วันจันทร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2555

โทรศัพท์สาธารณะเพื่อผู้พิการทางการได้ยิน

 สถาบันนวัตกรรม ทีโอที ของ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ได้ทำการวิจัยและพัฒนา ออกแบบ เครื่องโทรศัพท์สาธารณะสำหรับผู้พิการทางการได้ยิน และโทรศัพท์ข้อความสำหรับผู้พิการทางการได้ยิน (โทรอักษร) ขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้คนพิการสามารถเข้าถึงบริการเพื่อสังคมได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป

 โดยงานวิจัยชิ้นนี้เป็นผลงานของ นายพิเชษฐ์ พานเที่ยง และคณะ ซึ่งได้รับรางวัลระดับดี ด้านวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรม ในงานนักประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2555 จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

นายพิเชษฐ์ กล่าวว่า ระบบดังกล่าวเป็นนวัตกรรมด้านโทรคมนาคม ที่มีการให้บริการโทรศัพท์พื้นฐาน โทรศัพท์สาธารณะที่เน้นให้บริการกลุ่มบุคคลที่ด้อยโอกาสทางสังคมที่พิการทางการได้ยินรวมถึงผู้ปกครอง ที่การให้บริการยังไม่รองรับ  ขณะที่บุคคลทั่วไปก็สามารถใช้บริการได้ด้วย

 โดยเป็นสิ่งประดิษฐ์มีแนวความคิดแปลกใหม่สำหรับให้บริการสื่อสารผ่านโครงข่ายสายโทรศัพท์ ที่สามารถสนทนาเป็นข้อความตัวอักษรทดแทนข้อความเสียงที่ผู้พิการไม่อาจได้ยินได้ พร้อมมีสัญญาณแสดงการเรียกเข้า การใช้งานเครื่องก็ไม่ต้องใช้แหล่งจ่ายพลังงานภายนอกเพิ่มเติม พร้อมทั้งสามารถให้บริการส่งข้อความขนาดสั้น (เอสเอ็มเอส) ผ่านบริการโทรศัพท์สาธารณะ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีผู้ให้บริการ

 สำหรับเทคโนโลยีและขั้นตอนการทำงาน คือการแปลงตัวอักษรและอักขระพิเศษ จากแป้นพิมพ์ ให้อยู่ในรูปของสัญญาณไฟฟ้า ในแถบย่านความถี่เสียงหรือ Voice Band เพื่อส่งข้อมูลออกไปยังคู่สายโทรศัพท์ เพราะตัวอักษรและอักขระพิเศษจากแป้นพิมพ์เมื่อพิมพ์ออกเป็น ASCII Code แบบดิจิทัล ทำการเข้ารหัส แล้วถูกแปลงเป็นสัญญาณแบบอนาล็อก (Analog) ผ่านคู่สายโทรศัพท์ และปลายทางต้องทำการแปลงสัญญาณจากอนาล็อก กลับมาเป็นดิจิทัลอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะสอดคล้องกับการใช้งานของกลุ่มคนผู้พิการและบุคคลทั่วไป

 ในด้านออกแบบผลิตภัณฑ์ ได้ออกแบบวงจรอิเล็กทรอนิกส์ให้ใช้พลังงานต่ำ เพิ่มเติมจากแบบปกติ สามารถนำไปติดตั้งใช้งานได้ทุกโครงข่าย และการให้บริการของ บมจ.ทีโอที ได้ในระยะทางไกล ซึ่งในอนาคตเครื่องโทรศัพท์สำหรับคนพิการทางการได้ยินสามารถประยุกต์ให้เป็นเครื่องโทรศัพท์สาธารณะแบบมัลติมีเดียสามารถเห็นภาพได้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้พิการทางการได้ยินมีความสะดวกในการใช้งานติดต่อสื่อสารมากขึ้น

“เครื่องโทรศัพท์สำหรับคนพิการทางการได้ยินสามารถตอบสนองความต้องการใช้ของกลุ่มผู้พิการได้ เช่น นักเรียน นักศึกษา บุคลากรทางการศึกษาที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน รวมถึงบุคคลทั่วไป สามารถใช้ติดต่อสื่อสารถึงกันได้ นอกจากนี้ยังช่วยให้เข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข การแพทย์และการศึกษาจากหน่วยงานรัฐ ตามเป้าหมายของภาครัฐและภาคเอกชน ที่มีระบบรองรับในการให้บริการสารสนเทศสำหรับผู้พิการทางการได้ยิน”

อย่างไรก็ตามได้มีการนำเครื่องโทรศัพท์สำหรับคนพิการทางการได้ยิน ไปติดตั้งใช้งานทั่วประเทศ จำนวน 500 เครื่อง ในสถานที่ต่าง ๆ เช่น โรงพยาบาล มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวกในพระบรมราชูปถัมภ์ ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จจุดเดียว สำนักงานประกันสังคม/ส่งเสริมและพิทักษ์คนพิการ กองสลาก ศูนย์การศึกษาพิเศษ สถานีขนส่งต่าง ๆ สนามบิน ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน  ศูนย์ฟื้นฟูผู้พิการชุมชน วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นต้น

...นับว่าเป็นงานวิจัยที่พัฒนาต่อยอดจนสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วยเหลือให้คนพิการทางการได้ยินมีสิทธิเท่าเทียมคนทั่วไปในการใช้บริการสื่อสารสาธารณะ!!!

แหล่งที่มา   เว็บไซต์เดลินิวส์ วันพฤหัสบดีที่ 1 มีนาคม 2555 เวลา 00:00 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...