วันอังคารที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เสนอปรับสูงอายุ จาก 60 เป็น 65 ปี

นักวิชาการเสนอปรับนิยามผู้สูงอายุจาก 60 เป็น 65 ปี รองรับสังคมคนแก่ เผยคนไทยอายุยืนมากขึ้น เฉลี่ย 73 ปี ชี้ระบบสาธารณสุขช่วยคนไทยแข็งแรง หญิงตายยากกว่าชาย เผยข้อดีเปลี่ยนเกณฑ์อายุช่วยเพิ่มโอกาสมีงานทำ-ออมเงินมากขึ้น

เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2555 มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย จัดเวทีเสวนาใสหัวข้อ "ผู้สูงอายุไทย ทำไมต้อง 60 ปี"เพื่อทบทวนความเหมาะสมเกณฑ์ผู้สูงอายุที่กำหนดไว้ 60 ปี ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่

ศ.ดร.ปราโมทย์ ประสาทกุล นักวิชาการจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เสนอให้ประเทศไทยปรับเปลี่ยนคำนิยามของผู้สูงอายุ จากผู้ที่มีอายุ 60 ปี เป็น 65 ปี เนื่องจากประชากรไทยมีอายุยืนยาวขึ้น และมีจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้นในอนาคต ที่ผ่านมาสังคมไทยได้พัฒนาระบบสาธารณสุขทำให้อายุขัยเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น จากเดิมคนไทยเมื่อ 100 ปีก่อนจะมีอายุเฉลี่ยเพียง 37 ปีเท่านั้น แต่ปัจจุบันได้เพิ่มสูงขึ้นเป็น 73 ปี เมื่อประชากรมีอายุที่ยืนยาวขึ้น ทำให้สัดส่วนของประชากรผู้สูงอายุในช่วงปลาย หรือวัยที่มีอายุ 70 ปีหรือ 80 ปีขึ้นไป มีสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้นตาม เช่นเดียวกันกับสุขภาพของผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดีขึ้น และยังมีความพร้อมที่จะทำงานเพื่อหารายได้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้ แม้อายุจะเกิน 60 ปีไปแล้วก็ตาม

ส่วนการใช้เกณฑ์กำหนดอายุ 60 ปีนั้น เราใช้คำนิยามมากจาก พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 ซึ่งกำหนดให้ข้าราชการที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ต้องพ้นจากราชการเมื่อสิ้นปีงบประมาณ หรือทุก ๆ วันที่ 30 กันยายนในทุกปี ในขณะที่ภาคเอกชนก็ได้กำหนดการเกษียณอายุ การทำงานของแรงงานไว้ที่อายุ 55 ปี

นักวิชาการจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนนิยามผู้สูงอายุเดิมจาก 60 ปี เป็น 65 ปี จะทำให้จำนวนแรงงานเพิ่มขึ้นประมาณ 2.5 ล้านคน หรือสัดส่วนแรงงานต่อประชากรทั้งหมดเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 67.4 เป็นร้อยละ 71.3 ซึ่งจำนวนและสัดส่วนแรงงานที่เพิ่มขึ้นนี้จะไปลดจำนวนและสัดส่วนของผู้สูงอายุลง

เมื่อคิดเป็นอัตราส่วนพึ่งพิงวัยสูงอายุ หรือจำนวนผู้สูงอายุที่คนวัยทำงาน 100 คน จะต้องดูแลได้เหลือเพียง 11.1 จากเดิม 17.5 คน รวมไปถึงอัตราส่วนพึ่งพิงทางอายุโดยรวม ซึ่งหมายถึงจำนวนเด็กและผู้สูงอายุที่คนวัยทำงาน 100 คน จะต้องดูแลลดลงไปด้วย คือ จาก 48.3 ตามนิยามเดิม ลดลงเหลือ 40.2 ตามนิยามใหม่

"การเปลี่ยนนิยามผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นจาก 60 ปี เป็น 65 ปี จะเพิ่มโอกาสการทำงานให้แก่ผู้สูงอายุมากขึ้น ซึ่งเป็นการสร้างหลักประกันด้านรายได้และเพิ่มระยะเวลาการออมมากขึ้น จึงเป็นแนวทางหนึ่งเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ศักยภาพที่มีอยู่มาสร้างรายได้ให้แก่ตนเอง โดยไม่ต้องพึ่งบุตรหลานหรือภาครัฐมากนัก และยังเป็นการสร้างพลังอำนาจให้แก่ผู้สูงอายุได้อีกด้วย" ศ.ปราโมทย์ กล่าว

พญ.อรพิชญา ไกรฤทธิ์ อาจารย์หน่วยเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ผู้สูงอายุในทางการแพทย์และทางวิทยาศาสตร์นั้น จะเริ่มต้นขึ้นเมื่ออายุ 30 ปี และร่างกายของเราจะมีพลังสำรองประมาณ 10 เท่า ของอายุที่จะต้องใช้จริงประมาณ 20-30 ปี และความสามารถของร่างกายเราจะลดลง 1 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ตั้งแต่อายุ 30 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ จากการศึกษารายงานสุขภาพคนไทยประจำปีของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม พบว่า ประชากรชายมีอายุเฉลี่ยตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 69.5 ปี ส่วนผู้หญิงนั้นอายุเฉลี่ย 76.3 ปี และหากนำมาเทียบกับสถิติในยุคสมัยนี้ที่ระบบของการดูแลสุขภาพทั่วถึงทั้งผู้หญิงและผู้ชาย หากมีอายุ 60 ปีจะอยู่ต่อไปได้อีก 21.9 ปี ซึ่งเท่ากับว่าผู้หญิงจะอายุยืนกว่าผู้ชาย แต่ผู้หญิงก็จะบกพร่องทางสุขภาพเยอะกว่าผู้ชาย

ขณะที่ นางอุบล หลิมสกุล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ กล่าวว่า การนิยามคำว่าผู้สูงอายุแบบใหม่นั้น เป็นเรื่องที่สังคมในแต่ละประเทศจะไปตกลงกัน เพราะในประเทศตะวันตกหลายแห่ง อาทิ ประเทศฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา เขาก็ได้ทำการปรับเปลี่ยนอายุของการนิยามคำว่า ผู้สูงวัยเป็น 65 ปี คำว่า ผู้สูงอายุ นั้นมันเป็นคำนิยามทางสังคม และก็จะก่อเกิดเป็นอัตลักษณ์ทางสังคม ทั้งนี้ การเปลี่ยนนิยามของอายุผู้สูงวัยสามารถทำได้ แต่จะต้องมองให้รอบด้าน

"สิ่งที่สำคัญนอกเหนือจากการที่เราจะกำหนดนิยามของผู้สูงอายุเปลี่ยนไปนั้น คือ การเตรียมความพร้อมของครอบครัว การปรับสภาพแวดล้อม และสถานที่ต่าง ๆ รองรับกับผู้สูงวัย โดยส่วนตัวเชื่อว่าการเปลี่ยนนิยามผู้สูงวัยจะทำให้อัตราการออมสูงขึ้น มีงานมีรายได้และบทบาททางสังคมเพิ่มมากขึ้นด้วย" นางอุบล กล่าว

แหล่งที่มา   เว็บไซต์กระปุกดอทคอม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...