โครงการรณรงค์วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ปี 2555 ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 3 พฤษภาคม 2555
ความเป็นมา
เมื่อปี 2534 องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโกเสนอให้สมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติประกาศให้วันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยได้มีการจัดกิจกรรมเพื่อการรณรงค์ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญเกี่ยวกับเสรีภาพของสื่อมวลชน ในขณะเดียวกันจะมีการประกาศแถลงการณ์เพื่อแสดงให้เห็นถึงท่าทีและจุดยืนของสื่อมวลชนไทยด้วย จึงถือว่าเป็นวันที่ผู้ที่ทำงานด้านสื่อจะต้องทบทวนและพูดคุยกัน โดยเฉพาะเรื่องสิทธิในการแสดงออกและจริยธรรมของวิชาชีพ
ในทุกๆ ปี วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกถือเป็นวันสำคัญของนักสื่อสารมวลชน เพื่อเป็นการย้ำถึงเจตนารมณ์และหลักการที่เป็นพื้นฐานของเสรีภาพสื่อมวลชนทั่วโลกซึ่งก็คือเสรีภาพในการแสดงออก ในวันสำคัญนีจึงถือว่าเป็นวาระที่ประเทศต่างๆ รัฐบาล ประชาชน และสื่อมวลชนเองจะได้ร่วมกันปลุกจิตสำนึก นับเป็นโอกาสดีที่จะได้มีการพิจารณาและพัฒนาข้อคิด ข้อเสนอต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการแสดงออกของสื่อมวลชน ในขณะเดียวกันเป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้มีการประเมินสถานการณ์ของเสรีภาพในการแสดงออกของสื่อมวลชน
เสรีภาพของสื่อมวลชนเถือเป็นรากฐานของสิทธิมนุษยชน และเป็นหลักประกันเสรีภาพอื่นๆด้วย เสรีภาพของสื่อมวลชนจะกระตุ้นให้เกิดความโปร่งใส และธรรมาภิบาล เพื่อเป็นหลักประกันว่าสังคมจะได้รับความยุติธรรมที่แท้จริง อีกทั้งยังเป็นสะพานที่นำไปสู่การสร้างความเข้าใจและความรู้ สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและวัฒนธรรมระหว่างประเทศต่างๆ อันเป็นเงื่อนไขที่ก่อให้เกิดความเข้าใจที่แท้จริง และความร่วมมือระหว่างประเทศที่ยืนนาน
วันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปี องค์กรที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนทั่วโลกจะได้มีการย้ำเตือนรัฐบาลทุกประเทศให้ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามพันธะสัญญาที่จะเคารพสิทธิในการแสดงออกของสื่อมวลชน แม้ว่าในปัจจุบันเสรีภาพในการแสดงออกของสื่อมวลชน ยังไม่เป็นที่ยอมรับและเคารพในหลายประเทศ ทั้งๆ ที่เป็นตัวจักรสำคัญในขบวนการประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของประชาชนในขบวนการตัดสินใจ พลเมืองจะตัดสินใจลงคะแนนเสียงได้ถูกก็ต่อเมื่อได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง เข้าถึงข้อมูลและความคิดเห็นได้อย่างอิสระ และแสดงความเห็นได้อย่างอิสระ เสรีภาพในการแสดงออกไม่ได้สำคัญต่อศักดิ์ศรีของแต่ละคนเท่านั้น แต่ยังสำคัญต่อการมีส่วนร่วม การตรวจสอบ และประชาธิปไตยอีกด้วย
วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกเป็นโอกาสที่สื่อฯจะได้บอกกล่าวและกระตุ้นให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของเสรีภาพในการแสดงออกของสื่อมวลชน และจะได้รับรู้ว่า มีสื่อมวลชนทั่วโลก ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกโดยการเซ็นเซอร์ข่าวและงานเขียน สำนักพิมพ์ถูกปรับ ถูกขู่ ถูกปิดชั่วคราวหรือถาวร และผู้สื่อข่าว บรรณาธิการถูกทำร้าย ถูกคุมขังหรือถูกฆ่า
วัตถุประสงค์
- เพื่อประกาศจุดยืนและอ่านแถลงการณ์ของสื่อมวลชนไทยเนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก
- เพื่อส่งเสริมให้นักวิชาชีพด้านสื่อสารมวลชนได้ตระหนักถึงสิทธิและเสรีภาพในการทำหน้าที่
- รณรงค์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงสิทธิและเสรีภาพในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน
รูปแบบกิจกรรม
- การออกแถลงการณ์เพื่อประกาศจุดยืนและท่าทีของสื่อมวลชนไทยในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก
- การจัดเสวนาทางวิชาการ
- การประกวดบทความ และภาพถ่าย เรื่อง “เสรีภาพสื่อบนความท้าทายใหม่
กำหนดการวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก
หัวข้อ “เสรีภาพสื่อบนความท้าทายใหม่” (New Challenges for Press Freedom)วันพฤหัสบดีที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๕
ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล ชั้น ๓ เวลา ๐๙.๓๐-๑๒.๐๐ น.
ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
เวลา | รายการ |
---|---|
๐๙.๓๐ | ลงทะเบียน |
๑๐.๐๐ | กล่าวไว้อาลัยแก่สื่อมวลชนที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ โดย เสด็จ บุนนาค อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ |
๑๐.๐๕ | แถลงการณ์เนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก
หัวข้อ “เสรีภาพบนความท้าทายใหม่” (New Challenges for Press Freedom)
โดย ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
|
๑๐.๑๕ | เสวนาเรื่อง “เสรีภาพบนความท้าทายใหม่” (New Challenges for Press Freedom)
วิทยากร
|
๑๑.๔๕ | มอบรางวัลประกวดบทความ และภาพถ่าย หัวข้อ “เสรีภาพบนความท้าทายใหม่” โดย นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย |
- ขอเรียกร้องให้สื่อมวลชนประเภทต่างๆ พึงตระหนักถึงการทำหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ท่ามกลางวิกฤติของประเทศในขณะนี้ สื่อมวลชนต้องหลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำที่รุนแรงยั่วยุให้เกิดความเกลียดชัง รวมทั้งเปิดพื้นที่สาธารณะให้กับกลุ่มต่างๆ อย่างเท่าเทียม และต้องรายงานถึงสาเหตุของปัญหารวมถึงนำเสนอทางออก
แม้ว่ารัฐธรรมนูญได้ให้หลักประกันในด้านสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิด เห็นของประชาชนและสื่อมวลชน แต่การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมตามกรอบ จริยธรรมแห่งวิชาชีพด้วย - การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในสถานการณ์ความขัดแย้ง นอกจากความรับผิดชอบแล้ว การมีเสรีภาพก็เป็นเรื่องสำคัญ ฉะนั้นการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนจึงไม่ควรถูกแทรกแซงจากภาครัฐ กลุ่มอิทธิพล รวมถึงกลุ่มทุนใดๆ
- ขอเรียกร้องให้ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ มีความจริงใจในการปฏิรูปสื่อวิทยุและโทรทัศน์ โดยเฉพาะวุฒิสภา ต้องดำเนินการสรรหาคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) อย่างโปร่งใส
นอกจากนี้หน่วยงานของรัฐที่ครอบครองคลื่นความถี่ต้องแสดงเจตนารมณ์ในการ ปฏิรูปตัวเองให้ตอบสนองกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม และสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ โดยฝ่ายรัฐบาลควร ระมัดระวังการแทรกแซงและใช้สื่อของรัฐเป็นเครื่องมือทางการเมือง - รัฐบาลต้องยุติการออกกฎหมายที่มีลักษณะจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน โดยเฉพาะร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่ปัจจุบันยังไม่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน
- ในสถานการณ์ความขัดแย้งที่ยังดำรงอยู่ การมีวิจารณญาณในการรับรู้ข่าวสารถือเป็นเรื่องสำคัญ จึงขอให้ประชาชนใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูลข่าวสาร เปิดใจกว้างรับฟังความเห็นที่หลากหลายจากสื่อมวลชน อย่างไรก็ตาม พึงระมัดระวังอย่างยิ่งในการรับข่าวสารจากสื่อที่เป็นเครื่องมือทางการเมือง ขณะเดียวกันสื่อภาคประชาชน และสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media)พึงตระหนักถึงกระบวนการนำเสนอด้วยความรับผิดชอบเช่นกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น