“ก่อนจะถึงรุ่งสางที่สายลมแรง” ขอเชิญชวนทุกท่านชื่นชมความสวยงามของดอกไม้ในสวนรุกขชาติแม่ฟ้าหลวง สวนที่หลายคนมองข้ามเมื่อมาถึงดอยตุง จ.เชียงราย สวนรุกขชาติแม่ฟ้าหลวงอยู่สูงขึ้นไปจากไร่แม่ฟ้าหลวงประมาณ 30 นาที ที่จุดสูงสุดของเทือกเขาดอยตุงระดับความสูง 1,520 ม. จากระดับน้ำทะเล ด้านในสวนได้รวบรวมพันธุ์ไม้หายาก โดยเฉพาะกุหลาบพันปีจากนานาประเทศทั้งในเอเชีย ยุโรป อเมริกาเหนือ และออสเตรเลีย โดยในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. ดอกกุหลาบพันปีจะบานต้อนรับนักท่องเที่ยว แต่ดูท่ามันจะเสียใจเล็กน้อย เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าชมแต่ละวันถือว่าน้อย ถ้าเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่ไร่แม่ฟ้าหลวงด้านล่าง แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องดีสำหรับนักท่องเที่ยวที่มา เพราะมีโอกาสถ่ายภาพกับดอกไม้โดยไม่ติดคนอื่น
ในสวนรุกขชาติมีจุดที่น่าสนใจหลายจุด ทั้งจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก จุดชมวิวเชียงราย จุดแบ่งเขตไทย-ลาว และแปลงดอกไม้ขนาดใหญ่เกือบทุกบริเวณ ใครที่อยากได้ข้อมูลเกี่ยวกับดอกไม้และประวัติที่แห่งนี้ ขอให้ตามหาลุงพิชัย วิเศษพุทธศรี ลุงแกจะดูแลดอกไม้ตั้งแต่พื้นที่ปลายอุโมงค์จนถึงสุดเขตประเทศไทย ลุงพิชัยจะยินดีให้ข้อมูลทุกอย่างที่ลุงทราบ และพาไปชมดอกไม้หายาก ต้นกร่างอายุ 1,500 ปี ที่ขนย้ายมาจากพื้นที่ที่เป็นถนนสายเชียงราย-แม่สายในปัจจุบัน ท่อส่งน้ำใต้ดิน รวมไปถึงเขตสันปันน้ำไทย-ลาว ที่ต้องให้ลุงพิชัยพาไป เพราะไม่มีป้ายปักบอกอาณาเขต สุดท้ายก่อนจากลุงพิชัยไป อย่าลืมขอถ่ายภาพร่วมกับลุงทุกคนจะได้เห็นท่าโพสอย่างในภาพ
จากสวนรุกขชาติแม่ฟ้าหลวงถึงคราวเดินทางต่อไปให้ทันตะวันตกดินที่ดอยผาตั้ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาดอยผาหม่น สูงจากระดับน้ำทะเล 1,800 ม. รถยนต์สามารถขึ้นไปเกือบถึงจุดชมวิวแล้วต้องเดินเท้าต่ออีกระยะ เรียกเหงื่อได้พอสมควร บนดอยมีจุดที่ห้ามพลาดคือ ผาบ่อง หรือประตูสยามสู่ลาว เป็นช่องหินขนาดใหญ่พอให้คนเดินลอดได้ และช่องเขาอยู่ในแนวหน้าผาพอดี ทำให้มองเห็นประเทศลาวและแม่น้ำโขงที่พาดตัวผ่านช่องเขา
เมื่อตะวันลับไปแล้ว ดอยผาตั้งจะหนาว ลมแรง และมืดลงทันที ทำให้การเดินขาลงลำบากถ้าไม่มีแสงไฟนำทาง ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยควรเตรียมไฟฉายติดตัวไปด้วย ที่พักแถวดอยผาตั้งหาได้ตามรายทาง แต่ถ้าใครต้องการไปตามตะวันพ้นดินที่ภูชี้ฟ้าในวันถัดไป แนะนำให้ไปหาที่พักแถวภูชี้ฟ้าจะสะดวกกว่าในตอนเช้าที่ต้องตื่นแต่เช้าไต่เขาขึ้นภูชี้ฟ้า
