขึ้น ซึ่งขัดกับทฤษฎีที่ได้เรียนมาเมล็ดพันธุ์ที่เสื่อมคุณภาพแล้วไม่สามารถงอกออกมาได้อีกในฐานะนักวิชาการก็เอามาดูก่อนว่ามีคำอธิบายในเชิงวิชาการอย่างไรเพื่อหาเหตุผลทางวิชาการก็เลยมีแนวคิดที่จะทำงานวิจัยชิ้นนี้ออกมาเพื่อยกระดับพันธุ์ข้าว
"เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ใช้ในการทดลองมี 2 พันธุ์ ได้แก่พันธุ์ชัยนาทและพันธุ์สังข์หยดพัทลุง ซึ่งมีความแตกต่างกันคือ ข้าวพันธุ์ชัยนาทไม่ไวต่อแสงที่มากระทบ ปลูกเมื่อไหร่ก็ได้ขอให้มีน้ำ ส่วนข้าวพันธุ์สังข์หยดพัทลุง ไวต่อแสงจะออกดอกได้เมื่อเจอแสงในรอบปีจะมีลักษณะแบบนี้ครั้งเดียวและที่สำคัญอีกประการคือข้าวพันธุ์สังข์หยดพัทลุงเป็นพันธุ์ข้าวที่กำลังมาแรงซึ่งเป็นข้าวอินทรีย์ ในอนาคตอาจจะมีพื้นที่ปลูกมากยิ่งขึ้น"
ผศ.มนทนา ระบุอีกว่า การทำวิจัยชิ้นนี้จะช่วยเกษตรกรในเรื่องของเมล็ดพันธุ์เก่าแทนที่จะทิ้ง ถ้าหากเราเอามาใช้ในการทำให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นก็จะสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ได้การวิจัยทั้งหมดมีหลายขั้นตอน ซึ่งครั้งแรกนำมาทดลองแบบเกษตรกรทุกประการคือนำเอาเมล็ดพันธุ์ข้าวมาแช่น้ำเปล่าธรรมดาและเอาเมล็ดพันธุ์มาแช่ด้วยน้ำสกัดชีวภาพจากรกหมู ซึ่งก็ดูผลที่ได้ระหว่างนำเมล็ดพันธุ์ข้าวแช่ในน้ำเปล่าธรรมดาและเอามาเมล็ดพันธุ์มาแช่ด้วยน้ำสกัดชีวภาพจากรกหมูมีความแตกต่างกันมากน้อยเพียงใด
"ผลการวิจัยพบว่าน้ำสกัดชีวภาพรกหมูมีผลต่อคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ข้าว โดยวิธีการเตรียมเมล็ดก่อนเพาะทำให้เปอร์เซ็นต์การงอกของเมล็ดพันธุ์ต่างกัน แต่ไม่มีผลต่อดัชนีการงอกของเมล็ดและน้ำหนักของต้นกล้า แต่น้ำสกัดชีวภาพจากรกหมู เพิ่มให้เมล็ดพันธุ์งอกมากกว่า ซึ่งงอกมากถึง 12.62 ต้นต่อวัน ในน้ำธรรมดาเมล็ดพันธุ์งอกเพียง 11.78 ต้นต่อวัน" หัวหน้าทีมวิจัยคนเดิมระบุ
สำหรับความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์ในการนำสารละลายน้ำสกัดชีวภาพไปใช้เป็นส่วนประกอบของสารพอกเมล็ดแทนสารเคมีบางชนิดในเมล็ดพอก(pellet seed) ในเมล็ดที่มีมูลค่าสูง หรือเมล็ดพันธุ์อินทรีย์ เพื่อลดต้นทุนการผลิตต่อไป นับเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน เป็นสิ่งที่กระทำต่อเนื่องกันมาและมีความเป็นไปได้จริง แต่หากนักวิชาการได้เข้าไปช่วยพิสูจน์ในเชิงวิทยาศาสตร์ได้ ก็จะทำให้เกษตรกรเกิดความภาคภูมิใจในวิชาชีพของตนเอง
แหล่งที่มา เว็บไซต์คมชัดลึก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น