วันพุธที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

16 พ.ค. 2555 "วันคุ้มครองปลาน้ำจืดมีไข่ 2555"

รมว.เกษตรและสหกรณ์เปิดเผยหลังเป็นประธานเปิดงาน “ฤดูน้ำแดง” วันคุ้มครองปลาน้ำจืดมีไข่เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2555 ว่า ระหว่างเดือนพฤษภาคม-กันยายน ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝน ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำลำคลองหลายแห่งเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับฝนที่ตกลงมาได้ชะล้างหน้าดิน และพัดตะกอนธาตุอาหารต่างๆ ลงสู่แม่น้ำลำคลอง ทำให้น้ำกลายเป็นสีแดง ซึ่งชาวประมงเรียกช่วงนี้ว่า “ฤดูน้ำแดง” ที่เป็นปัจจัยที่ไปกระตุ้นให้ปลาน้ำจืดผสมพันธุ์และวางไข่

ดังนั้น กรมประมงจึงได้ออกประกาศกำหนดให้ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม – 15 กันยายน ของทุกปีเป็นฤดูปลาน้ำจืดมีไข่ในท้องที่ทุกจังหวัด และในช่วงดังกล่าว ห้ามมิให้ผู้ใดทำการประมงด้วยเครื่องมือทำการประมง หรือด้วยวิธีใด ๆ ในที่จับสัตว์น้ำจืดในท้องที่ทุกจังหวัด เพื่อสงวนพันธุ์สัตว์น้ำจืดที่กำลังมีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัววัยอ่อนไม่ให้ถูกทำลายมากเกินไป  โดยยกเว้นการทำการประมงสำหรับเครื่องมือบางชนิดที่ไม่ทำลายพันธุ์สัตว์น้ำอย่างรุนแรงตามที่กฎหมายกำหนด ดังนี้
  1. เบ็ดทุกชนิด ยกเว้นเบ็ดราว
  2. ตะแกรง สวิง ช้อน ยอ และขนาง ซึ่งมีขนาดปากกว้าง ไม่เกิน 2 เมตร และห้ามไม่ให้ทำการประมงด้วยวิธีประดาตั้งแต่สามเครื่องมือขึ้นไป
  3. ไช ตุ้ม อีจู้ ลัน โปง และโทง รวมถึงการทำประมงในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ หรือการทำการประมงเพื่อประโยชน์ทางวิชาการ หรือรวบรวมลูกสัตว์น้ำหรือสัตว์น้ำวัยอ่อนเพื่อวัตถุประสงค์ในการเพาะเลี้ยงด้วยที่มีการยกเว้น แต่ทั้งนี้จะต้องได้รับหนังสืออนุญาตจากอธิบดีกรมประมงก่อน
อย่างไรก็ตาม จากสภาพพื้นที่และสภาพภูมิอากาศในบางพื้นที่ของประเทศมีความแตกต่างกัน จึงประกาศให้บางจังหวัดมีวัน
คุ้มครองปลาน้ำจืดมีไข่แตกต่างกันไปคือ จ.นครนายก พังงา ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม – 31 สิงหาคม / จังหวัดลำปาง ลำพูน นครราชสีมา ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน – 30 กันยายน / จังหวัดหนองบัวลำภู  อุดรธานี  ขอนแก่น  ระหว่างวันที่ 16 มิถุนายน – 15 ตุลาคม / จังหวัดนราธิวาส ระหว่างวันที่ 1 กันยายน – 31 ธันวาคม / จังหวัดพัทลุง ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม – 31 มกราคม ทั้งนี้หากมีผู้ฝ่าฝืนตามประกาศดังกล่าวนี้ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 5,000 บาทถึง 10,000 บาทหรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ   

ขณะที่นายวิมล  จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมงเปิดเผยถึงสถานการณ์ปริมาณสัตว์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม และน้ำเค็มรุกล้ำว่า ปริมาณสัตว์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก  กรมประมงได้เร่งดำเนินการปล่อยพันธุ์ปลาชนิดต่างๆ โดยเฉพาะกุ้งก้ามกราม   โดยในวันนี้กรมประมงยังได้จัดกิจกรรมในการปล่อยพันธุ์ปลา และกุ้ง กว่า 4.5   ล้านตัว เพื่อเพิ่มปริมาณทรัพยากรสัตว์น้ำด้วย

แหล่งที่มา     เว็บไซต์แนวหน้า วันอังคาร ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2555, 14.16 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...