วันเสาร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

10 อันดับประเทศหนี้มากที่สุดในโลก

         นอกจากประเทศกรีซที่กำลังเผชิญกับวิกฤติหนี้ สมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) อีกหลายประเทศ ต่างก็กำลังเผชิญกับสภาวะหนี้สินมหาศาลเช่นกัน ล่าสุด ประเทศใหญ่ในยุโรป อย่างเช่น อิตาลี โปรตุเกส สเปน ก็เพิ่งถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือลง หรือแม้กระทั่งมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก ทั้งสหรัฐอเมริกา เยอรมนี ญี่ปุ่น ต่างก็พบกับสภาพหนี้ล้นประเทศกันถ้วนหน้า ทำให้หลายประเทศต้องออกมาตรการในยับยั้งค่าใช้จ่ายทั้งภายนอกและภายใน อันจะนำมาซึ่งการก่อหนี้ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มภาษีในการใช้จ่ายสินค้า ตลอดจนตัดค่าจ้างแรงงานเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นต้น

          ในการนี้ เว็บไซต์ 24/ วอลล์สตรีท ได้จัด 10 อันดับประเทศที่เผชิญกับภาวะหนี้สินมากที่สุด โดยใช้ข้อมูลส่วนใหญ่ในปี 2554 ซึ่งพบว่า หลายประเทศมีระดับหนี้สูงมากเมื่อเทียบกับจีดีพีที่ถูกกระทบจากภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลกอันเนื่องมาจากภาวะการว่างงานในระดับสูง และความสามารถในการผลิตที่ลดลง โดยผลการจัดอันดับมีดังนี้

ธงชาติญี่ปุ่น ( Nipponnokokki) หรือ
รู้จักในชื่อ นิชโชกิ (Nisshki) หรือชื่อ
ฮิโนะมะรุ (Hinomaru)
 1. ญี่ปุ่น
          ญี่ปุ่นมีสัดส่วนหนี้คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 233.1 เปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพี ซึ่งสูงที่สุดในหมู่ชาติพัฒนาแล้ว แต่แม้ปริมาณหนี้จะมหาศาล แต่ญี่ปุ่นก็สามารถบริการจัดการได้ ไม่ให้ซ้ำรอยกับกรีซและโปรตุเกส เนื่องจากญี่ปุ่นมีอัตราการว่างงานในระดับต่ำ และเจ้าหนี้พันธบัตรรัฐบาล 95 เปอร์เซ็นต์เป็นชาวญี่ปุ่นเอง ไม่ใช่ชาวต่างชาติ ขณะที่หนี้ภาครัฐอยู่ที่ 13.7 ล้านล้านดอลลาร์ จีดีพี อยู่ที่ 5.88 ล้านล้านดอลลาร์ มีอัตราการว่างงานเพียง 4.6 เปอร์เซ็นต์


 2. กรีซ
          ก่อนหน้านี้ กรีซขอรับความช่วยเหลือทางการเงินไปแล้วครั้งหนึ่ง แต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ล่าสุดเอเธนส์ มีสัดส่วนหนี้ที่คิดเป็นร้อยละ 168.2 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี เพิ่มจากเมื่อปี 2553  ส่วนตัวเลขหนี้ของรัฐบาลเอเธนส์อยู่ที่ 4.89 แสนล้านดอลลาร์ มูลค่าจีดีพีอยู่ที่ 3.03 แสนล้านดอลลาร์ และมีอัตราว่างงานสูงถึง 19.2 เปอร์เซ็นต์

 3. อิตาลี
          อิตาลีมีสัดส่วนหนี้ที่คิดเป็นร้อยละ 120.5 เปอร์เซ็นต์ ของจีดีพี โดยปัญหาหนี้ มาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของอิตาลี ซึ่งจีดีพีเติบโตเพียง 1.3 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2553 จนอิตาลีต้องประกาศมาตรการรัดเข็มขัดเมื่อปลายปีที่แล้ว ส่วนหนี้ของรัฐบาลอิตาลีอยู่ที่ 2.54 ล้านล้านดอลลาร์ มูลค่าจีดีพีอยู่ที่ 2.2 ล้านล้านดอลลาร์ และมีอัตราว่างงานที่ 8.9 เปอร์เซ็นต์
 4. ไอร์แลนด์
          ครั้งหนึ่งไอร์แลนด์เคยมีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งที่สุดในกลุ่มสหภาพยุโรป มีอัตราเติบโตของจีดีพีเฉลี่ยสูงมากและมีอัตราว่างงานต่ำสุดในหมู่ชาติอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้ว จนกระทั่งเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย เศรษฐกิจไอร์แลนด์ก็เริ่มหดตัว จนถึงปี 2553 ล่าสุด ไอร์แลนด์ มีสัดส่วนหนี้ที่คิดเป็นร้อยละ 108.1 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี มีหนี้ภาครัฐ 2.25 แสนล้านดอลลาร์ มูลค่าจีดีพีอยู่ที่ 2.17 แสนล้านดอลลาร์ และอัตราว่างงาน 14.5 เปอร์เซ็นต์

