วันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

“วังสระปทุม” นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า เป็นสถานที่สำคัญแห่งพระราชวงศ์และแห่งชาติ ด้วยเป็นพระตำหนักที่ประทับของสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๙ ตราบจนเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ และได้เป็นที่ประทับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีในเวลาต่อมา สมควรที่จะจัดเป็นพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติ แสดงพระราชกรณียกิจอันเป็นแบบอย่างอันดีงามแห่งการดำรงชีวิตที่อำนวยประโยชน์สุขแก่คนหมู่มาก

เมื่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานวังสระปทุมให้เป็นที่ประทับสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงระลึกถึงพระราชปรารภแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงจัดการตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้นสนองพระราชดำริ เพื่อเป็นแหล่งศึกษาพระราชกรณียกิจแห่งสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งมูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าขึ้นเมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ เพื่อดำเนินการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ดังกล่าว และจัดกิจกรรมต่างๆ สืบสานแนวพระราชดำริสืบมาจนถึงปัจจุบัน

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปในการเปิดพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ณ พระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม ในวันพุธที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑

สถานที่ตั้งพิพิธภัณฑ์ วังสระปทุม เลขที่ ๑๙๕ ถนนพญาไท แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ ๑๐๓๓๐
โทรศัพท์ ๐๒-๒๕๒-๑๙๖๕-๗ โทรสาร ๐๒-๒๕๒-๑๙๖๐
ประตูทางเข้าพิพิธภัณฑ์อยู่ใกล้กับโรงแรมสยาม เคมปินสกี้ กรุงเทพมหานคร
มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า บริหารจัดการ

รายละเอียดการเข้าชมพิพิธภัณฑ์
เปิดให้เข้าชมระหว่างเดือนธันวาคม - มีนาคม ของทุกปี ในวันจันทร์ - เสาร์ เวลา ๑๐.๐๐ - ๑๖.๐๐ น.
การเข้าชมพิพิธภัณฑ์ฯ ควรทำการนัดหมายล่วงหน้า ติดต่อนัดหมายและขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ ๐๒-๒๕๒-๑๙๖๕-๗

*กรุณาแต่งกายสุภาพ สตรีสวมกระโปรงหรือผ้าซิ่น ห้ามใส่กางเกงขาสั้นและเสื้อไม่มีแขน

ค่าเข้าชม
ผู้ใหญ่ ๑๕๐.๐๐ บาท
นักเรียน/นักศึกษา ๕๐.๐๐ บาท

การเดินทาง ท่านสามารถเดินทางมาชมพิพิธภัณฑ์ได้สะดวกหลายทาง
- รถไฟฟ้าบีทีเอส ลงสถานีสยาม
- รถประจำทางสาย ๑๕, ๒๕, ๔๐, ๕๔, ๗๙, ๒๐๔, ๕๐๑ และ ๕๐๘
- รถยนต์ส่วนตัว จอดรถได้ที่อาคารจอดรถสยาม หรืออาคารจอดรถศูนย์การค้าสยามพารากอน

*หากท่านจอดรถที่อาคารจอดรถสยาม กรุณาแสดงบัตรเข้าชมพิพิธภัณฑ์พร้อมบัตรจอดรถ ที่เคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์สยามเซ็นเตอร์/สยามดิสคัฟเวอรี่เซ็นเตอร์

*หากท่านจอดรถที่อาคารจอดรถศูนย์การค้าสยามพารากอน กรุณาแสดงบัตรเข้าชมพิพิธภัณฑ์พร้อมบัตรจอดรถ ที่เคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ชั้นจี (G) ฝั่งนอร์ท เยื้องร้านอาหารโทนี่ โรม่าส์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน

*ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจอดรถเป็นเวลา ๔ ชั่วโมง
 
ร้านจำหน่ายอาหารว่างและของที่ระลึก และกิจกรรมฝึกอบรม 
พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้ามีร้านจำหน่ายอาหารว่างและของที่ระลึก เปิดให้บริการระหว่างเดือนธันวาคม - มีนาคม ของทุกปี ในวันจันทร์ - เสาร์ เวลา ๙.๓๐ - ๑๖.๓๐ น.

