วันศุกร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2555

เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร 13 หลัก

เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2555 ที่ผ่านมา อธิบดีกรมสรรพากร นายสาธิต รังคสิริ ได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลและผู้จ่ายเงินได้ซึ่งมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย มีและใช้เลขประจำตัวในการปฏิบัติการตามประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 3) โดยกำหนดให้ผู้เสียภาษีสรรพากรทุกประเภท ทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดา คณะบุคคล บริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ใช้เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร 13 หลัก แทนเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร 10 หลัก ที่ใช้อยู่เดิม ในการยื่นแบบแสดงรายการ การชำระภาษี การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย การติดต่อราชการกับกรมสรรพากร รวมทั้งการจัดทำเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การจัดทำใบกำกับภาษี การจัดทำใบเสร็จรับเงิน เป็นต้น โดยในการกำหนดใช้เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร 13 หลักนั้น ได้แบ่งการใช้ออกตามประเภทของผู้เสียภาษีอากร ดังนี้
  1. ผู้เสียภาษีประเภทบุคคลธรรมดา ให้ใช้เลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ที่กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยออกให้ เป็นเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร
  2. ผู้เสียภาษีประเภทนิติบุคคลไทย หรือนิติบุคคลต่างประเทศ ที่ต้องจดทะเบียน หรือขออนุญาตกับ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ให้ใช้เลขทะเบียนนิติบุคคลที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ออกให้ เป็นเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร
  3. ผู้เสียภาษีที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ ตามข้อ 1 และข้อ 2 ให้ใช้เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร 13 หลัก ที่กรมสรรพากรออกให้

ทั้งนี้ โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในทางปฏิบัติ ผู้ประกอบการได้มีการจัดพิมพ์เอกสารหลักฐานทางภาษีอากรโดยใช้เลขประจำตัว 10 หลักไปก่อนแล้ว แต่ยังใช้ไม่หมด

 ดังนั้นกรมสรรพากรจึงได้ผ่อนปรนให้ผู้เสียภาษีสามารถใช้หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ใบกำกับภาษี ใบรับและใบส่งของ ที่จัดพิมพ์ไว้แล้วโดยใช้เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรเดิมต่อไปได้จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2556
วิธีการแก้ไขเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ใบกำกับภาษี ใบรับและใบส่งของ อาจกระทำได้ดังนี้

1. การแก้ไขเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ออก พร้อมกับลงลายมือชื่อผู้ออกใบกำกับภาษีกำกับการแก้ไข หรือ
2. การแก้ไขเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ออก ด้วยวิธีการประทับตรายางที่อยู่ที่ถูกต้องเพิ่มเติม

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นางจิตรมณี สุวรรณพูล โฆษกกรมสรรพากรกล่าวต่อไปว่า “การใช้เลขประจำตัว 13 หลักดังกล่าว เป็นการเชื่อมโยงข้อมูลการเริ่มต้นธุรกิจระหว่างหน่วยงานกรมสรรพากร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และสำนักงานประกันสังคม เพื่อการใช้ฐานข้อมูลเดียวกัน เป็นการลดขั้นตอนในการติดต่อขอเลขประจำตัวในการประกอบธุรกิจ ทำให้ผู้ประกอบการ นักธุรกิจได้รับความสะดวกรวดเร็วขึ้น”

แหล่งที่มา   เว็บไซต์เดลินิวส์ วันอังคารที่ 14 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา 00:00 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...