นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รมต.พลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้เสนอแนวทางลดผลกระทบกับประชาชน จากกรณีราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2555 ที่ผ่านมา โดยให้ทยอยปรับโครงสร้างราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) เป็นราคาเดียวกันทุกภาคส่วน โดยเฉพาะในภาคครัวเรือนจะทยอยปรับราคาให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงในไตรมาส 4 ของปี 2555 (กันยายน - ธันวาคม) ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาจะทยอยปรับในอัตราที่เท่าไหร่ แต่ทั้งนี้กระทรวงพลังงานจะมีมาตรการช่วยเหลือภาคครัวเรือนให้ใช้ราคาเดิม 18.13 บาทต่อกิโลกรัม ต่อไปจนถึงสิ้นปี 2555
ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนก่อนถึงไตรมาส 4 กระทรวงพลังงานจะเปิดลงทะเบียนกลุ่มครัวเรือนที่แท้จริงคาดว่าจะมีประมาณ 20 ล้านครัวเรือน เพื่อให้ความช่วยเหลือ โดยนำเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาจ่ายชดเชยแทน ในเบื้องต้นได้เตรียมไว้ประมาณ 10,000 ล้านบาทต่อปี ส่วนวิธีดำเนินการการนั้นอาจใช้แนวทางการจ่ายเงินเข้าบัญชีประชาชนสำหรับชดเชยราคาแอลพีจีที่ปรับสูงเกินกว่า 18.13 บาทต่อกิโลกรัม
สำหรับในส่วนของกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) รวมถึงผู้ค้าข้าวแกงรถเข็นต่างๆ กระทรวงพลังงานจะพิจารณาให้การช่วยเหลือตามข้อเท็จจริง โดยนำเงินกองทุนอนุรักษ์พลังงานไปช่วยเหลือ พร้อมทั้งให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ที่ต้องอนุรักษ์พลังงานร่วมด้วย หรือหากกลุ่มใดต้องการความช่วยเหลือด้านสินเชื่อ กระทรวงพลังงานจะเป็นตัวกลางเจรจาช่วยเหลือตามความเหมาะสมต่อไป ส่วนในกลุ่มอุตสาหกรรมเซรามิกนั้น กระทรวงพลังงานได้เตรียมเงิน 50 ล้านบาท ช่วยเหลือกลุ่มเซรามิกที่เหลืออีก 200 แห่งต่อไป
"ราคาแอลพีจีในภาคอุตสาหกรรมและขนส่งได้ทยอยปรับขึ้นแล้ว แต่ในภาคครัวเรือนจะเริ่มปรับขึ้นไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ และจะทยอยขึ้นไปจนถึงราคากลางที่กระทรวงพลังงานกำหนด คือ ราคาที่ไม่ทำให้เกิดการขายข้ามภาค ไม่เกิดการลักลอบไปจำหน่ายต่างประเทศ และสอดคล้องกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) โดยราคาแอลพีจีภาคครัวเรือนจะไปเท่ากับราคาภาคอุตสาหกรรมและภาคขนส่งในช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคม ปี 2556 ที่ 30.13 บาทต่อกิโลกรัม" นายอารักษ์ กล่าว
สำหรับราคาแอลพีจี ปัจจุบันแบ่งเป็น 3 ราคา คือ
- ราคาภาคขนส่งอยู่ที่ 20.13 บาทต่อกิโลกรัม
- ราคาภาคอุตสาหกรรม 30.13 บาทต่อกิโลกรัม และ
- ภาคครัวเรือน 18.13 บาทต่อกิโลกรัม
นายอารักษ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ (เอ็นจีวี) นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการสรุปตัวเลขครั้งสุดท้าย โดยจะมีการประชุมอีกครั้งระหว่างผู้ประกอบการ กระทรวงพลังงาน และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เป็นผู้ศึกษาโครงสร้างราคาเอ็นจีวี โดยตนจะเข้าร่วมประชุมเพื่อสรุปผลกันในเร็วๆ นี้ ส่วนมาตรการช่วยเหลือด้านราคาค่าไฟฟ้านั้น นายกรัฐมนตรีจะพิจารณาอีกครั้งในวันนี้ (1 พฤษภาคม 2555)
แหล่งที่มา เว็บไซต์กระปุกดอทคอม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น