การคำนวณทางคณิตศาสตร์ระบุไว้ว่า ในช่วงขอบเขตของปัญหาๆ หนึ่ง
คำตอบที่เป็นไปได้อาจมีมากมายจนนับไม่ถ้วน แต่จะมีเพียงคำตอบบางคำตอบเท่านั้นที่ให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
นักคณิตศาสตร์เรียกค่าเหล่านี้ว่า ค่าที่ดีที่สุด (Optimal)
ทว่าในการแก้โจทย์ปัญหาจริงๆ แล้ว ค่าที่ดีที่สุดอาจหาได้ไม่ง่ายนัก หรือบางครั้งก็ไม่สามารถหาค่าที่ดีที่สุดได้เลยก็เป็นได้ เพราะผลจากการคำนวณอาจเผยให้เห็นค่าที่ดีที่สุดหลายๆ ค่า ที่มีลักษณะใกล้เคียงกันจนไม่สามารถชี้ชัดไปได้ว่าค่าใดกันแน่ที่เป็นค่าที่ดีที่สุด
นักคณิตศาสตร์เปรียบเปรยการคำนวณเพื่อค้นหาจุดที่ดีที่สุด (Optimal Point) เอาไว้ว่าเหมือนกับการปีนเขา ที่บางครั้งเราก็ไม่อาจรู้ได้ว่าเมื่อไหร่จะปีนขึ้นไปถึงยอดเขา
หรือเมื่อเดินทางไปถึงจุดที่คิดว่าเป็นยอดเขาแล้ว จะแน่ใจได้อย่างไรว่าจุดนั้นคือยอดเขาที่แท้จริง เพราะไม่มีใครมายืนชี้ว่าที่นี่คือยอดเขา
และแม้บางครั้งที่ปีนขึ้นไปถึงจุดที่คิดว่าใช่ที่สุดแล้ว เราก็อาจจะมองเห็นยอดเขาที่สูงมากกว่ารออยู่ข้างหน้า
เมื่อการค้นหาจุดที่ดีที่สุดมาถึงทางตันที่ไม่สามารถค้นหาจุดที่ดีที่สุดได้อีกต่อไป หรือว่ามีจุดที่ดีใกล้เคียงกันหลายจุด จนไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าจุดใดคือคำตอบที่ใช่กันแน่
นักคณิตศาสตร์มักใช้เงื่อนไขหยุดค้นหาจุดที่ดีกว่า (Stopping Criteria) และถือว่าจุดที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นจุดที่ดีที่สุดแล้ว เนื่องว่าหากเดินหน้าค้นหาต่อไป แม้จะพบจุดใหม่ๆ เพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่สามารถล่วงรู้ได้ว่าจะใช้เวลาในการค้นหานานเท่าใด
ที่สำคัญเราไม่อาจรู้ได้ว่า จุดใหม่ที่ค้นพบนั้นจะดีกว่าจุดเดิมหรือไม่ รวมทั้งคุ้มค่าแก่ทรัพยากรที่ทุ่มเทลงไปในการค้นหามากน้อยเพียงไร
ชายหนุ่มคิดว่าชีวิตคนเราก็เหมือนกับนักคณิตศาสตร์ ที่กำลังเดินหน้าค้นหาผลลัพธ์ที่ดีที่สุดในสมการชีวิต เพราะคนส่วนใหญ่ย่อมใฝ่ฝันที่จะเดินทางไปยืนอยู่บนจุดที่ดีที่สุดในชีวิตให้ได้
คำถามคือ แล้วจุดที่ดีที่สุดนั้นอยู่ตรงไหน?
บ้างก็บอกว่าจุดที่ดีที่สุดของชีวิต คือการมีเงินทองมากมายใช้ไม่หมดสิ้น เพื่อให้ชีวิตสบายไม่ต้องลำบาก
หลายคนจึงพยายามทำงานหามรุ่งหามค่ำ ขวนขวายดิ้นรนหาเงินทองมาสะสมเท่าที่เรี่ยวแรงจะเอื้ออำนวย เพื่อให้ไปถึงความร่ำรวยที่ฝันไว้
แต่คำถามหนึ่งก็ยังไม่ได้รับคำตอบ “มีเงินแค่ไหนถึงจะพอ?”
บ้างก็ว่าจุดที่ดีที่สุดของชีวิตอยู่ที่การมีเกียรติยศชื่อเสียง มีผู้คนให้การเคารพนับถือมากมาย ใครบางคนจึงพยายามสั่งสมสิ่งเหล่านั้นให้มากเท่าที่จะมากได้อย่างไม่จบสิ้น
คำถามที่มีก็ยังคงไร้คำตอบเช่นเดิม “มีเกียรติยศชื่อเสียงเท่าไหร่ถึงจะพอ?”
