เรื่องสิวเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ใครบ้างละจะอยากมีสิว หน้าขาวๆ เกลี้ยงๆ เนียนๆ ไม่ใช่หรือ? คือสิ่งที่ทุกคนฝันหา ยิ่งในปัจจุบันยารักษาสิวก็มีมาวางขายกันอย่างเกลื่อนกลาดและคุณคือผู้หนึ่งที่ใช้ยาดังกล่าวใช่หรือไม่ หากกำลังใช้ คุณแน่ใจแล้วหรือว่ารู้จักกับยารักษาสิวดีเพียงพอแล้ว
สิว
สิว คือตุ่มเม็ดเล็กๆ ที่มีหนองเป็นไตสีขาวๆ อยู่ข้างใน ขึ้นตามหน้า เกิดขึ้นเพราะผิวหนังมีการอุดตันอยู่ใต้รูขุมขนจากหัวสิว ซึ่งสามารถอักเสบได้ง่ายหากมีตัวกระตุ้นเพิ่มเติม เช่น แบคทีเรียหรือฝุ่นละอองในอากาศ
สาเหตุของสิว
มีหลายสาเหตุ เป็นที่ถกเถียงกันว่า สิวเกิดจากอะไร สาเหตุหลักๆ แบ่งได้ 2 ปัจจัยดังนี้
- ปัจจัยภายใน คือ ปัจจัยที่เกิดจากร่างกายเราเอง เช่น ฮอร์โมน, กรรมพันธุ์ , โรคเรื้อรัง และผิวพรรณ ซึ่งเป็นสิ่งที่ติดตัวเราตั้งแต่กำเนิด
- ปัจจัยภายนอก คือ ปัจจัยที่เกิดขึ้นจากนอกร่างกายของเรา เช่น ยา, เครื่องสำอาง, สภาพแวดล้อม, สังคม, แสงแดดและอุณหภูมิ ความสะอาด และอาหาร ซึ่งเราสามารถป้องกันได้
ยารักษาสิว
Roaccutane, Acnotin เป็นชื่อทางการค้าของกรดวิตามินเอ ( isotretinoin ) ใช้รักษาสิวที่เป็นมากและรุนแรง ดื้อต่อการรักษาด้วยยาชนิดอื่นแล้ว ผลดี คือ สิวหายได้ค่อนข้างสมบูรณ์แบบและสงบได้เป็นระยะเวลาค่อนข้างยาว เป็นเดือนหรือเป็นปี แล้วแต่แต่ละบุคคล ผลเสีย คือ ผลข้างเคียงจากยา ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป
สำหรับกลไกการออกฤทธิ์ของยายังไม่ทราบแน่ชัด แต่เกี่ยวกับการลดการทำงานของต่อมไขมัน ขนาดของต่อมไขมันเล็กลง และมีฤทธิ์ต้านการอักเสบของผิวหนัง เชื้อ P.acne ลดลง อาจเนื่องจากไขมันที่เป็นอาหารลดน้อยลง ซึ่งควรกินพร้อมอาหาร เพราะจะทำให้ร่างกายนำยาไปใช้ได้เป็นสองเท่าของตอนท้องว่าง
สิ่งที่ควรตรวจก่อนกินยา
ตรวจเลือดดูการทำงานของตับและระดับไตรกลีเซอไรด์ เมื่อกินยาไป 3-4 อาทิตย์ หรือ 6-8 อาทิตย์ เจาะเลือดดูไตรกลีเซอไรด์อีกครั้ง ถ้า > 500 mg/dL ต้องคอยตรวจเป็นระยะ ๆ > 700mg/dL ต้องหยุดยาและให้ยาลดไขมัน เพราะอาจมีอาการตับอ่อนอักเสบและก้อนไขมันตามผิวหนัง
ข้อควรระวัง
- ห้ามกินขณะมีครรภ์ โดยเฉพาะช่วงท้องได้ 3 อาทิตย์ เด็กจะพิการ
- คุมกำเนิดก่อนกินยา 1 เดือน หลังหยุดยาให้คุมกำเนิดต่ออีก 1 เดือน
- ทดสอบการตั้งครรภ์ว่าให้ผลลบก่อนกินยา 2 อาทิตย์
- สำหรับผู้ชายที่กินยาตัวนี้แล้วมีลูก จะไม่มีผลอะไรกับลูก
- ยาผ่านทางน้ำนมได้ จึงไม่ควรกินในรายที่ให้นมลูก
ผลข้างเคียงของยา
- ปากแห้ง พบเกือบทุกราย
- เยื่อบุตามช่องทวารต่าง ๆ แห้ง
- ผิวแห้ง ตาแห้ง ใส่คอนแทคเลนส์ไม่ได้ จมูกแห้งจนเลือดกำเดาออก เยื่อเมือกหลอดคอแห้ง ทำให้เสียงแหบ และมีอาการคัน
- ผมร่วง ผมน้อยลง สิวเห่อ ขนดก
- ผิวหน้าร้อนแดง ผิวหนังอักเสบ ผิวคล้ำขึ้นและไวต่อแสง มีตุ่มคัน ตุ่มหนอง เนื้อรอบเล็บเป็นหนอง เล็บผิดรูปร่าง เพิ่มการสร้างเนื้อเยื่อที่ทำให้เกิดตุ่ม
- ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ การสร้างกระดูกมากขึ้น เอ็นอักเสบ มีการจับของแคลเซี่ยมที่เส้นเอ็น มีการเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ของกระดูก
- พฤติกรรมผิดปกติ เครียด มีอาการทางจิตเวช พยายามฆ่าตัวตาย หรือฆ่าตัวตายในผู้ป่วยบางราย ปวดศีรษะ ความดันในกระโหลกศีรษะสูงขึ้น ชัก ผู้ป่วยจิตเวชควรปรึกษาจิตแพทย์ก่อนรับประทานยา
- เห็นภาพเปลี่ยนไป กลัวแสง ลดการมองเห็นตอนกลางคืน ต้อกระจก กระจกตาอักเสบ การฟังบกพร่องในบางช่วงคลื่น
- คลื่นไส้ ลำไส้อักเสบ มีเลือดออก ตับอ่อนอักเสบ ในรายไตรกลีเซอไรด์สูง ถ้ารุนแรงอาจเป็นอันตรายกับชีวิตได้ ตับอักเสบในบางราย
- หลอดลมหดเกร็ง ในรายที่เป็นโรคหอบมาก่อน
- มีการติดเชื้อกรัมบวก
- เลือดมีเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวลดลง เกล็ดเลือดเพิ่มขึ้น อัตราการตกตะกอนของเลือดเพิ่มขึ้น ไขมันในเลือดสูงขึ้น แต่ไขมันตัวที่ดีกับร่างกายลดลง ทำให้มีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเพิ่มขึ้น กรดยูริคในเลือดสูงขึ้น ปัสสาวะมีเม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้น มีเลือดและมีโปรตีนมากผิดปกติ
- ควรหลีกเลี่ยงแสงแดด ไม่ควรใช้ยาทาลอกผิวหรือลอกสิวร่วมด้วย ใช้ยาทาสิวชนิดอ่อนร่วมด้วยได้
- ไม่ควรให้ร่วมกับยาวิตามินเอและยาเตตร้าไซคลิน
จะเห็นได้ว่า ผลข้างเคียงของยามีค่อนข้างมาก ดังนั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะต้องปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนใช้ยา
แหล่งที่มา เว็บไซต์กระปุกดอทคอม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น