วันเสาร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2555

3 กองทุนสุขภาพ ป่วยฉุกเฉิน รักษาได้ทุกโรงพยาบาล

           3 กองทุนสุขภาพสรุป ผู้ป่วยฉุกเฉินสามารถรักษาได้รักษาได้ทุกโรงพยาบาล จนจบการรักษา โดยทางประกันสังคมจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย กำหนด 1 วันไม่เกิน 10,500 บาท ไม่ต้องสำรองจ่าย ไม่ต้องทำเรื่องอนุมัติ

           วานนี้ (2 มีนาคม 2555) นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนประกันสังคม เปิดเผยหลังจากการร่วมประชุมกับ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับ 3 ระบบรักษาพยาบาลของประเทศ ได้แก่ ระบบประกันสังคม หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และการรักษาของข้าราชการ ว่า ในที่ประชุมได้ข้อสรุปเรื่องการรักษาพยาบาลกรณีฉุกเฉินแล้ว โดยจะให้บริการเป็นระบบเดียวกัน คือหากมีการเจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลใดก็ได้ ไม่จำกัดว่าจะอยู่ในระบบการรักษาใด และสามารถรับการรักษาได้จนสิ้นสุดการรักษานั้นๆ

           ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อว่า โดยปกติแล้ว ผู้ประกันตนสามารถรักษากรณีฉุกเฉินในโรงพยาบาลนอกบัตรรับรองสิทธ์ได้เพียงแค่ 72 ชั่วโมง และต้องแจ้งโรงพยาบาลตามบัตรมารับการรักษาต่อ แต่ถ้าหากเริ่มระบบร่วมกันทั้ง 3 ระบบ ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องจากโรงพยาบาลนั้นๆ  โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งทางประกันสังคม จะเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่าย ตามระบบความรุนแรงของโรค (DRG)

           นพ.สมเกียรติ ยังกล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องค่าใช้จ่ายพยาบาลนั้น จะปรับเป็นอัตราเดียวกันที่ไม่เกิน 10,500 บาทต่อคนต่อวัน โดยเริ่มต้น 1 เมษายนนี้ จากเดิมผู้ป่วยจะต้องจ่ายในอัตราที่แตกต่างกันตามระบบ คือ กองทุนประกันสังคม 15,000 บาทต่อคนต่อวัน กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจ่ายให้ 8,000 บาทต่อคนต่อวัน

           นอกจากนี้ นพ.สมเกียรติ ยังกล่าวต่อว่า ส่วนในเรื่องของโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง ได้แก่ โรคเอดส์ ไตวาย เบาหวาน ความดันโลหิตสูง รวมไปถึงโรคที่ต้องยาราคาแพง และกรณีรักษาที่มีความเสี่ยงสูง เช่น การผ่าตัดหัวใจ สามารถดำเนินการได้ทันทีหลังจากที่แพทย์วินิจฉัย โดยไม่ต้องสำรองจ่าย หรือทำเรื่องของอนุมัติหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

           อย่างไรก็ตาม นพ.สมเกียรติ  กล่าวต่อว่า ทางกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าวางหลักเกณฑ์ไว้ 4 ข้อ ที่จะไม่สามารถอนุมัติการรักษาให้แก่ผู้ป่วย ได้แก่ การรักษาเพื่อความสวยงาม การรักษาที่เกินความจำเป็น หรือเป็นการทดลองทางการแพทย์ การรักษาการมีบุตรยาก และเป็นการรักษาที่ไม่เป็นไปตามแพทย์ระบุ

แหล่งที่มา   เว็บไซต์กระปุกดอทคอม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...