วันศุกร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

5 ธันวาคม วันดินโลก


จากการประชุม องค์การเกษตรและอาหารแห่งสหประชาชาติ  ครั้งที่ 144 ระหว่างวันที่ 11-15 มิถุนายน 2555 ณ สำนักงานใหญ่องค์การเกษตรและอาหารแห่งสหประชาชาติ กรุงโรม ประเทศอิตาลี ที่ประชุมได้มีมติสนับสนุนและร่วมกันผลักดันให้มีการจัดตั้ง “วันดินโลก” (World Soil Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี ไว้ภายใต้องค์การสหประชาชาติ (UN) เพื่อให้วันดังกล่าวเป็นที่รู้จักแพร่หลายในระดับนานาชาติเกิดความต่อเนื่องและจริงจังในการรณรงค์ด้านทรัพยากรดินในทุกระดับ

พร้อมทั้งสนับสนุนและส่งเสริมให้ UN จัดกิจกรรมเป็นการเฉพาะต่างๆ อาทิ การประกาศให้ปี ค.ศ. 2015 หรือปี พ.ศ. 2558 เป็น “ปีดินสากล” ตามที่ FAO และสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ และสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงโรม นำเสนอประเด็นดังกล่าวเกี่ยวกับบทบาทและความสำคัญของทรัพยากรดินที่มีต่อความมั่นคงทางอาหารของโลก

สำหรับวันดินโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีนั้น จะตรงกับวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงนับเป็นการสดุดีพระเกียรติคุณในระดับนานาชาติ ตามที่พระองค์ทรงให้ความสำคัญด้านการบริหารจัดการทรัพยากรดิน และทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่สนับสนุนการบริหารจัดการดินอย่างต่อเนื่อง จนเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน รวมทั้งเป็นที่ยอมรับอย่างเป็นรูปธรรมทั้งในประเทศและนานาประเทศ จนได้รับทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล “นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยชาติ” พระองค์แรกของโลก เมื่อเดือนเมษายน 2555 ที่ผ่านมาจากสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ

ทั้งนี้ ประเทศสมาชิก ขององค์การเกษตรและอาหารแห่งสหประชาชาติ จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าบรรจุไว้ในการประชุม องค์การสหประชาชาติ ครั้งที่ 67 ในเดือนกันยายน2555 ณ นครนิวยอร์ก ซึ่งนับเป็นการร่วมเฉลิมฉลองและถวายพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม 2555 นี้ ด้วย

สำหรับที่มาของการจัดตั้งวันดินโลกนั้น เริ่มต้นมาจากการที่เมื่อปี ค.ศ. 2002 หรือ 10 ปีที่แล้ว สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ ได้เสนอให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันดินโลก แต่ยังไม่ได้บรรจุไว้ในระบบงานของ UN ดังนั้น หากมีการยอมรับอย่างเป็นทางการจาก UN จะนำไปสู่การทำกิจกรรมหรือรณรงค์อย่างจริงจังทั่วโลก

เนื่องจากทรัพยากรดินเป็นปัจจัยหลักสำคัญเริ่มต้นของการเพาะปลูกและผลิตพืชอาหารและพืชพลังงาน อีกทั้งดินยังเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่สามารถนำกลับมาทดแทนใหม่ได้หากเสื่อมสลายไป ซึ่งปัจจุบันมีการทำลายทรัพยากรดิน การใช้พื้นที่ดินผิดประเภท มีการพังทลายและเสื่อมโทรมของทรัพยากรดินเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ดังนั้น การปกป้องรักษาและการจัดการทรัพยากรดินอย่างถูกต้องและเหมาะสม โดยการมุ่งใช้ทรัพยากรดินของโลกให้เกิดความยั่งยืนและมีความอุดมสมบูรณ์ทั้งระบบชีววิทยา จะนำไปสู่รากฐานที่สำคัญของความมั่นคงทางอาหารของประชากรโลกในปัจจุบันและอนาคตทีเดียว

แหล่งที่มา    เว็บไซต์เดลินิวส์ วันศุกร์ที่ 6 กรกฎาคม 2555 เวลา 00:07 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...