วันอังคารที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

พันธุ์ไหมไทยลูกผสมใหม่ 2 สายพันธุ์

ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สระบุรี กรมหม่อนไหมดำเนินการเลี้ยงอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์ไหมไทยลูกผสมจนได้คู่ผสมพันธุ์ไหมลูกผสมที่เหมาะสม จำนวน 2 สายพันธุ์  จากนั้นได้ดำเนินการเลี้ยงทดสอบและผลิตไข่ไหมให้เกษตรกรเลี้ยงเพื่อเป็นการทดสอบในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ  นครราชสีมา  ร้อยเอ็ด  มหาสารคาม  ศรีสะเกษ  ฉะเชิงเทรา อุทัยธานี  และจันทบุรี ภายใต้กิจกรรมอนุรักษ์และขยายพันธุ์หม่อนไหม ซึ่งผลการทดสอบเลี้ยงไหมในภาคเกษตรกรพบว่าได้ผลดีในระดับที่น่าพอใจ  โดยเฉพาะเกษตรกรจังหวัดชัยภูมิ พึงพอใจมากต่อการเลี้ยงไหม สีของเส้นไหม  และปริมาณเส้นไหมที่ได้รับ จึงเป็นพันธุ์ไหมที่มีความเหมาะสมที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงต่อไป

สำหรับพันธุ์ไหมไทยลูกผสมทั้ง 2 สายพันธุ์ ได้แก่
  1. ไหมไทยลูกผสมพันธุ์เหลืองไพโรจน์   ซึ่งเกิดจากการนำไหมญี่ปุ่นพันธุ์ J108 ผสมกับไหมไทยแท้  “พันธุ์นางลาย” และตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่อธิบดีกรมหม่อนไหมคนแรก คือ นายไพโรจน์  ลิ้มจำรูญ
  2. ไหมพันธุ์ลูกผสมรังสีเหลืองพันธุ์กำพล 1 เกิดจากการนำไหมญี่ปุ่นพันธุ์ J108 ผสมกับไหมยุโรปพันธุ์ S27 และตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ นายกำพล วงศ์ตรีเนตรกุล   ผู้บริจาคพ่อ-แม่พันธุ์ให้กับกรมหม่อนไหม 
จากการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบไหมพันธุ์ลูกผสมในแต่ ละกลุ่มทั้งด้านความแข็งแรง  ผลผลิตรังไหม และคุณภาพรังไหม พบว่า…ไหมไทยพันธุ์เหลืองไพโรจน์ เหมาะสมที่จะนำไปส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยง  เนื่องจาก  เลี้ยงง่าย  มีความแข็งแรง ให้ผลผลิตรังที่ดี และรังมีคุณภาพ เมื่อเปรียบเทียบกับไหมพันธุ์ที่เกษตรกรนิยมเลี้ยง คือ พันธุ์ดอกบัว โดยรังไหม 1 รัง ได้เส้นไหมยาวประมาณ  700–800 เมตร ดังนั้นจึงเป็นพันธุ์ไหม ที่เหมาะส่งเสริมให้นำไปใช้ได้ระดับหัตถอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมได้

สำหรับ ไหมพันธุ์ลูกผสมรังสีเหลือง พันธุ์กำพล 1 เป็นพันธุ์ไหมที่มีความแข็งแรง ให้ผลผลิตรังที่ดี  สาวง่าย  มีคุณภาพสูงมาก โดยรังไหม 1 รัง ได้เส้นไหมยาวประมาณ 1,100 เมตร  จึงเหมาะสมที่จะนำไปส่งเสริมให้กับเกษตรกรที่เลี้ยงไหมเชิงอุตสาหกรรม

จากความสำเร็จในการปรับปรุงพันธุ์ไหมจนทำให้ได้พันธุ์เหลืองไพโรจน์  และพันธุ์กำพล 1 กรมหม่อนไหมเชื่อมั่นว่าจะสามารถทำให้อุตสาหกรรมไหมไทยมีความเจริญก้าวหน้าอย่างเป็นระบบและมั่นคง  ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคงและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...