ถ่านถึงจะดำแต่ไม่ธรรมดา เป็นของดีมีประโยชน์ มากคุณค่าที่อยู่ใกล้ตัวเรามานับแต่อดีตกาลจวบจนปัจจุบัน นั่นก็คือ “ถ่าน”
ถ่านไม้ที่เราคุ้นเคยกันดีนั้น เป็นคาร์บอน (Carbon) ชนิดหนึ่ง คาร์บอนเป็นธาตุชนิดหนึ่ง ที่มีอยู่ทั่วไปบนโลก ร่างกายของคน สัตว์ และสิ่งมีชีวิตต่างๆ ล้วนแต่ประกอบไปด้วยคาร์บอนทั้งนั้น ถ่านเป็นธาตุประเภทอโลหะ คือไม่ใช่โลหะ มีคุณสมบัติพิเศษมากมายชนิดที่หาธาตุอื่นใดมาเทียบได้ยาก มีทั้งชนิดที่สีดำสนิทและใสกิ๊งไม่มีสี มีทั้งที่เนื้อเปื่อยยุ่ย ไปจนถึงแข็งแกร่งที่สุด
คำว่า carbon ในภาษาอังกฤษนั้น มาจากภาษาละตินคำว่า carbo ซึ่งแปลว่า ถ่านหิน กับ ถ่านไม้ ในภาษาฝรั่งเศสใช้คำว่า charbon แปลว่าถ่านไม้
มนุษย์ยุคดึกดำบรรพ์ใช้ถ่าน วาดภาพบนผนังถ้ำ |
คาร์บอนช่วยให้เหล็กแข็งแกร่งขึ้นได้ |
ในราวหนึ่งพันหนึ่งร้อยปีก่อนคริสตกาล ซึ่งยุคนั้นมนุษย์รู้จักการนำธาตุเหล็กมาใช้แล้ว ช่างเหล็กพบว่า ถ้านำชิ้นงานที่ตีขึ้นรูปแล้วเข้าไปเผาใหม่พร้อมกับผงถ่าน ถ่านบางส่วนจะเข้าไปผสมกับเนื้อเหล็ก ทำให้ได้เหล็กที่แข็งขึ้นกว่าเดิม และจะแข็งยิ่งขึ้นหากนำเหล็กนั้น แช่ในน้ำเพื่อให้เย็นลงอย่างรวดเร็ว นั่นคือ การค้นพบเหล็กกล้าที่เป็นผลมาจากคาร์บอน นั่นเอง
การทำเหล็กหล่อของจีนโบราณ |
มนุษย์เราเริ่มรู้จักใช้คาร์บอนจากถ่านไม้ที่ไหม้ไฟ |
ไส้ดินสอทำจากแกรไฟต์ ซึ่งเป็นคาร์บอนชนิดหนึ่ง |
เพชรก็เป็นคาร์บอนเช่นเดียวกับถ่านก้อนดำๆ |
คาร์บอน เมื่อรวมตัวกับออกซิเจน จะเกิดเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการเจริญเติบโตของพืช เมื่อรวมกับไฮโดรเจน จะเกิดเป็นสารประกอบต่างๆ ที่เรียกรวมๆ ว่าไฮโดรคาร์บอน ซึ่งจำเป็นต่ออุตสาหกรรมในรูปแบบของเชื้อเพลิงฟอสซิล เมื่อรวมกับทั้งไฮโดรเจนและออกซิเจน สามารถจะเกิดเป็นสารประกอบได้หลายประเภท เช่น กรดไขมัน ซึ่งจำเป็นต่อสิ่งมีชีวิต และเอสเทอร์ ซึ่งให้รสชาติแก่ผลไม้หลายชนิด
ภาพขยายแอ็คทิเวตเท็ด คาร์บอนในพื้นที่เพียง 1 ตารางมิลลิเมตร จะเห็นว่ามีพื้นผิวและรูพรุนมากมาย |
แอ็คทิเวตเท็ด คาร์บอน |
การผลิตแอ็คทิเวตเท็ด คาร์บอน จะใช้วัตถุดิบจากอินทรียวัตถุต่างๆ กัน เช่น ไม้ เอามาเผาเป็นถ่าน และทำการ activate ภายใต้ความร้อนสูงและไอน้ำในสภาวะปราศจากออกซิเจน เพื่อเป็นการกำจัดสารประกอบต่างๆ ที่ยังหลงเหลืออยู่ ให้มีเพียงคาร์บอนบริสุทธิ์อย่างเดียว และเป็นการเพิ่มพื้นที่ผิวในการดูดซับให้มากที่สุด แอ็คทิเวตเท็ด คาร์บอนถูกนำไปใช้ในการกรองเอาสารประกอบอินทรีย์ต่างๆ ที่ไม่ต้องการออกจากของเหลว หรือก๊าซ เช่น ใช้ในการกรองน้ำดื่มให้สะอาดปราศจากสี กลิ่น กรดบางชนิด ยาฆ่าแมลง ฯลฯ ใช้ในการฟอกสีของเหลวต่างๆ ใช้ในการทดลองวิจัยเพื่อแยกและเตรียมสารเคมี ทางการแพทย์นำไปใช้ในการกำจัดพิษ การฟอกเลือด และอื่นๆ ใช้กรองกลิ่นและก๊าซที่ไม่ต้องการ ในหน้ากากกรองสารพิษ และเครื่องฟอกอากาศ