ก่อนขึ้นภูชี้ฟ้าสิ่งที่ต้องเตรียมไปคือ เสื้อกันหนาว ไฟฉาย กล้องถ่ายรูป และขาตั้งกล้อง จากตีนเขาขึ้นไปยังยอดภูมีระยะทางประมาณ 700 ม. ทางเดินขึ้นค่อนข้างสะดวก เพราะได้ทำเป็นทางเดินไว้แล้ว ความลาดชันไม่ค่อยมาก สามารถค่อยๆ เดินขึ้นไปได้ไม่ลำบากนัก ก่อนถึงยอดภูจะมีลานที่คนมักจะไปปักหลักถ่ายรูปพระอาทิตย์ขึ้นและยอดภูชี้ฟ้า ณ จุดนี้ข้อควรระวังคือ ห้ามเดินไปถึงหญ้า เพราะบริเวณนั้นคือทางลาดลงเขาไปแล้ว
ในตอนเช้าภูชี้ฟ้าจะมีสายลมหนาวที่แรง ถ้าใครตั้งกล้องถ่ายภาพก็ต้องวางให้มั่น เพราะไม่เช่นนั้นสายลมอาจพัดให้ขาและตัวกล้องล้มได้ และหากใครไม่ใส่เสื้อกันหนาวมาแนะนำให้หาที่นั่งหลังโขดหินที่สามารถบังลมได้ ไม่เช่นนั้นคุณจะทรมานกับสายลมหนาวที่จะแรงตลอด แม้ว่าพระอาทิตย์จะขึ้นแล้วก็ตาม
บนยอดภูชี้ฟ้าช่วงหน้าหนาวประมาณเดือน ธ.ค.-ก.พ. จะมีนักท่องเที่ยวขึ้นไปมาก แต่ไม่ว่าจะมากแค่ไหนก็ไม่ควรข้ามเสาไม้ที่ทางวนอุทยานกั้นเอาไว้ เพราะวันใดที่หมอกหนาจัด แล้วคุณข้ามเสากั้นนี้ไป คุณอาจตกภูโดยไม่รู้ตัว
การดูพระอาทิตย์ขึ้นต้องรอดูจนกว่าพระอาทิตย์พ้นภู เพราะช่วงนี้แสงอาทิตย์จะส่องให้ทะเลหมอกด้านล่างเป็นหมอกสีทอง และทุ่งหญ้าที่ขึ้นตามภูเขาจะเป็นสีทองด้วยเช่นกัน ทำให้ภูชี้ฟ้าเมื่อต้องแสงตะวันสวยงามยิ่งนัก
นอกจากนี้ ทาง ททท.เชียงราย ยังฝากประชาสัมพันธ์งานดอกเสี้ยวบาน ณ ภูชี้ฟ้า ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 ก.พ.ของทุกปี บริเวณลานกิจกรรมหมู่บ้านร่มฟ้าไทย โดยจะมีกิจกรรมการแสดงของชนเผ่าม้ง อาข่า และอิวเมี่ยน หรือเย้า เช่น การประกวดธิดาดอกเสี้ยว การยิงหน้าไม้ การเล่นลูกข่างชาวเขา การโยนลูกช่วงของหนุ่มสาวชาวม้ง และการแรลลีภูเขา เป็นโอกาสอันดีที่คู่รักจะไปฉลองและพิสูจน์ความรักกันที่ภูชี้ฟ้า (รักหรือไม่รักก็พิสูจน์กันตอนลำบากนี่แหละ)
ห่างจากภูชี้ฟ้าไปทาง ต.ยางฮอม อ.ขุนตาล ระยะทางประมาณ 18 กม. จะถึงดอยพญาพิภักดิ์ หรือภูหลงถัง บนยอดดอยเป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นและทะเลหมอกที่สวยงามจุดหนึ่งโดยไม่ต้องเดินเท้า และในวันที่ไม่มีหมอกสามารถเห็นภูชี้ฟ้าและดอยผาตั้งได้จากจุดนี้ ในบริเวณใกล้เคียงมีสระน้ำที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ชาวบ้านเรียกว่า สระมังกร เพราะมีความเชื่อว่ามีมังกรอาศัยอยู่ และ ณ สถานที่แห่งนี้มีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจและเป็นเกียรติประวัติแก่ที่แห่งนี้มาก