ในวันเสาร์มีกิจกรรมฝึกอบรมการทำอาหาร งานฝีมือ และท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม

การจัดแสดงพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า 
การจัดแสดงแบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ

๑. หอนิทรรศการ จัดแสดงนิทรรศการ เรื่อง สายธารประวัติสว่างวัฒน์พิพิธภัณฑสถานซึ่งประกอบไปด้วยพระราชประวัติสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และนิทรรศการการบูรณะซ่อมแซมพระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม

๒. พระตำหนักใหญ่ เป็นพระตำหนักที่ประทับของสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๙ ตราบจนเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. ๒๔๙๘ เล่ากันว่าสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงคิดผังพระตำหนักด้วยพระองค์เอง ทรงใช้ไม้ขีดไฟบ้าง หางพลูบ้าง ทำเป็นผัง แล้วจึงทรงให้สถาปนิกออกแบบถวายตามพระราชประสงค์ คาดว่าพระตำหนักใหญ่น่าจะสร้างแล้วเสร็จในช่วง พ.ศ. ๒๔๕๗ - ๒๔๕๘

การจัดแสดงพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ณ พระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม ได้จัดห้องต่างๆ ไว้เป็น ๓ ช่วงเวลา คือ

ช่วงที่ ๑ เป็นช่วงของการสร้างพระตำหนักแล้วเสร็จ และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์(สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) เสด็จฯ กลับจากต่างประเทศมาประทับอยู่ ซึ่งจัดแสดงในห้องพิธีและห้องรับแขก ช่วงนี้ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญอันเป็นมงคลยิ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย กล่าวคือ ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีอภิเษกสมรสระหว่างสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ กับ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ครั้งยังทรงเป็นนางสาวสังวาลย์ ตะละภัฏ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ มาพระราชทานน้ำสังข์ ณ พระตำหนักใหญ่ เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๓

ช่วงที่ ๒ เป็นช่วงที่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ ทรงเสกสมรสและมีพระราชธิดาแล้วหนึ่งพระองค์ ทรงพาครอบครัวเสด็จฯ กลับจากประเทศอังกฤษ และมาประทับอยู่ที่วังสระปทุมอีกวาระหนึ่ง การจัดสิ่งของเครื่องใช้ในห้องแสดงของพิพิธภัณฑ์ฯ ในช่วงนี้ได้แก่ ห้องเทาและห้องทรงพระอักษร

ช่วงที่ ๓ จัดแสดงในห้องทรงพระสำราญ ห้องทรงนมัสการ และห้องพระบรรทม เป็นช่วงเวลาที่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์มีพระราชโอรสเพิ่มขึ้นอีก ๒ พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการแพทย์ เสด็จฯ กลับจากสหรัฐอเมริกาพร้อมครอบครัว

นอกจากนี้บริเวณ “เฉลียงพระตำหนักใหญ่ชั้นบน” ในช่วงปลายพระชนม์ชีพ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า โปรดที่จะประทับตรงเฉลียงชั้นบนหน้าห้องพระบรรทมซึ่งปัจจุบันจัดเป็นห้องทรงนมัสการ เมื่อทรงตื่นบรรทมแล้วจะเสด็จออกมาประทับที่เฉลียงตลอดทั้งวัน เสวยพระกระยาหาร ณ ที่นี้ด้วย บริเวณนี้มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ชาติไทยอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีซึ่งเป็นพระราชกรณียกิจสำคัญสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า คือ ทรงเป็นประธานในพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

“ห้องนิทรรศการ” จัดแสดงเอกสารและของใช้ส่วนพระองค์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

“เจ๊กตู้” เจ๊กหาบตู้ขายของมีป๋องแป๋งแกว่งเพื่อบอกให้รู้ว่ามา สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าโปรดให้เข้าไปขายในวังสระปทุมเป็นปกติ เพราะมีของถูกๆ แปลกๆ ให้พระราชนัดดาทั้ง ๓ พระองค์ได้ทรงเลือกซื้อ

แหล่งที่มา   เว็บไซต์มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...