มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (Net Asset Value หรือราคา NAV) หมายถึง ทรัพย์สินทั้งหมดของกองทุนรวม ตลอดจนผลประโยชน์ต่างๆ ที่กองทุนรวมได้รับจากการลงทุน ณ เวลาขณะใดขณะหนึ่ง หักออกด้วยค่าใช้จ่าย และหนี้สินของกองทุนรวมนั้น ซึ่งโดยปกติแล้ว จะทำการคำนวณมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนตามราคาตลาด (Mark to Market) ในแต่ละวัน เพื่อให้สะท้อนถึงมูลค่าที่เป็นจริงตามสภาวะตลาดที่ได้เปลี่ยนแปลงไป สำหรับกรณีที่ทรัพย์สินนั้นไม่มีการซื้อขายเกิดขึ้นในวันที่ทำการคำนวณ ก็ให้ใช้ราคายุติธรรม หรือราคาเสนอซื้อครั้งสุดท้ายในการคำนวณแทน
ทั้งนี้ ทาง บลจ. จะเป็นผู้ทำการคิดคำนวณราคา NAV ขึ้นมา และเปิดเผยให้นักลงทุน ตลอดจนประชาชนทั่วไปได้รับทราบอย่างเป็นประจำและสม่ำเสมอ ในกรณีของกองทุนปิดก็จะประกาศให้นักลงทุนทราบทุกวันทำการสุดท้ายของสัปดาห์ สำหรับกรณีของกองทุนเปิดจะประกาศ ให้ทราบทุกวันทำการที่มีการซื้อขายหน่วยลงทุน โดยทำการประกาศ ณ ที่ทำการของบริษัทตัวแทนจำหน่าย และในหน้าหนังสือพิมพ์ธุรกิจอย่างน้อยหนึ่งฉบับ อย่างไรก็ตาม ราคาที่ประกาศให้ทราบนั้นจะแสดงอยู่ในรูปของมูลค่าต่อหน่วยลงทุน โดยนำเอาราคา NAV มาหารด้วยจำนวนหน่วยลงทุนที่ออกจำหน่ายแล้วทั้งหมด ซึ่งมูลค่าต่อหน่วยลงทุนนี้อาจสูงขึ้นหรือลดลงก็ได้ หากมูลค่าต่อหน่วยลงทุนลดลงน้อยกว่าราคาที่ได้ลงทุนเมื่อเริ่มแรก นักลงทุนก็จะอยู่ในฐานะขาดทุน ในทางกลับกัน หากมูลค่าต่อหน่วยลงทุนสูงขึ้นมากกว่าราคาที่ลงทุนเริ่มแรก นักลงทุนจะอยู่ในฐานะกำไร
นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่นักลงทุนควรจะรู้ก็คือ มูลค่าต่อหน่วยลงทุนที่ถูกประกาศให้ทราบนั้นจะเป็นมูลค่าที่คำนวณได้จากราคาตลาดของทรัพย์สินในวันก่อนหน้าวันที่ประกาศนั้นหนึ่งวันเสมอ ยกตัวอย่างเช่น
มูลค่าหน่วยลงทุนที่ประกาศในวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 25X1 จะเป็นราคาที่คำนวณได้ของวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 25X1 ดังนั้น หากนักลงทุนต้องการซื้อขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมนี้ในวันที่ 2 มีนาคม จะยังคงไม่ทราบราคาที่จะซื้อหรือขายหน่วยลงทุนได้ในวันนั้นทันที แต่ต้องรอไปทราบเอาจากราคาที่ประกาศในวันที่ 3 มีนาคมถัดไปอีกหนึ่งวัน เป็นต้น
สรุป
กองทุนรวม ต้องคำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของหลักทรัพย์และทรัพย์สินที่กองทุนรวมลงทุนไว้ทุกวันทำการ การคำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ และ มูลค่าต่อหน่วย จะกระทำตามขั้นตอน ดังนี้
คำนวณมูลค่าต่อหน่วย โดยการนำมูลค่าทรัพย์สินสุทธิมาหารด้วย จำนวนหน่วยลงทุนที่ออกจำหน่ายแล้วทั้งหมดของกองทุนนั้น
คำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ โดยการคำนวณมูลค่าหลักทรัพย์และทรัพย์สินที่กองทุนลงทุน ตามหลักการมูลค่ายุติธรรม (mark to market) กล่าวคือ ต้องคำนวณมูลค่าจากราคาปิด หรือราคาเสนอซื้อครั้งสุดท้าย (ถ้าหลักทรัพย์นั้นไม่มีการซื้อขายในวันนั้น) บวกกับ เงินสดและรายได้ค้างรับทั้งหมดที่มี หักด้วย หนี้สิน (ที่ยังไม่ได้ชำระราคา)
ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคา NAV
