วันพุธที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ผักเป็ด วัชพืชชั้นดีที่ถูกเมิน


เอ่ยถึงชื่อของ “ผักเป็ด” อาจทำให้หลายคนรู้สึกคุ้นหู เพราะเจ้าผักเป็ดนั้นเป็นวัชพืชที่หาได้ง่ายพอๆ กับผักบุ้งเลยล่ะ แต่บ่อยครั้งที่ผักเป็ดมักจะถูกลืมเลือนไปบ้าง เนื่องจากหลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าสรรพคุณของผักเป็ดโดดเด่นอย่างไร

ขอพาแวะไปเยี่ยมเยียนชาวเกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี โดยมีคุณป้าประกอบ คมคาย และคุณป้าสมปอง เรืองโรจน์ เกษตรกรที่จะมาเป็นผู้นำทางพาเราไปรู้จักกับผักเป็ดกัน โดยผักเป็ดนั้นเป็นพืชที่พบมากในที่ราบลุ่ม โดยเฉพาะในเขตภาคกลาง แบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ ผักเป็ดขาว และ ผักเป็ดแดง

ผักเป็ดแดง จะมีใบและลำต้นสีแดง ไม่นิยมนำมารับประทาน เนื่องจากมีรสชาติเอียนๆ ส่วน ผักเป็ดขาว จะมีใบและลำต้นสีเขียว เป็นชนิดที่นิยมนำมารับประทาน โดยแยกประเภทออกไปตามลักษณะอีก 3 ประเภทคือ

  1. ผักเป็ดใบมน 
  2. ผักเป็ดใบแหลม และ
  3. ผักเป็ดใบกลม

โดย "ผักเป็ดใบมน" นั้น มักจะพบได้ตามริมน้ำปนกับวัชพืชชนิดอื่นๆ ทำให้ผักเป็ดมีการขยายใบให้แผ่ออกเพื่อแย่งรับแสงแดด ทำให้ใบมีลักษณะกว้างและมน 


ส่วน "ผักเป็ดใบแหลม" มักพบในบริเวณที่ไกลแหล่งน้ำ และมีแสงแดดส่องผ่านได้น้อย จึงมีการปรับตัวให้ใบแหลมยาวเพื่อลดการคายน้ำ และมีโอกาสโดนแสงแดดให้มากที่สุด 


ขณะที่ "ผักเป็ดใบกลม" หรือใบไข่กลับ จะมีลักษณะเหมือนไข่กลับหัว ปลายใบกลมมน และค่อยๆ เรียวลงเป็นปลายแหลมบริเวณโคนใบ มักพบได้ช่วงโคนต้น จัดว่าเป็นผักเป็ดที่สมบูรณ์เพราะเป็นใบที่อวบน้ำ เคี้ยวง่าย ย่อยง่าย มีรสจืด ต่างจากผักเป็ดใบแหลมที่มีรสชาติค่อนข้างขม ผักเป็ดใบกลมจึงนิยมถูกนำมารับประทานมากที่สุด

เกษตรกรและคนทั่วไปส่วนใหญ่ ไม่ทราบถึงสรรพคุณของผักเป็ด จึงมักจะทำลายทิ้งเพื่อไม่ให้ขึ้นรก จนกลายเป็นผักที่ถูกเมิน แต่แท้จริงแล้วสรรพคุณของผักเป็ดมีอยู่มากมาย เช่น เป็นยาบำรุงเลือด แก้ฟกช้ำ ช่วยละลายเลือดตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ช่วยกระจายเลือดที่ข้นมากไม่ให้จับกันเป็นก้อน ทำให้ไม่หน้ามืดเป็นลม นอกจากนี้ยังมีสารซาโปนินที่ช่วยฟอกเลือด ลดอาการปวดข้อ ทั้งยังเป็นส่วนผสมของสมุนไพรที่ใช้ในการอยู่ไฟของคุณแม่ที่เพิ่งคลอด และช่วยลดอาการปวดหัวไมเกรนให้ทุเลาลงได้ นอกจากนี้ยังขับไขมันไม่ให้อุดตันในเส้นเลือด ช่วยกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ ยับยั้งเซลล์มะเร็ง ต้านพิษต่อตับ และลดไข้อีกด้วย

สำหรับผักเป็ดใบกลม ยังมีสรรพคุณเป็นยาระบาย เพราะมีน้ำและสารเมือกเยอะ ซึ่งจะช่วยขับเมือกไขมันบริเวณผนังลำไส้ได้ดี ทำให้ถ่ายคล่อง ไม่เกิดอาการท้องผูก พร้อมทั้งช่วยให้เลือดกระจายตัวได้ดียิ่งขึ้น โดยแพทย์แผนโบราณนิยมเก็บผักเป็ดก่อนพระอาทิตย์ขึ้น และเลือกเก็บต้นที่ดอกยังไม่แก่ เพราะถ้าหากแก่แล้วสารอาหารจะลดลง เนื่องจากดอกผักเป็ดจะทำการดึงสารอาหารในต้นมาใช้เพื่อสร้างเมล็ด และสะสมอาหารเอาไว้เพื่อขยายพันธุ์ต่อไปนั่นเอง

แหล่งที่มา   เว็บไซต์กระปุกดอทคอม ขอขอบคุณภาพประกอบจาก รายการภัตตาคารบ้านทุ่ง โพสต์โดย คุณ LadyBimbettes สมาชิกเว็บไซต์ยูทูบดอทคอม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...