ร่องรอยอารยธรรมสมัยรัชกาลที่ 1 ใช่ว่าจะสูญหายไปกับกาลเวลา บริเวณเชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ จะมีป้อมรักษาพระนคร 1 ใน 2 ป้อม สุดท้ายที่ยังหลงเหลืออยู่ นั่นคือ ป้อมมหากาฬ
เดิมที รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างป้อมปราการขึ้น 14 แห่ง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ป้อมต่างๆ ไม่ได้รับการใช้งานจึงถูกเสนอให้รื้อถอนไปทีละป้อม จนเหลือเพียง 2 ป้อมสุดท้าย นั่นคือ ป้อมมหากาฬ และ ป้อมพระสุเมรุ
กว่าจะเป็นป้อมมหากาฬ ในปัจจุบันนี้ รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้เกณฑ์คนมาช่วยขุดก่อกำแพงรอบพระนคร และเกณฑ์ไพร่พลไปรื้อกำแพงเมืองอยุธยา กำแพงเมืองธนบุรี เพื่อนำมาก่อเป็นกำแพงป้องกันพระนคร โดยเริ่มสร้างในปี 2326
ลักษณะเด่น เป็นป้อม 3 ชั้น ตัวป้อมชั้นบนสุดเป็นหอทรงแปดเหลี่ยม กำแพงป้อมล้อมรอบ 2 ชั้นเป็นแบบใบเสมาเหลี่ยมมีบันไดทางขึ้น มีประตูทางเข้า 1 ประตู หลังคาโครงไม้มุงกระเบื้อง 2 ชั้น ลักษณะเสมือนฝาชี ด้านชั้นล่างป้อมจะมีปืนใหญ่ตั้งประจำตามช่องเสมา
ปี 2492 กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ป้อมมหากาฬไม่ได้มีเพียงประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ แต่เป็นจุดกำเนิด "ชุมชนป้อมมหากาฬ" ซึ่งเป็นแหล่งอาชีพดั้งเดิมของคนไทย อาทิ ศิลปหัตถกรรม เครื่องปั้นดินเผา สำคัญที่สุดคือ เป็นต้นกำเนิดคณะลิเกยุคบุกเบิกของไทยอีกด้วย
แหล่งที่มา นสพ. M2F วันศุกร์ที่ 3 ก.พ. 55 (079)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น