- การประเมินมูลค่าทรัพย์สินของกองทุน (Valuation of Investments) เนื่องจากราคา NAV เกิดจากการคำนวณมูลค่าทรัพย์สินที่อยู่ในการถือครองของกองทุน ณ เวลาขณะใดขณะหนึ่ง ซึ่งโดยปกติ ราคาที่ถูกนำมาใช้ประเมินนั้นอาจแตกต่างกันไป โดยหากเป็นตราสารทุนก็จะใช้ราคาปิดที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละวัน ซึ่งทราบได้จากประกาศของตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่หากเป็นตราสารหนี้ที่มีสภาพคล่องในการซื้อขายต่ำ และหาราคาปิดได้ยาก หรือกรณีที่ทรัพย์สินที่ลงทุนนั้นไม่มีราคาตลาด กองทุนรวมก็อาจต้องใช้ราคายุติธรรมตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นโดยสมาคมนักบัญชี และผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแห่งประเทศไทย หรือราคาเสนอซื้อครั้งสุดท้ายในการคำนวณแทน จึงส่งผลกระทบต่อราคา NAV ของกองทุนนั้นโดยตรง
- การซื้อ หรือขายทรัพย์สินของกองทุน (Purchase/ Sale of Securities) ซึ่งเกิดจากการตัดสินใจของผู้จัดการกองทุน แน่นอนว่า การซื้อเข้า และขายทรัพย์สินออกจากกองทุน ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อราคา NAV
- คุณภาพของทรัพย์สินของกองทุน (Quality of Securities) หากเป็นทรัพย์สินที่มีคุณภาพทำให้กองทุนได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้น ราคา NAV ก็จะสูงขึ้น ในทางกลับกัน หากทรัพย์สินนั้นทำให้ขาดทุน ราคา NAV ของกองทุนก็จะลดลง
- ผลตอบแทนที่ยังไม่ได้รับ (Unrealized Return) เช่น กำไร หรือขาดทุนที่เกิดขึ้นตีราคาทรัพย์สินตามมูลค่าตลาด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคา NAV โดยตรง
- หนี้สิน และค่าใช้จ่ายของกองทุน (Liabilities and Expenses) หากกองทุนมีหนี้สินและค่าใช้จ่ายสูง ราคา NAV ก็จะลดลง ในทางกลับกัน หากมีหนี้สินและค่าใช้จ่ายน้อย ราคา NAV ก็จะสูงขึ้น
- จำนวนหน่วยลงทุนที่จัดจำหน่าย และไถ่ถอน (Unit Sold and Redeemed) หากมีการจัดจำหน่ายหน่วยลงทุนเพิ่ม ราคา NAV ก็จะสูงขึ้น ในทางกลับกันหากมีการไถ่ถอนหน่วยลงทุน ราคา NAV ก็จะลดลง
- การจ่ายเงินปันผล (Dividend Distribution) หากกองทุนมีการจ่ายเงินปันผล ก็จะทำให้ราคา NAV ลดลง เนื่องจากเงินปันผลจะถูกจ่ายจากกำไรสะสม หรือกำไรสุทธิของกองทุนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของราคา NAV
“การลงทุน” คือ การที่เราใช้จ่ายเงินสดรูปแบบหนึ่งในปัจจุบัน โดยมุ่งหวังจะได้รับผลตอบแทนจากการใช้จ่ายนั้นในอนาคต ซึ่งผู้ลงทุนเชื่อว่าเงินสดหรือผลตอบแทน ส่วนเพิ่มที่จะได้รับคืนนั้น จะสามารถชดเชยระยะเวลา อัตราเงินเฟ้อ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างคุ้มค่า หรืออาจกล่าวได้ว่า
“การลงทุน” หมายถึง การออมเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่มากขึ้น ซึ่งเราจะต้องยอมรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน การตัดสินใจนำเงินออมมาลงทุน เราจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และศึกษาหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนตามที่คาดหวังไว้และเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการลงทุน
ในตลาดการเงินปัจจุบัน มีทางเลือกสำหรับการลงทุนให้เราเลือกมากมาย ทั้งสินทรัพย์ทางการเงิน (Financial Assets) ประเภทพันธบัตร หุ้นกู้ หุ้นทุนกองทุนรวมประเภทต่างๆ หรือ สินทรัพย์ที่จับต้องได้ (Tangible Assets) เช่น ทองคำ ที่ดิน อาคาร เพชรนิลจินดา เครื่องประดับ การมีความรู้ความเข้าใจในสินทรัพย์ที่จะลงทุน จึงมีความสำคัญต่อเรามาก การลงทุนโดยไม่มีความรู้ หรือไม่เข้าใจในเรื่องความเสี่ยงและทางเลือกในการลงทุนดีพอ ถือเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด
แหล่งที่มา เว็บไซต์ TSI, เว็บไซต์ให้เงินทำงานผ่านกองทุนรวม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น