 5. โปรตุเกส

          โปรตุเกสได้รับผลกระทบหนักจากสภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจเมื่อปี 2554 โดยได้ขอรับเงินช่วยเหลือจากอียูและไอเอ็มเอฟไปแล้ว 1.04 แสนล้านดอลลาร์ ปัจจุบัน โปรตุเกส  มีสัดส่วนหนี้ที่คิดเป็นร้อยละ 101.6 เปอร์เซ็นต์ ของจีดีพี มีหนี้ภาครัฐ 2.57 แสนล้านดอลลาร์ มีมูลค่าจีดีพี 2.39 แสนล้านดอลลาร์ และอัตราว่างงานอยู่ที่ 13.6 เปอร์เซ็นต์


 6. เบลเยี่ยม
          ในปี 2554 เบลเยี่ยมถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลด้านเงินทุนจากระดับ Aa1 เป็น Aa3 และในเดือนมกราคมปีนี้ เบลเยี่ยมถูกบังคับให้ลดค่าใช้จ่าย เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดวิกฤติการณ์หนี้ที่เกิดขึ้นมากับชาติอื่นในยูโรโซนก่อนหน้านี้ ล่าสุด เบลเยี่ยมมีสัดส่วนหนี้ ที่คิดเป็นร้อยละ 97.2 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี  ทั้งนี้ ไอร์แลนด์เคยมีอัตราหนี้ต่อจีดีพีสูงถึง 135 เปอร์เซ็นต์ เมื่อปี 2536 และค่อย ๆ ลดเหลือ 84% ในปี 2550 แต่ภายใน 4 ปีต่อมาก็กลับเพิ่มเป็น 95% เบลเยี่ยมมีหนี้ภาครัฐ 4.79 แสนล้านดอลลาร์ มูลค่าจีดีพีอยู่ที่ 5.14 แสนล้านดอลลาร์ และมีอัตราว่างงาน 7.2 เปอร์เซ็นต์

 7. สหรัฐอเมริกา
          รัฐบาลสหรัฐฯ มีหนี้เฉลี่ยในปี 2001 อยู่ที่ 45.6 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี แต่ผ่านไปหนึ่งทศวรรษสหรัฐฯมีค่าใช้จ่ายมากขึ้นตัวเลขหนี้จึงเพิ่มสูงขึ้นเป็น 85.5 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ก็ยังถูกจัดอันดับว่ายังเป็นประเทศที่มีการเงินที่น่าเชื่่อถืออยู่ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สหรัฐอเมริกา ขณะนี้มีสัดส่วนหนี้ 85.5% เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี มูลค่าจีดีพีอยู่ที่ 15.13 ล้านล้านดอลลาร์ และอัตราว่างงานอยู่ที่ 8.3% เปอร์เซ็นต์

 8. ฝรั่งเศส
          ฝรั่งเศสก็เป็นหนึ่งในประเทศใหญ่ที่ถูกสถาบันการเงิน Standard & Poor’s ลดเกรดทางเศรษฐกิจจาก AAA ลงมาเหลือ AA+ อย่างไรก็ตาม Moody's ยังคงจัดอันดับให้อยู่ใน Aaa แต่ก็มีภาพลักษณ์ที่แย่ลง มีสัดส่วนหนี้คิดเป็นร้อยละ 85.4 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี มีหนี้ภาครัฐอยู่ที่ 2.26 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่มูลค่าจีดีพีอยู่ที่ 2.76 ล้านล้านดอลลาร์ สูสีกับอังกฤษ และมีอัตราว่างงาน 9.9 เปอร์เซ็นต์

 9. เยอรมนี
          เยอรมนี เป็นประเทศที่เป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดและแข็งแกร่งที่สุดในสหภาพยุโรป มีบทบาทสำคัญในการสร้างเสถียรภาพให้แก่ยูโรโซนทั้งหมด รวมถึงให้เงินช่วยเหลือแก่กรีซในปี 2553 แต่แม้จะมีเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง เยอรมนีมีสัดส่วนหนี้ 81.8 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศพัฒนาแล้วด้วยกัน มีหนี้ภาครัฐ 2.79 ล้านล้านดอลลาร์ มีมูลค่าจีดีพี 3.56 ล้านล้านดอลลาร์ และมีอัตราว่างงาน 5.5 เปอร์เซ็นต์ ถือเป็นระดับต่ำสุดในยุโรป

 10. อังกฤษ

          แม้ว่าอังกฤษจะเป็นประเทศที่มีอัตราส่วนหนี้ต่อจีดีพีมากที่สุดในบรรดาประเทศที่พัฒนาแล้วที่  80.9% ของจีดีพี แต่อังกฤษก็มีการจัดการที่ดีที่สามารถสร้างเสถียรภาพให้แก่เศรษฐกิจของชาติตนได้ อาจด้วยความที่อังกฤษไม่ได้อยู่ในสหภาพยุโรป ซึ่งความอิสระนี้เองช่วยป้องกันอังกฤษจากการเผชิญภาวะวิกฤติการณ์หนี้ที่ชาติยุโรปเจอกันในขณะนี้ สำหรับหนี้ของรัฐบาลอังกฤษอยู่ที่ 1.99 ล้านล้านดอลลาร์ มีมูลค่าจีดีพี 2.46 ล้านล้านดอลลาร์ และมีอัตราว่างงาน 8.4 เปอร์เซ็นต์

แหล่งที่มา   เว็บไซต์กระปุกดอทคอม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...