วันพุธที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2554

10 วิธีเลือกซื้อบ้านประหยัดพลังงาน

บ้านประหยัดพลังงานนับว่าเป็นสิ่งที่เราไม่ควรมองข้าม เพราะปัจจุบันอากาศค่อนข้างร้อน ถ้าบ้านไม่ได้สร้างมาแบบประหยัดพลังงานก็จะทำให้เสียค่าไฟเป็นจำนวนมาก

วันนี้มีเคล็ดลับสำหรับคนที่กำลังสนใจเลือกซื้อบ้านประหยัดพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นบ้านมือหนึ่ง บ้านมือสอง บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ หรือทาวน์โฮม
การตกแต่งบ้านให้มีความเย็นและอยู่สบายสอดคล้องกับวิถีชีวิตในยุคปัจจุบัน โดยมีวิธีที่จะช่วยให้คุณเลือกซื้อบ้าน หรือจะสร้างบ้านให้ถูกใจ มีดังนี้

1. อย่าใส่แหล่งความร้อนในบ้าน
คือไม่ควรออกแบบลานพื้นคอนกรีตบริเวณที่จอดรถยนต์ในทิศทางรับแสงแดด เช่น ทิศใต้ ทิศตะวันตก เนื่องจากวัสดุก่อสร้างดังกล่าวจะสะสมความร้อนไว้ในเวลากลางวันในปริมาณมาก ทำให้สภาพแวดล้อมของบ้านและตัวบ้านมีอุณหภูมิสูงตามไปด้วย



2. รั้วบ้านต้องโล่ง โปร่ง สบาย
การทำรั้วบ้านของแต่จะหลัง หรือแต่ละโครงการจะไม่เหมือนกัน ดังนั้น ผู้ซื้อต้องสังเกตและใส่ใจว่า บ้านที่ซื้อนั้น รั้วบ้านเป็นอย่างไร ซึ่งรั้วบ้านก็เป็นส่วนหนึ่งเหมือนกันที่จะช่วยให้บ้านเย็น โดยรั้วบ้านต้องไม่ทึบตัน เนื่องจากผนังรั้วทึบจะกีดขวางการเคลื่อนที่ของลมเข้าสู่ตัวบ้านทำให้ พื้นที่ภายในบ้านอับลม

3. ต้นไม้ให้ร่มเงา
การปลูกต้นไม้ในบริเวณบ้าน นอกจากจะช่วยสร้างความร่มรื่น และความสดชื่นสบายตาสบายใจแก่ผู้อาศัยในบ้านแล้ว ใบไม้รูปทรงหลากสีสันที่แผ่กิ่งก้านสาขาในพื้นที่บริเวณบ้านยังสามารถลดแสงแดดที่ตกกระทบมายังตัวบ้าน และให้ร่มเงาที่ร่มเย็นแก่ผู้อยู่อาศัยได้เป็นอย่างดี และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ต้นไม้ ใบหญ้า ทั้งหลายที่มีประสิทธิภาพช่วยลดความร้อนที่อยู่ในสภาพแวดล้อม

4. ก่อนสร้าง อย่าลืมพื้นชั้นล่างปูแผ่นพลาสติก
บ้านพักอาศัยทั่วไปในปัจจุบันนี้ ทั้งชั้นล่างและชั้นบนมักติดตั้งเครื่องปรับ อากาศให้ความเย็นและลดความชื้นภายในพื้นที่กันเป็นจำนวนมาก การเตรียมการก่อสร้างในส่วนโครงสร้างพื้นชั้นล่างควรปูแผ่นพลาสติกเพื่อ ป้องกันความชื้นที่สามารถระเหยขึ้นมาจากผิวดิน เป็นผลให้มีการสะสมความชื้นภายในพื้นที่ห้องชั้นล่างของตัวบ้าน และเป็นที่มาของภาระการทำความเย็นของเครื่องปรับอากาศที่เพิ่มขึ้นในที่สุด

5.ควรหันบ้านให้ถูกทิศ (ลม-แดด-ฝน)
ซึ่งการออกแบบบ้านเรือนในประเทศไทย ไม่ควรหลงลืมปัจจัยพื้นฐานที่มีผลต่อการถ่ายเทความร้อนเข้าสู่ตัวบ้าน เพราะประเทศไทยจะได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์ทางทิศใต้เป็นเวลา 8-9 เดือน และมีมุมแดดต่ำทำให้ความร้อนเข้าสู่ตัวอาคารได้ง่ายขึ้น กันแสงแดดได้ยาก จึงทำให้ทิศตะวันตกและทิศใต้มีอิทธิพลจากแสงแดดรุนแรงเกือบตลอดทั้งปี การวางตำแหน่งบ้านและการออกแบบรูปทรงบ้านที่ดีต้องหลีกเลี่ยงการรับแสงแดดในทิศทางดังกล่าว นอกจากนี้ การวางผังบ้านและช่องหน้าต่าง จึงต้องคำนึกถึงทิศทางกระแสลมด้วย แต่หากพื้นที่ทางเข้า-ออกของบ้านกับถนนจำเป็นต้องสร้างบ้านที่รับแดดในทิศทางดังกล่าว ก็มีทางแก้โดยการติดตั้งกันสาดหรือต้นไม้ที่เหมาะสมก็ได้

