วันศุกร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ผลสาธารณสุขอาเซียน 10 ประเทศ ครั้งที่ 11

ผลการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน 10 ประเทศ ครั้งที่ 11 ประสบผลสำเร็จ พร้อมจับมือพัฒนาสุขภาพประชากรอาเซียน หวังลดการเสียชีวิตของประชากรอาเซียนร้อยละ 60 ขณะที่เลขาธิการอาเซียน ย้ำการทำเขตการค้าเสรี เน้นคำนึงถึงความปลอดภัยสุขภาพ ทั้งเหล้า บุหรี่ อาหาร...

เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2555 นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน แพทย์หญิงไท คิม เตียน เหงียน (Dr.Thi Kim Tien Nguyen) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเวียดนาม และนายกัน คิม ยอง (Mr.Gan Kim Yong) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ ร่วมแถลงข่าวผลการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน 10 ประเทศ ครั้งที่ 11 ซึ่งจัดประชุมที่จังหวัดภูเก็ต โดยนายวิทยา กล่าวว่า การประชุมในช่วงเช้า ได้หารือปัญหาสุขภาพอย่างไม่เป็นทางการ และช่วงบ่ายเป็นการประชุมอย่างเป็นทางการ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาสุขภาพหลักและพัฒนาระบบริการสาธารณสุขของประเทศอาเซียน วาระการประชุมวันนี้ มี  5 ประเด็น  ได้แก่
  1. การเข้าถึงบริการของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เพื่อลดความรุนแรงและโรคแทรกซ้อน   
  2. การควบคุมบุหรี่ – สุรา โดยเฉพาะมาตรการเรื่องภาษี ข้อตกลงการค้าเสรี การห้ามทำ CSR ของบริษัทบุหรี่/สุรา และการควบคุมบุหรี่เถื่อน
  3. การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
  4. การลดปัญหาโรคเอดส์ และ
  5. ความร่วมมือการสร้างเครือข่ายการฝึกอบรมด้านระบาดวิทยาภาคสนาม ซึ่งไทยเป็นผู้ริเริ่ม

นายวิทยา กล่าวต่อว่า ผลการประชุมประสบผลสำเร็จอย่างดี รัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน 10 ประเทศ ต่างเล็งเห็นปัญหาสุขภาพ และจะมีความร่วมมือเพื่อพัฒนาสุขภาพประชาชนในอาเซียนอย่างจริงจัง ใน 4 ประเด็น ได้แก่ 
  1. การร่วมผลักดันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไปสู่การประชุมผู้นำสูงสุดของประเทศ ได้แก่ ในเวทีอาเซียนซัมมิท (ASEAN Summit) และสมัชชาสหประชาชาติ การจัดตั้งเครือข่ายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในอาเซียนบวก 3 คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี โดยไทยรับเป็นประเทศหลัก 
  2. การร่วมกันดำเนินการอย่างเข้มแข็งตามข้อตกลงสหประชาชาติเรื่องโรคไม่ติดต่อ ภายใต้ตัวชี้วัดและเป้าหมายที่กำหนดจากองค์การอนามัยโลก ทั้งนี้มุ่งเน้นทั้งมาตรการที่ดำเนินการเฉพาะบุคคล ครอบครัว และมาตรการที่มีผลทางสังคมที่กำหนดพฤติกรรมสุขภาพ รวมทั้งตกลงให้มีเครือข่ายการควบคุมการบริโภคสุราในอาเซียน
  3. การร่วมมือกันดำเนินการอย่างเข้มแข็งและจริงจังในการบรรลุข้อตกลงด้านการควบคุมโรคเอดส์ให้เข้าสู่การเป็นศูนย์ หรือ Triple Zero targets คือ ไม่มีการกีดกันผู้ติดเชื้อ ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ และไม่มีคนตายจากโรคเอดส์ 
  4. การร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งในการดำเนินการจัดการปัญหาโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ รวมทั้งโรคที่สำคัญอื่นๆ โดยเฉพาะโรคไข้เลือดออก ไข้มาลาเรียดื้อยา โดยเน้นการรณรงค์กำจัดรากของปัญหา การจัดหาและการใช้ยา รวมทั้งการพัฒนาเครือข่ายนักระบาดวิทยาในอาเซียนที่ไทยเป็นหลักด้วย

นายวิทยา ยังกล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังได้ให้ความสำคัญกับผลกระทบด้านสุขภาพ หลังจากที่เข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางสังคมและการเมือง ผลกระทบที่ตามมาจะทำให้ประชากรในภูมิภาค สินค้าต่างๆ และทุน จะเดินทางเข้าสู่ประเทศต่างๆ ได้อย่างเสรี กระทรวงสาธารณสุขแต่ละประเทศ จะต้องร่วมมือกันสร้างระบบสุขภาพที่ดีที่สุดและปลอดภัยที่สุดทั้งของประเทศตัวเองและในอาเซียน การรวมพลังกันจะแก้ปัญหาได้อย่างทันที แทนที่จะต่างคนต่างทำ

ทางด้าน ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน กล่าวว่า การสร้างประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ.2558 ส่วนหนึ่งจะทำให้เกิดความร่ำรวย ซึ่งจะทำให้เกิดโรคชนิดหนึ่งที่เรียกว่าโรคจากวิถีชีวิตเปลี่ยนหรือโรคไม่ติดต่อ ซึ่งมี 4 โรคได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคปอดและเบาหวาน โดยในอาเซียนมีรายงานเสียชีวิตจากทุกโรคปีละ 4 ล้านคน โดย 2.5 ล้านคนหรือ ประมาณร้อยละ 60 ของการเสียชีวิตทั้งหมดเป็นจากโรคไม่ติดต่อ สาเหตุเกิดจากการไม่ออกกำลังกาย การดื่มสิ่งที่เป็นพิษต่อร่างกาย การสูบบุหรี่ อาเซียนต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เนื่องจากการบูรณาการเศรษฐกิจเข้าหากันแต่ละประเทศจะเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพ ฉะนั้นในการทำตลาดการค้าเสรี จะต้องเป็นการค้าเสรีที่ปลอดภัยด้วย ทั้งเหล้า บุหรี่ อาหาร

แหล่งที่มา   เว็บไซต์ไทยรัฐ 6 กรกฎาคม 2555, 10:24 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...