วันอังคารที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

พิธีแต่งงานแบบญี่ปุ่น อีกหนึ่งวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์


ภาพประกอบจาก lullabi / Shutterstock.com
ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมของตัวเองเป็นเอกลักษณ์แบบที่ไม่มีใครเหมือน แน่นอนว่ารวมถึงเรื่องพิธีแต่งงานด้วยเช่นกัน ซึ่งพิธีแต่งงานตามแบบฉบับของชาวญี่ปุ่นนั้น มักจะประกอบพิธีกันแบบดั้งเดิม เรียกว่า "พิธีแต่งงานแบบชินโต" แต่จะมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง

พิธีแต่งงานแบบชินโต
พิธีแต่งงานแบบดั้งเดิมของชาวญี่ปุ่นนั้น คือการแต่งงานแบบนิกายชินโต ที่คู่บ่าวสาวจะต้องสวมชุดแต่งงานแบบดั้งเดิมของศาลเจ้าชินโต ซึ่งเจ้าสาวมักจะสวมเป็นชุดกิโมโนสีขาว เกล้าผมขึ้น สวมหมวกหรือผ้าคลุมผม สวมรองเท้าเกี๊ยะ และต้องมีการซ้อมพิธีอยู่หลายครั้ง โดยเน้นการจัดงานแบบใหญ่โตและใช้งบประมาณสูง เพื่อให้เป็นเกียรติแก่คู่บ่าวสาวและครอบครัว

สิ่งสำคัญในการแต่งงานก็คือ สินสอด หรือ โกซูกิ (Goshugi) ที่แต่เดิมมักจะให้กันเป็นของที่มีความหมายเป็นมงคลอย่าง กิโมโน และ โอบิ แต่ภายหลังนิยมเปลี่ยนเป็นเงินแทน ซึ่งมักจะส่งให้เจ้าสาวก่อนล่วงหน้า หรืออยากจะให้ในวันงานเลยก็ทำได้เหมือนกัน ทั้งนี้ ไม่ได้มีการกำหนดแน่นอนว่าสินสอดจะต้องมีมูลค่าเท่าไหร่ เพียงแต่มักจะคำนวณจากเงินเดือนของเจ้าบ่าวบวกเพิ่มอีก 2-3 เท่า ซึ่งฝ่ายเจ้าสาวก็มักจะมอบของตอบแทนมูลค่าครึ่งหนึ่งของสินสอดกลับไปให้เจ้าบ่าวด้วย ยกเว้นแต่แถบคันไซที่นิยมมอบของตอบแทนให้เจ้าบ่าวประมาณ 10% ของสินสอดที่ได้รับ

เมื่อถึงวันแต่งงาน คู่บ่าวสาวจะต้องชำระล้างร่างกายให้บริสุทธิ์ (Harai) ด้วยน้ำมิโซกิ (Misogi) โดยมีคนกลางเป็นผู้ทำพิธีให้ จากนั้นคู่บ่าวสาวจะต้องจิบสาเกจากถ้วย 3 ใบ ใบละ 3 ครั้ง รวมเป็น 9 ครั้ง และหลังจากจิบสาเกครบ 9 ครั้งแล้ว ทั้งคู่จะต้องวางถ้วยลงบนโต๊ะพร้อมกัน ห้ามไม่ให้มีใครวางถ้วยแตะโต๊ะก่อน เพื่อเป็นเคล็ดให้คู่เคียงคู่กันตลอดไป ไม่มีใครเสียชีวิตจากไปก่อน

ภาพประกอบจาก Chanclos / Shutterstock.com
นอกจากนี้ คู่บ่าวสาวยังต้องเขียนวาทะสัญญามอบให้แก่กัน เพื่อเป็นคำมั่นให้กับคู่ชีวิตว่าจะรักและซื่อสัตย์ต่อกันจนวันตาย โดยมีพ่อแม่และญาติพี่น้องร่วมเป็นสักขีพยาน ซึ่งใบวาทะสัญญานี้ไม่ใช่การจดทะเบียนสมรส เป็นเพียงแค่เครื่องเตือนใจแก่กันเท่านั้น จากนั้นก็สามารถเปลี่ยนชุดเป็นชุดกิโมโนและสูทแบบสากลเพื่อร่วมงานเลี้ยงฉลองกับเพื่อนฝูงและครอบครัวได้

การแต่งงานแบบญี่ปุ่นนิยมแต่งงานกันในช่วงฤดูใบไม้ผลิ และในเดือนมิถุนายน เนื่องจากแต่ก่อนเดือนมิถุนายนซึ่งเป็นฤดูฝนชาวญี่ปุ่นไม่นิยมทำพิธีแต่งงานเพราะสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย แต่ตามสถานที่จัดงานแต่งงานต่าง ๆ ได้นำเอาเทพธิดากรีกโรมัน จูโน่ (ชื่อพ้องกับ June หรือ เดือนมิถุนายน) มาเป็นสัญลักษณ์เพื่อคอยคุ้มครองหญิงสาวให้มีความสุข จนทำให้ชาวญี่ปุ่นหลายคนจึงเกิดความเชื่อว่า หากได้แต่งงานในเดือนมิถุนายนแล้วจะมีความสุขนั่นเอง

นอกจากการแต่งงานแบบดั้งเดิมแล้ว การแต่งงานแบบญี่ปุ่นอีกแบบที่นิยมแต่งงานกันก็คือ การแต่งงานแบบคริสต์ นั่นคือการสวมแหวนหมั้นและเข้าทำพิธีแต่งงานในโบสถ์แบบชาวตะวันตก ซึ่งชาวญี่ปุ่นหลายคนที่ไม่ได้นับถือคริสต์ก็นิยมทำพิธีแต่งงานแบบนี้ เนื่องจากความสะดวกและใช้งบประมาณน้อยกว่า

แหล่งที่มา     เว็บไซต์กระปุกดอทคอม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...