วันอังคารที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

แผ่นปิดแผล : กาวไหมคุณค่าจากของเหลือทิ้ง

แผ่นเนื้อเยื่อปิดแผล ผลงานของ รศ.เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นชิ้นงานที่แสดงถึงความสามารถของนักวิจัยไทย ที่ยืนอยู่ระดับแถวหน้าในวงการวิจัยนานาชาติ เพราะเป็นรายแรกของโลกที่นำเซซิรีน หรือโปรตีนจากกาวไหมมากระตุ้นให้เนื้อเยื่อได้
  
กาวไหม คือ น้ำเหลือทิ้งจากการต้มรังไหม?  
คำอธิบายสำหรับแผ่นเนื้อเยื่อปิดแผล ให้นึกถึงพลาสเตอร์ที่ใช้ปิดกั้นกันเชื้อโรคเข้าไปในแผล ระหว่างที่ร่างกายสร้างเนื้อเยื่อทดแทน ซึ่งต้องใช้เวลานานพอควรแม้ในแผลเล็กๆ แต่แผ่นเนื้อเยื่อปิดแผลของ ดร.พรอนงค์ มีคุณสมบัติที่แตกต่าง ช่วยให้หายเร็ว เมื่อเทียบกับพลาสเตอร์ทั่วไปหรือแผ่นปิดแผลชั้นดีที่ขายในท้องตลาด ไม่ทำให้เกิดการแพ้หรือระคายเคือง สร้างหลอดเลือดเพิ่ม (neovascularization) และเพิ่มคอลลาเจนในบาดแผล ทำหน้าที่กระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อ แผลจึงหายเร็ว ทำให้เซลล์ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบน้อยกว่าการใช้พลาสเตอร์ทั่วไป โอกาสเกิดแผลเป็นก็ต่ำกว่า
  
ในกรณีแผลขนาดใหญ่ไฟไหม้ เนื้อเยื่อ ผิวหนัง เสียหายเป็นบริเวณกว้าง ร่างกายสร้างเนื้อเยื่อได้ยาก การรักษาต้องกรีดหรือตัดเนื้อเยื่อจากร่างกายส่วนอื่น เช่นที่แก้มก้นไปปลูกหรือสร้างทดแทน ทำให้ผู้ป่วยมีแผลเพิ่ม เพื่อรักษาแผลไฟไหม้ เสี่ยงต่อปัญหาอื่นเช่นการติดเชื้อและการบาดเจ็บ ลักษณะนี้ แผ่นเนื้อเยื่อปิดแผลจากกาวไหมของ ดร.พรอนงค์ ลดความยุ่งยากนั้น เพราะตัดการติดเชื้อได้เนื่องจากไม่ต้องเปิดแผลใหม่สร้างเนื้อเยื่อ แผ่นปิดแผลติดแล้วก็ไม่ต้องลอกออก ปิดครั้งเดียว จากนั้นกระบวนการสร้างเนื้อเยื่อจะขึ้นมาทดแทนและโปรตีนกาวไหมจะละลายไปเองใน 21 วัน
  
ผู้ได้รับบาดเจ็บไฟลวกเป็นบริเวณกว้างถึง 60% จากเหตุเพลิงไหม้สถานบันเทิงชื่อดังแห่งหนึ่ง นำไปใช้ พบว่าได้ผลดี จากการทดลองกับหนู พบว่า แผลหายเร็วในเวลาเท่ากัน การทดลองโดยติดกับผิวหนังอาสาสมัคร ซึ่งเป็นบุคคลทั่วไปที่ไม่มีแผล 112 คน เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ไม่พบการแพ้ และทดลองกับคนไข้ที่มีบาดแผลจริง 70 ราย ก็ได้ผลดีจริง ตามคุณสมบัติและตรงตามความคาดหมาย
  
แผ่นเนื้อเยื่อปิดแผลจากกาวไหม เป็นงานวิจัยที่ ดร.พรอนงค์ นำเอาคุณสมบัติของโปรตีนกาวไหม ที่มีเซริซีน (sericin) ตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นกรดอะมิโนสำคัญต่อร่างกาย ที่มีปริมาณสูงถึง 30% ทำให้แข็งตัวเป็นเจล แข็งแรงและยืดหยุ่นได้ตามอุณหภูมิการผลิตและสารประกอบร่วม มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ดูดซึมน้ำได้ดี จึงทำให้ผิวหนังชุ่มชื้น ใช้ปิดแผลก็เจ็บปวดน้อยลง ที่สำคัญเซริซีนยังกระตุ้นการสร้างเซลล์ไปพร้อมกับเพิ่มการยึดเกาะตัวกัน อันเป็นตัวการช่วยสร้างเนื้อเยื่อของมนุษย์ได้ การทดลองในหนูยังพบว่า ช่วยเพิ่มคอลลาเจน ไปกระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อให้แผลหายเร็วขึ้น
   
