เดินไหล่เอียง ให้ระวังกระดูกสันหลังคด ทั้งนี้ นพ.กรกฎ พานิช ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ และเวชศาสตร์การกีฬา วิทยาลัยศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า "ปัญหาไหล่สองข้างสูงต่ำไม่เท่ากัน เนื่องจากกระดูกสันหลังคด ส่วนใหญ่จะไม่รู้ตัวเพราะไม่มีอาการเจ็บปวด และมักพบในวัยรุ่นหญิง ช่วงอายุ 11-15 ปี ควรสำรวจร่างกายถ้าพบปัญหา ให้รีบแก้ไข มิเช่นนั้น กระดูกสันหลังจะคดจนเกินเยียวยา อาจถึงขั้นผ่าตัด"
กระดูกสันหลังคดแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ
- โครงสร้างกระดูกสันหลังผิดรูป
- โครงสร้างกระดูกสันหลังปกติ แต่กล้ามเนื้อทำงานไม่สมดุล หรือ กระดูกเชิงกรานเอียง จากปัญหาขาสั้น ยาว ไม่เท่ากัน จึงส่งผลให้กระดูกสันหลังคด
คุณหมอกรกฎ กล่าวว่า "ในกลุ่มวัยรุ่นที่มีกระดูกสันหลังคด ส่วนใหญ่เป็นชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุ และเป็นปัญหาที่สำคัญ เนื่องจากช่วงวัยประมาณ 11-15 ปี กระดูกกำลังเจริญเติบโต เมื่อความสูงเพิ่มขึ้นมากในช่วงนี้ ความคดของกระดูกสันหลังก็จะมากตามความสูงไปด้วย"
ส่วนสาเหตุอื่นๆ ที่อาจทำให้คดมากขึ้นได้แก่ ทำงานหรือมีกิจกรรมที่ใช้ร่างกายอยู่ซีกเดียวซ้ำๆ เช่น เล่นคอมพิวเตอร์ในลักษณะนั่งเอียงเป็นเวลานาน (แต่ไม่รู้ตัว) ทำให้กล้ามเนื้อเสียสมดุล ปัญหาก็คือ วัยรุ่นส่วนใหญ่มักไม่รู้ตัวว่ากระดูกสันหลังคด เนื่องจากไม่มีอาการเจ็บปวด และไม่ได้สังเกตตัวเอง ยกเว้นคนที่มีกระดูกสันหลังคดมาก ซึ่งสามารถมองเห็นได้ชัด
ระวัง :: "กลุ่มผู้หญิงอายุ 11-15 ปี ที่ความสูงกำลังเพิ่ม เพราะยิ่งสูง จะมีโอกาสกระดูกคดมาก ถ้าไม่รู้มาก่อนว่ากระดูกสันหลังคดก็จะไม่ระวังตัว กว่าจะรู้ ตัวก็เอียงมากแล้ว"
วิธีรักษาทางการแพทย์
ถ้ากระดูกสันหลังคดไม่มาก ความเอียงประมาณ 20-40 องศา อาจยังไม่ต้องผ่าตัด แต่ให้ใส่เสื้อเกราะ (brace) ประคองแกนกระดูกไว้ วิธีนี้ช่วยลดอัตราการคดได้ แต่ต้องใส่เป็นประจำอย่างน้อย 16 ชั่วโมงต่อวัน และเหมาะสำหรับช่วงที่กระดูกยังโตไม่เต็มที่ เช่น เด็กหญิงช่วงอายุประมาณ 11-14 ปี
จากการศึกษาพบว่า กลุ่มที่บริหารร่างกายด้วยวิธีการปรับโครงสร้างกระดูกสันหลัง เช่น การยึดตัว สามารถช่วยลดอัตราการคดของกระดูกสันหลังได้ เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้บริหารร่างกาย
เมื่อกระดูกโตเต็มที่ (อายุประมาณ 18 ปีในผู้หญิง) ความคดของกระดูกส้นหลังจะคงที่ แต่บางคนการคดอาจเพิ่มขึ้น เพราะความเสื่อมตามอายุที่เพิ่มขึ้น ร่วมกับการใช้งานแบบไม่สมดุล เช่น ชอบนั่งตัวเอียง
บางคนกระดูกสันหลังคดมาก จนกระทั่งโครงสร้างหน้าอกผิดรูป ส่งผลให้การขยายตัวของปอดผิดปกติ ทำให้มีอาการเหนื่อยง่าย แต่การออกกำลังกายสามารถช่วยบรรเทาปัญหานี้ได้
เมื่อไหร่ควรผ่าตัด
กรณีที่กระดูกสันหลังคด เกิน 40-50 องศา และกำลังเข้าสู่วัยรุ่น ประกอบกับแพทย์พิจารณาแล้วว่ามีความจำเป็น การผ่าตัดทำโดยใช้โลหะดามกระดูกสันหลังไว้ ทั้งนี้การผ่าตัดย่อมมีความเสี่ยง และแผลอาจยาวตั้งแต่กลางหลังถึงบั้นเอว ดังนั้น ก่อนการผ่าตัดจึงต้องพิจารณาให้ดีว่า"คุ้มค่าหรือไม่" เพราะการผ่าตัด บางครั้งไม่สามารถแก้ไขกระดูกสันหลังคดได้มาก อย่างที่ใจเราต้องการ
ทางเลือกกับการไม่ผ่าตัด
สำหรับเด็กที่กำลังเข้าสู่วัยรุ่นและมีปัญหากระดูกสันหลังคดไม่มาก ถ้าไม่อยากถูกผ่าตัดก็ต้องหมั่นพบแพทย์เพื่อติดตามดูว่า อัตราการคดเพิ่มขึ้นเร็วหรือไม่ องศามากน้อยเพียงใดและควรหมั่นบริหารยืดเหยียดร่างกายอย่างสม่ำเสมอ
การป้องกัน นั่งให้สมดุลอย่านั่งตัวเอียงข้างใดข้างหนึ่ง
มีสติเตือนตัวเองเสมอว่า ไม่ควรใช้งานร่างกายซีกใดซีกหนึ่งเป็นเวลานานเกินไป
พยายามยืดเหยียดทั้งขาและลำตัวหรือเล่นโยคะ
สัญญาณเตือน กระดูกสันหลังคดส่วนใหญ่ไม่มีอาการเจ็บเตือน จะเจ็บก็ต่อเมื่อใช้งานหนักเกินไป จนกระทั่งกล้ามเนื้อและกระดูกสันหลังรับแรงไม่ไหว ก็จะเริ่มออกอาการเจ็บ ส่วนใหญ่จะมีอาการเจ็บเมื่อเข้าสู่วัยกลางคน
Tips :
กระดูกสันหลังคดอาจพบร่วมกับโรคทางพันธุกรรมอื่นๆ ซึ่งอาจพบตั้งแต่วัยเด็ก
ภาวะเนื้องอกอาจทำให้กระดูกสันหลังคดได้ มักพบอาการ เช่น ปวดมากเวลานอนตอนกลางคืน
ส่องกระจกสังเกตตัวเองเสมอว่ามีกระดูกสันหลังคดหรือไม่ ให้ถอดเสื้อผ้าแล้วดูไหล่สองข้างว่าสูงต่ำเท่ากันหรือไม่ กล้ามเนื้อลำตัวสองข้างสมดุลไหม
หมั่นยืดเหยียดร่างกายบ่อยๆ เช่น ชูมือขึ้น ยืดตัวตรง หรืออาจว่ายน้ำ เพื่อให้ร่างกายสมดุลทั้งซ้ายและขวา
แหล่งที่มา เว็บไซต์ THAIZA
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น