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2525 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมทหารและพสกนิกรชาว อ.เทิง และอำเภอใกล้เคียงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯประทับรอยพระบาทของพระองค์ลงบนปูนปลาสเตอร์ เพื่อเป็นมิ่งขวัญแก่ทหารกล้าที่สู้รบกับขบวนการก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ แต่รอยพระบาทไม่ได้ประดิษฐานอยู่ที่ภูหลงถัง สถานที่ที่พระองค์ทรงทำการประทับรอยพระบาทกลับถูกนำไปประดิษฐานที่ศาลารอยพระบาท ค่ายเม็งรายมหาราช จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่สิ่งของไม่ได้อยู่ในสถานที่ที่ควรอยู่ สิ่งที่ภูหลงถังมีอยู่เป็นเพียงรูปถ่ายในกรอบทองเท่านั้น
และใน อ.ขุนตาล มีพื้นที่ปลูกกุหลาบ สินค้าเกษตรที่ปลูกขายในตัวเมืองเชียงรายในช่วงวันวาเลนไทน์ แต่ปีนี้โชคไม่เข้าข้าง เกิดเหตุพายุลูกเห็บตกหนักเมื่อต้นเดือน ม.ค. ทำลายแปลงกุหลาบเสียหายหลักแสน และทำให้ต้นกุหลาบออกดอกไม่มากพอเหมือนปีก่อนๆ แต่แม้ว่าจะขาดทุนเจ้าของแปลงกุหลาบก็ไม่ขึ้นราคา ราคาขายกุหลาบหน้าแปลงดอกละ 5 บาท แต่เมื่อเข้าถึงช่วงวาเลนไทน์จะเพิ่มราคาเป็นดอกละ 10 บาท ทุกสีราคาเดียว ดังนั้นใครที่ซื้อกุหลาบให้แฟนดอกละเป็นร้อยในวันวาเลนไทน์ ถ้ามันไม่ใช่ดอกกุหลาบเมืองนอก ก็แปลว่าคุณถูกโก่งราคาขึ้น 10 เท่า
เส้นทางเที่ยวตามตะวันไม่ว่าจะขึ้นหรือตกมีเอกลักษณ์ความงามของตัวมันเอง และแต่ละวันความพิเศษก็ต่างกันด้วย จึงไม่น่าแปลกว่าทำไมมันถึงดึงดูดคนให้อยากเข้าใกล้และเก็บภาพไว้เป็นความทรงจำ
ในความคิดของฉัน ตะวันดวงเดิมในวันใหม่มันสวยงามกว่าเมื่อวาน เพราะมันคือตะวันของชีวิตที่ยังมีอยู่ และตะวันที่ลับไปในแต่ละวันมันก็คือ อนิจจังที่ทำให้รู้ว่าเวลาชีวิตของเราหมดไปอีกวันแล้ว ซึ่งฉันก็คิดว่าคนใต้ตะวันอย่างฉันคงคิดเหมือนฉันทุกคน
ททท.เชียงราย เสนอเส้นทางเที่ยวสามภูในหนึ่งวัน ได้แก่ ภูชี้ฟ้า ภูผาตั้ง และภูหลงถัง มีเส้นทางการเดินทางดังนี้ จาก จ.เชียงราย ใช้เส้นทางเชียงราย-เทิง ระยะทาง 64 กม. และจากเทิง-บ้านปี้ ระยะทาง 6 กม. เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 1155 ผ่านบ้านปางค่า บ้านเชงเม้ง เป็นทางลาดยางถึงภูชี้ฟ้าระยะทาง 42 กม. หรือใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1021 สายเทิง-เชียงคำ-บ้านฮวก ก่อนถึงเชียงคำ 6 กม. มีทางแยกไปอุทยานแห่งชาติน้ำตกภูชางอีก 19 กม. แล้วเดินทางต่อไปยังภูชี้ฟ้าอีก 30 กม.
