ฟรีดอมเฮาส์ ขยับสื่อไทยจาก “ไม่เสรี” เป็น “เสรี” บางส่วน ชี้ปัจจัยลบยังมีอยู่ ทั่วโลกกระแสดีขึ้น เหตุเกิดปฏิวัติอาหรับปฏิรูปพม่า
ฟรีดอมเฮาส์ องค์กรส่งเสริมค่านิยมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนของสหรัฐ เปิดเผยผลการจัดอันดับเสรีภาพของสื่อมวลชนใน 197 ประเทศทั่วโลก ประจำปี 2555 ซึ่งเป็นการสะท้อนภาพรวมของสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี 2554 ผลปรากฏว่าประเทศไทยมีพัฒนาการที่ดีขึ้นจากปี 2554 โดยได้รับการเลื่อนสถานะจาก “ไม่เสรี” ขึ้นเป็น “เสรีบางส่วน”
การยกระดับสถานะดังกล่าว ทำให้อันดับความมีเสรีภาพของสื่อไทยได้รับการเลื่อนอันดับจากที่ 138 เมื่อปี 2554 ขึ้นสู่ที่ 132 ในปี 2555 ซึ่งเมื่อคำนวณออกมาเป็นคะแนนแล้วไทยได้ 60 คะแนน ขณะที่เมื่อปีก่อนได้ 62 คะแนน
“หลังจากที่ยกเลิก พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อปลายปี 2553 สื่อมวลชนสามารถรายงานข่าวสารได้ครอบคลุมและมีเสรีภาพมากขึ้น ถึงแม้ว่าการรายงานข่าวในสถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้จะยังคงถูกจำกัดอยู่ก็ตาม” รายงานของฟรีดอมเฮาส์ ระบุ
อย่างไรก็ตาม ฟรีดอมเฮาส์ ย้ำว่า เสรีภาพของสื่อไทยยังมีความน่ากังวลคือ สภาพแวดล้อมทางกระบวนการยุติธรรมที่ย่ำแย่ลง อาทิ การฟ้องร้องในประเด็นมาตรา 112 และการจัดตั้งองค์กรรัฐที่มีอำนาจในการสั่งระงับและปิดเว็บไซต์
ทั้งนี้ การจัดอันดับของฟรีมีดอมเฮาส์หลักเกณฑ์อยู่ว่ายิ่งได้คะแนนน้อยถือว่ามีเสรีภาพมาก สำหรับหลักเกณฑ์ที่นำมาใช้ชี้วัดคะแนนและจัดอันดับมี 3 หลักเกณฑ์ ได้แก่
- กฎหมายข้อบังคับที่ใช้ควบคุมสื่อ
- อำนาจและอิทธิพลในทางการเมืองและ
- เศรษฐกิจที่มีต่อสื่อในแต่ละประเทศ
สำหรับประเทศที่ได้อันดับ 1 จากการจัดอันดับมี 3 ประเทศ คือ ฟินแลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดน โดยได้ 10 คะแนนเท่ากัน ส่วนประเทศที่ถูกจัดอันดับให้อยู่ในกลุ่มที่แย่ที่สุดคือ เกาหลีเหนือ อิหร่าน อุซเบกิสถาน เบลารุส คิวบา กินี เอควาทอเรีย เอริเทรีย และเติร์กเมนิสถาน
แหล่งที่มา เว็บไซต์โพสทูเดย์ 02 พฤษภาคม 2555 เวลา 06:38 น.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น