ถ่านที่อยู่ในระบบกรอง |
ปัจจุบันนี้ แอ็คทิเวตเท็ด คาร์บอนเข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตคนเรามากขึ้นเรื่อยๆ เช่น
- เครื่องกรองน้ำขนาดเล็กที่ใช้กันตามบ้านแบบสองท่อหรือสามท่อก็ตาม จะต้องมีท่อหนึ่งที่มีไส้กรองข้างในเป็นไส้กรองถ่าน เพื่อกรองสีและกลิ่น สารคลอรีน และโลหะหนักบางชนิด ทำให้น้ำที่ผ่านออกมาสะอาดปราศจากสิ่งปนเปื้อนดังกล่าว ไส้กรองถ่านที่ว่าก็บรรจุแอ็คทิเวตเท็ด คาร์บอนไว้ข้างในนั่นเอง
- ในเครื่องฟอกอากาศหรือเครื่องปรับอากาศบางรุ่นก็มีไส้กรองที่บรรจุแอ็คทิเวตเท็ด คาร์บอนไว้ข้างใน เพื่อดักจับกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ ทำให้อากาศในห้องบริสุทธิ์สะอาดขึ้น
หลายปีที่ผ่านมา มีการใช้แอ็คทิเวตเท็ด คาร์บอนในการทำความสะอาดแผล และการค้นพบใหม่ล่าสุด แสดงให้เห็นว่าแอ็คทิเวตเท็ด คาร์บอนสามารถดูดซับและกำจัดแบคทีเรีย ไวรัส และสิ่งปฏิกูลที่หลั่งออกมาจากเชื้อราหรือแบคทีเรียได้ด้วย
แอ็คทิเวตเท็ด คาร์บอน ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง เช่น ผสมในแชมพูสระผม |
นอกจากในรูปแบบที่กล่าวมาแล้ว แอ็คทิเวตเท็ด คาร์บอนยังถูกนำไปผลิตเป็นแผ่นทำความสะอาดรูขุมขน สบู่อาบน้ำ และแชมพูสระผมด้วย ในยุคที่มลพิษรายล้อมอยู่รอบตัวอย่างนี้ เราสัมผัสกับสารพิษต่างๆโดยที่รู้ตัวบ้างไม่รู้ตัวบ้าง โดยเฉพาะคนในเมืองที่ต้องผจญกับอากาศที่เต็มไปด้วยไอเสียจากรถตามท้องถนน แชมพูซึ่งผสมแอ็ค-ทิเวตเท็ด คาร์บอนดังกล่าว จึงช่วยดูดซับสิ่งสกปรก ช่วยทำให้รูขุมขนบนหนังศีรษะสะอาด ปราศจากน้ำมัน สิ่งสกปรก สิ่งตกค้างอุดตัน ที่ก่อให้เกิดรังแคบนหนังศีรษะ ในต่างประเทศอย่างญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา แชมพูชนิดนี้กำลังได้รับความนิยมมาก
ไม่น่าเชื่อเลยว่า ถ่านที่บางคนรังเกียจที่จะจับต้องเพราะกลัวเปื้อนเปรอะเลอะมือ จะเป็นคาร์บอนเหมือนกับเพชร และถ่านดำๆก็ยังนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อขจัดพิษ เพื่อความสะอาดและความสวยความงามได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
บอกแล้วไงล่ะว่า “ถ่าน” น่ะไม่ธรรมดา
แหล่งที่มา เว็บไซตืไทยรัฐออนไลน์ โดยลุงดำ และทีมงานนิตยสาร ต่วย'ตูน 15 กรกฎาคม 2555, 00:03 น.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น