จากวนอุทยานภูชี้ฟ้าเดินทางต่อไปยังภูผาตั้งใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1903 ผ่านบ้านร่มฟ้าทองระยะทาง 25 กม. เป็นถนนลาดยาง และจากภูผาตั้งเดินทางต่อไปยังภูหลงถังสามารถใช้เส้นทางเดิม (1903) เดินทางต่อไปยังบ้านปางหัดระยะทาง 12 กม. จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 1155 ระยะทาง 21 กม. ถึงทางขึ้นภูหลงถังและเดินทางต่อไปอีก 5 กม. ถึงจุดชมวิวภูหลงถัง เป็นทางลาดยางและบางช่วงมีความสูงชันมาก
ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวภูชี้ฟ้า โทร. 053-189-111 เทศบาลตำบลยางฮอม โทร. 053-606-223 ททท.สำนักงานเชียงราย โทร. 053-717-433
รอยพระบาทแห่งสันติสุข ต.ยางฮอม อ.ขุนตาล จ.เชียงราย
จากสถานการณ์ก่อการร้านในพื้นที่ จ.เชียงราย ปี พ.ศ. 2497 พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ได้ส่งผู้ปฏิบัติงานจำนวนหนึ่งเข้าสู่ทางภาคเหนือของไทย เพื่อแสวงหาแนวร่วมพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวไทยภูเขาที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดนใน จ.เชียงราย และน่าน รวมทั้งพื้นที่ชายแดนด้านจ.พะเยาในปัจจุบันบางส่วน
ภายหลังจากการปลุกระดมชาวไทยภูเขาบางพื้นที่ได้สำเร็จในปี พ.ศ. 2507 พคท.ได้คัดเลือกแนวร่วมบางส่วนส่งไปอบรมวิชาการเมืองและการทหารเป็นรุ่นแรกที่เมืองฮิวมันต์ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เพื่อนำวิชากลับมาปฏิบัติงานและเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ เมื่อสามารถขยายเขตงานได้อย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง พคท.จึงเปิดฉากต่อสู้ด้วยอาวุธกับเจ้าหน้าที่รัฐในภาคเหนือเป็นครั้งแรกที่บ้านน้ำปาน ต.นาไร่หลวง อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2510 ถือว่าเป็นวันเสียงปืนแตก การต่อสู้รุนแรงขึ้นตามลำดับ จนถึงวันที่ 9 พ.ค. 2510 ที่บ้านชมพู ต.ยางฮอม เกิดการปะทะกันในเขตพื้นที่ดอยยาว-ดอยผาหม่น
นับตั้งแต่ พ.ศ. 2521 พคท.สามารถตั้งถิ่นฐานที่มั่นคงในภาคเหนือได้ถึง 9 แห่ง และฐานที่มั่นคงที่สำคัญแห่งหนึ่งคือ ฐานที่มั่นดอยยาว-ดอยผาหม่น พคท.ได้จัดตั้งคณะทำงานโดยใช้ชื่อว่า คณะกรรมการ จ.เชียงราย เพื่อเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ พื้นที่ดอยยาว-ดอยผาหม่น เป็นพื้นที่ควบคุมของเขตงาน 8 ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ อ.เทิง และเชียงของ รวมทั้งที่ อ.เวียงแก่น และขุนตาลปัจจุบัน
กองกำลังติดอาวุธของ พคท.ในขณะนั้นมีประมาณ 600 คน มวลชนส่วนใหญ่เป็นชาวม้ง ความเคลื่อนไหวของกองกำลังและมวลชนคือ ขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐบาล จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2524 กองพันทหารราบที่ 473 ภายใต้แกนนำของ พ.ท.วิโรจน์ ทองมิตร ผู้บังคับกองพัน ถูกส่งกำลังเข้าปราบปรามผู้ก่อการร้านคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ดอยยาว-ดอยผาหม่น หลายยุทธการด้วยกัน ยุทธการที่สำคัญคือ ยุทธการเกรียงไกร (วีรกรรมเนิน 1188) บนดอยพญาพิภักดิ์ ส่งผลให้ พคท.ล่มสลายไปในที่สุด
และด้วยพระบารมีปกเกล้าฯ แห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯ พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ไปทรงเยี่ยมทหารและราษฎร ณ ฐานปฏิบัติการพญาพิภักดิ์ อ.เทิง และใกล้เคียง ในวันที่ 27 ก.พ. 2525
ในโอกาสอันเป็นมิ่งมงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประทับรอยพระบาทลงบนแผ่นปูนปลาสเตอร์ตามคำกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตของ พ.ท.วิโรจน์ ทองมิตร ณ ที่ศาลาบนดอยพญาพิภักดิ์ เพื่อเป็นมิ่งขวัญแก่ทหารหาญและพสกนิกร ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความสันติสุขตลอดไป
แหล่งที่มา เว็บไซต์โพสทูเดย์ โดย...กาญจน์ อายุ 4 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา 07:14 น.
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ตอน 37 ลาก่อนทองแดง
ตอน 36 อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...
-
ใครที่นึกเบื่อตลาดติดแอร์ แต่ชื่นชอบตลาดเปิดท้ายรวมถึงของขายแบกกะดินราคาถูก หรือร้านขายตามล็อกหลากหลายแนว มาทอดน่องช็อปให้เพลินที่ "ต...
-
การจ่ายเงินรายได้ไม่ครบถ้วน ว่าจริงๆ แล้วเงินที่ทางผู้จ้างได้จ่ายให้ผู้รับจ้างไม่ครบนั้น เพราะว่าทางผู้จ้างได้หักภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ซ...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น