วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

''หุ่นยนต์ดำน้ำ'' สำรวจสิ่งมีชีวิตใต้น้ำ

สภาพแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตใต้น้ำถือเป็นระบบนิเวศที่น่าสนใจอย่างยิ่ง แต่การลงไปสำรวจจำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีเพื่อช่วยให้การทำงานทำได้ง่ายขึ้น

ทางนักศึกษาจากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี  ประกอบด้วย นายสุรศักดิ์ ทิมพิทักษ์ นักศึกษาระดับปริญญาโท และ นายธีรพงศ์ ดิรจิต นายศึกษา วงศ์บุญเรื่อง นายกรวิทธิ์ จันทะไชย และนายณัฐกิตติ์ อ่องยิ้ม นักศึกษาระดับปริญญาตรี จึงเกิดแนวคิด และได้พัฒนา หุ่นยนต์ดำน้ำ ขึ้น เพื่อใช้สำรวจสภาพแวดล้อม สิ่งมีชีวิตใต้น้ำ  ซึ่งควบคุมด้วยระบบไมโครคอนโทรลเลอร์ โดยมี ดร.ปรัชญา เปรมปราณีรัชต์ เป็นที่ปรึกษา

ดร.ปรัชญา เปรมปราณีรัชต์ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของโครงงานมาจากโครงการอบรมหุ่นยนต์ดำน้ำให้กับนักศึกษา ซึ่งเป็นโครงการที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเอ็มไอที ในการนำหุ่นยนต์ดำน้ำขนาดเล็กมาเปิดอบรม ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ดำน้ำขนาดเล็กแบบพื้นฐาน ที่สามารถขับเคลื่อนใต้น้ำได้ด้วยใบพัด 3 ตัว

จากโครงการร่วมมือดังกล่าว ทางตนเองและทีมงานนักศึกษาเห็นว่า โครงการนี้สามารถพัฒนาต่อยอดเพื่อให้หุ่นยนต์ดำน้ำมีประสิทธิภาพและสามารถนำไปใช้ได้กับสภาพแวดล้อมจริง ๆ ทั้งในสภาพแวดล้อมที่มีสิ่งมีชีวิตพืชและสัตว์ในน้ำ รวมถึงการสำรวจใต้ทะเล และอื่น ๆอีกมากมาย
    
จึงได้ทำโครงการหุ่นยนต์ดำน้ำควบคุมระยะไกลที่สามารถควบคุมความลึกได้ โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปี 2554 จากนั้นจึงได้เริ่มดำเนินการพัฒนาจนประสบผล

ทางทีมได้เรียกหุ่นยนต์ดำน้ำที่พัฒนาขึ้นจากโครงการนี้ว่า หุ่นยนต์ดำน้ำควบคุมระยะไกล โดยได้พัฒนาทั้งรูปแบบภายนอกเพื่อให้เหมาะกับการใช้งานจริง และ พัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ด้านนายสุรศักดิ์ ทิมพิทักษ์ กล่าวถึงหุ่นยนต์ที่พัฒนาขึ้นว่า หุ่นยนต์ดำน้ำตัวนี้สามารถขับเคลื่อนด้วยสี่ใบพัดและควบคุมบังคับทิศทางโดยใช้อุปกรณ์ที่ควบคุมการเคลื่อนที่ (จอยสติ๊ก) แบบมีสาย ในขณะที่หุ่นยนต์จะถูกควบคุมด้วยระบบไมโครคอนโทรลเลอร์ พร้อมกับเซ็นเซอร์วัดความดัน วัดความเร่ง และวัดมุมเอียง นอกจากนี้ตัวหุ่นยนต์ยังมีกล้องวิดีโอติดอยู่ ทำให้สามารถส่งภาพขึ้นมาที่จอมอนิเตอร์เพื่อให้ผู้ควบคุมที่อยู่บนบกทราบถึงตำแหน่งและทิศทางของหุ่นยนต์ดำน้ำใน 6 องศาอิสระ

ทั้งนี้หุ่นยนต์ดำน้ำสามารถใช้ทำการสำรวจได้ทั้งในน้ำจืดและน้ำเค็ม มีการพัฒนาความสามารถในการควบคุมระดับความลึกคงที่  ซึ่งในขณะนี้หุ่นยนต์สามารถดำน้ำได้ในระดับความลึกที่ 10 เมตร

นายสรุศักดิ์ กล่าวต่อว่า ทางทีมวิจัยและพัฒนามีเป้าหมายที่จะทำการศึกษาและวิจัยต่อยอดเพิ่มขึ้น  เพื่อให้หุ่นยนต์ดำน้ำมีความสามารถที่เพิ่มขึ้นอีกในอนาคต เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เมื่อนำหุ่นยนต์ดำน้ำตัวนี้ไปใช้งานในการลงพื้นที่จริง

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายระเอียดได้ที่ ดร.ปรัชญา เปรมปราณีรัชต์ หมายเลขโทรศัพท์ 0-2549-4415 หรือที่ www.rmutt.ac.th

นับเป็นผลงานการพัฒนาที่น่าสนใจ น่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง และเมื่อนำไปใช้งานจริง คงช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานด้านสำรวจ สามารถใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยให้การทำงานง่ายขึ้นได้

แหล่งที่มา   เว็บไซต์เดลินิวส์ วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤษภาคม 2555 เวลา 00:00 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...