6. การมีครัวไทยต้องไม่เชื่อมติดกับตัวบ้าน
เพราะการทำครัวไทย นอกจากจะได้อาหารที่มีรสเผ็ดร้อนถูกปากคนไทยแล้ว ยังก่อให้เกิดความร้อนสะสมขึ้นในครัวเรือนในปริมาณที่มาก อันเนื่องมาจากอุปกรณ์และกิจกรรมการทำครัวต่างๆ ความร้อนที่เกิดขึ้นในห้องครัวที่ติดกับตัวบ้านจะสามารถถ่ายเทเข้าสู่พื้นที่ใกล้เคียงได้อย่างรวดเร็ว และกรณีห้องที่ติดกันเป็นพื้นที่ปรับอากาศจะยังสิ้นเปลืองพลังงานในการทำความเย็นของห้องดังกล่าวมากขึ้นโดยไม่จำเป็น

7. ประตูหน้าต่างต้องมีทางลมเข้าออก
การระบายความร้อนภายในบ้านโดยใช้ลมธรรมชาติ ต้องมีช่องทางลมเข้าออก การวางตำแหน่งช่องหน้าต่างนั้น ต้องตอบรับทิศทางการเคลื่อนที่ของลมประจำด้วย ในการออกแบบให้ลมไหลผ่านตัวบ้านได้ดีนั้น มีข้อระวัง ได้แก่ ต้องติดตั้งมุ้งลวดเพื่อกรองฝุ่นละอองเกสรที่จะเข้าบ้าน และการติดช่องหน้าต่างในตำแหน่งเยื้องกันจะช่วยบังคับให้ลมไหลผ่านห้องต่างๆ ตามตำแหน่งที่ต้องการได้

8. ผังเฟอร์นิเจอร์ต้องเตรียมไว้ก่อน
ไม่ร้อน และประหยัดพลังงาน บ้านจัดสรรที่ดีควรมีการจัดวางผังเฟอร์นิเจอร์ในแต่ละห้อง แต่ละพื้นที่ในบ้านเพื่อความสะดวกในการจัดเตรียมตำแหน่งติดตั้งเต้ารับ หรือสวิตช์ไว้ล่วงหน้า และเพียงพอสำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ภายในบ้าน นอกจากนี้ การวางตำแหน่ง เฟอร์นิเจอร์ล่วงหน้า จะได้บอกว่าภายในห้องของบ้านมีจุดใดที่มีการกีดขวาง การเคลื่อนที่ของกระแสลมหรือไม่ และควรแก้ไขอย่างไร ซึ่งควรแยกอุปกรณ์ที่จะสร้างความร้อนนอกห้องปรับอากาศ เช่น ตู้เย็น เครื่องต้มน้ำ

9. อย่ามีบ่อน้ำหรือน้ำพุในห้องปรับอากาศ
คุณสมบัติทางอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศ คือการลดอุณหภูมิและความชื้น ทำให้พื้นที่ห้องต่างๆ อยู่ในภาวะที่สบาย ซึ่งการตกแต่งประดับพื้นที่ภายในห้องด้วยน้ำพุ น้ำตก อ่างเลี้ยงปลา หรือแจกันดอกไม้ และทำให้เครื่องปรับอากาศ ต้องใช้พลังงานในการลดความชื้นมากกว่าปกติ

10. ช่องระบายอากาศที่หลังคาพาคลายร้อน
หลังคาที่ดีนั้น นอกจากจะ สามารถคุ้มแดดคุ้มฝนได้ ยังต้องมีคุณสมบัติในการป้องกันความร้อนเข้าสู่ตัวบ้านได้อีกด้วย ภายในช่องว่างใต้หลังคาเป็นพื้นที่กักเก็บความร้อนที่แผ่รังสีมาจากแสงแดด ก่อนจะถ่ายเทเข้าสู่พื้นที่ในส่วนต่างๆ ภายในบ้าน ดังนั้น การออกแบบให้มีการระบายอากาศภายในหลังคาออกไปสู่ภายนอกได้ ไม่ว่าจะเป็นช่องลมบริเวณจั่วหลังคา หรือระแนงชายคาจึงเป็นเรื่องที่ดีต่อการลดความร้อน แต่มีข้อระวังคือ ต้องมีการติดตั้งตาข่ายป้องกันนก แมลง เข้าไปทำรังใต้หลังคาด้วย และต้องมีการป้องกันฝนเข้าช่องเปิดระบายอากาศด้วย

แหล่งอ้างอิง เว็บไซต์กองการศึกษา  เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...