ถึงจะมีบทสรุปความสำเร็จด้วยดี ดร.พรอนงค์ยังคงต่อยอดงานวิจัยให้มีประสิทธิภาพขึ้นไปอีก ตั้งแต่การคัดเลือกสายพันธุ์ไหมไทยที่เหมาะสม และพบว่า สายพันธุ์จุล 1/1 มีคุณภาพที่สุด กระตุ้นการสร้างคอลลาเจนได้ดี แต่ลำพังโปรตีนกาวไหมอย่างเดียว เอามาใช้ทันทีไม่ได้ ต้องผสมกับโพลิเมอร์โพลีไวนีล แอลกอฮอล์ และผ่านกระบวนการฟรีซ-ดรายอิง หรือการทำให้เกิดการระเหิดด้วยความเย็น เพื่อรักษาคุณสมบัติสำคัญของโปรตีน  และแม้แผ่นเนื้อเยื่อที่ได้จะเป็นไปตามต้องการ มีความคงตัวดี แต่มีข้อด้อยตรงละลายน้ำได้ง่าย จึงต้องนำกระบวนการเชื่อมโยงข้าม โดยแช่แผ่นเนื้อเยื่อปิดแผลโปรตีนกาวไหมในแอลกอฮอล์ที่ความเข้มข้นหลายระดับ และที่สุดพบว่าความเข้ม 70 – 80 เปอร์เซ็นต์เหมาะมากที่สุด ได้แผ่นเรียบเนียนสม่ำเสมอ ความคงตัวและยืดหยุ่นดี มีรูพรุนพอเหมาะ ปลดปล่อยโปรตีนในระดับที่กระตุ้นการสร้างคอลลาเจนได้
   
สิ่งที่ ดร.พรอนงค์ต้องใส่ใจให้ความสำคัญลำดับถัดมา ก็คือ ต้องทำให้แผ่นเนื้อเยื่อปิดแผลเปียกชื้นตลอดเวลา เพราะถ้าขาดคุณสมบัตินี้ จะทำให้แผ่นเนื้อเยื่อหดตัว ไม่เรียบเนียน ระคายเคืองกับแผลได้
   
นอกจากนี้ ยังได้ทดลองใช่สารสกัดจากดอกพุด ที่เรียกเจเนพิน (genepin) มาเป็นสารเชื่อมโยงข้ามทางเคมี ก็ได้ผลดีเช่นเดียวกับแอลกอฮอล์ ทั้งๆ ที่เป็นของแห้ง ไม่จำเป็นต้องทำให้เปียกชื้น การคิดค้นวิจัยจนได้พบความวิเศษของโปรตีนจากกาวไหม เพื่อให้ได้แผ่นเนื้อเยื่อปิดแผลดังกล่าวนี้ นอกจากประโยชน์โดยตรงกับผู้ป่วยที่มีบาดแผล ใช้ได้ตั้งแต่แผลเล็กสุดขนาด 3x3 ซม.จนถึงขนาด 60 เปอร์เซ็นต์ของเนื้อที่ร่างกาย ยังจะช่วยประหยัดงบประมาณและค่าใช้จ่ายในการนำเข้าพลาสเตอร์ปิดแผล โดยรายงานของบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านอุปกรณ์ตกแต่งและรักษาบาดแผลระบุว่าในปี 2550 ประเทศไทย นำเข้าอุปกรณ์ปิดแผลถึง 400 ล้านบาท ไม่นับการนำเข้าผิวหนังเทียมจากประเทศญี่ปุ่น แผ่นละ 7,000 บาท ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย
   
ดร.พรอนงค์เปิดเผยว่า ต้นทุนการผลิตแผ่นเนื้อเยื่อปิดแผลกาวไหม แผ่นละ  250 บาท หรือคิดเป็น 3.6 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งถ้านำมาใช้อย่างจริงจังจะลดรายจ่ายโดยรวมของประเทศลงมิใช่น้อย
   
ผลพลอยได้อีกทางหนึ่งก็คือ จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กาวไหม ซึ่งเป็นของเหลือใช้ทางการเกษตร ให้กับแวดวงอุตสาหกรรมไหมไทยได้อีกด้วย
   
งานวิจัยชิ้นนี้ได้จดสิทธิบัตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ เผยแพร่ในวารสารทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ต่างประเทศ ทั้งยังมีบริษัทเอกชนจากต่างประเทศ เสนอขอซื้อสิทธิบัตรเพื่อนำผลิตจำหน่ายแล้ว

แหล่งที่มา   เว็บไซต์ GREEN

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...