เมื่อคำถามที่ว่า เมื่อไหร่จะเดินทางถึงจุดที่ดีที่สุดยังไม่ได้รับคำตอบ หลายคนจึงมักทุกข์ร้อนไปกับการออกเดินตามหาจุดที่ดีที่สุดอย่างไม่มีวันสิ้นสุด
เพราะเมื่อเดินทางไปถึงจุดที่คิดไว้ว่าเป็นจุดที่ดีที่สุดแล้ว ก็มักจะมองเห็นจุดที่ดีมากกว่าอยู่ถัดไป และทำให้ต้องออกเดินทางไปยังจุดๆ นั้นต่อไป
กระทั่งวันที่จะลาจากเส้นทางชีวิต ใครหลายคนก็ยังไม่อาจตอบได้ว่า ได้เดินทางไปถึงจุดที่ดีที่สุดหรือยัง
เมื่อการดำเนินชีวิตของคนเราไม่ต่างอะไรกับนักคณิตศาสตร์ที่กำลังแก้ไขสมการตัวเลข การทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อค้นหาผลลัพธ์ที่ดีที่สุดให้ได้จึงเป็นเรื่องที่ควรทำ
เพราะหากเราไม่ทุ่มพลังไปกับการแก้ไขแล้ว ผลลัพธ์ที่ได้รับกลับมาอาจเป็นเพียงผลลัพธ์ที่ไม่ดีนัก ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง หากเพิ่มความพยายามอีกเพียงเล็กน้อย ก็อาจจะได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่านี้หลายเท่าตัว
ทว่าขณะเดียวกันในการทุ่มเทพลังเพื่อค้นหาผลลัพธ์นั้น เมื่อถึงจุดหนึ่งก็อาจต้องใช้เงื่อนไขของการหยุดค้นหาจุดที่ดีกว่า และถือว่าจุดที่มีอยู่คือจุดที่ดีที่สุดแล้ว
หากยังวิ่งห้อไปข้างหน้าโดยไม่รู้จักกับคำว่าพอเพียงแล้ว ความสุขที่ควรจะได้รับจากผลลัพธ์ที่พบเจอในชีวิต ก็คงหายไปเหลือเพียงแต่ความทุกข์เดือดเนื้อร้อนใจว่าเมื่อไหร่จะพบเจอจุดที่ดีที่สุดของชีวิตเสียที
ใครบางคนนิยามการเดินทางค้นหาผลลัพธ์ที่ดีที่สุดของชีวิตไว้อย่างน่าสนใจว่า “ไปให้สุดแล้วหยุดที่คำว่าพอ”
ใครคนนั้นบอกว่ารักจะทำอะไรแล้วก็เทไปให้สุด เดินไปข้างหน้าให้เต็มที่ แต่วันหนึ่งต้องรู้จักพอเป็น หยุดเป็น เพื่อชีวิตจะได้ไม่ถลำลงไปในบางสิ่งบางอย่างมากเกินควรจนไม่อาจถอนตัวขึ้นมาได้
จุดที่ดีที่สุดสำหรับชีวิตคนคนหนึ่งอาจมีมากมายแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกเอานิยามอะไรมากำหนดให้จุดเหล่านั้นเป็นจุดที่ดีที่สุดสำหรับชีวิต
ในการเดินทางตามหาจุดที่ดีที่สุดของชีวิต จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพกเอาความรู้จักพอติดตัวไปด้วย และต้องกล้าล้วงเอาความพอเพียงนั้นออกมาหยุดตัวเองไว้ให้ได้เมื่อถึงจุดที่ควรจะพอ
หากพอใจกับจุดที่ยืนอยู่ เราก็จะเกิดความรู้สึกสุขใจ แต่หากค้นหาอย่างไม่รู้จักพอ แม้จะกำลังยืนอยู่บนยอดเขา เราก็ไม่อาจมองเห็นได้ว่าตัวเราได้ยืนอยู่บนจุดที่ดีที่สุดของชีวิตแล้ว
เพราะเราจะมัวแต่เงยหน้ามองหาจุดที่สูงกว่าอยู่ร่ำไป
แหล่งที่มา เว็บไซต์โพสทูเดย์ โดย..ณศักต์ อัจจิมาธร 5 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา 09:45 น.
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ตอน 37 ลาก่อนทองแดง
ตอน 36 อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...
-
ใครที่นึกเบื่อตลาดติดแอร์ แต่ชื่นชอบตลาดเปิดท้ายรวมถึงของขายแบกกะดินราคาถูก หรือร้านขายตามล็อกหลากหลายแนว มาทอดน่องช็อปให้เพลินที่ "ต...
-
การจ่ายเงินรายได้ไม่ครบถ้วน ว่าจริงๆ แล้วเงินที่ทางผู้จ้างได้จ่ายให้ผู้รับจ้างไม่ครบนั้น เพราะว่าทางผู้จ้างได้หักภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ซ...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น