วันอังคารที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2555

มหกรรมยางทั่วไทย 26-28 เมษายน 55

นับวันอุตสาหกรรมยางพาราไทย ยิ่งเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง สังเกตจากพื้นที่ปลูกยางพาราที่กำลังขยายตัวในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกครอบคลุมไม่น้อยกว่า 18.3 ล้านไร่ มีมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมปีละกว่า 670,000 ล้านบาท แต่ขณะเดียวกันระบบการผลิตยางพาราเริ่มมีภัยแฝงเข้าคุกคาม สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร ได้เร่งกระตุ้นเกษตรกรผู้ปลูกยางให้เห็นความสำคัญของปัญหา พร้อมหยิบยกผลงานวิจัยเป็นกุญแจช่วยคลี่คลายปัญหาเพื่อขจัดภัยคุกคามออกจากระบบผลิตยางพารา เพื่อสร้างความมั่นคงให้อุตสาหกรรมยางพาราไทยและเกษตรกร    ยืนหยัดอยู่ได้ยาวนาน...

นายสุจินต์ แม้นเหมือน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่าระหว่างวันที่ 26-28 เมษายน 2555 นี้ สถาบันวิจัยยางกำหนดจัดงาน มหกรรมยางทั่วไทย “เร่งบริบทงานวิจัย...ขจัดภัยมืดยางพารา” ขึ้นที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกระบี่ อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง ตระหนักถึงภัยที่กำลังคุกคามการผลิตยางพาราไทยหลากหลายรูปแบบ อาทิ การเปิดกรีดยางต้นเล็ก การโฆษณาชวนเชื่อให้ใช้สารเคมีเพื่อเพิ่มผลผลิตน้ำยางและใช้ปุ๋ยเร่งการเจริญเติบโต การเติมสิ่งปลอมปนต่าง ๆ ลงในน้ำยางเพื่อเพิ่มน้ำหนัก การปลูกยางในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม และโรคระบาดในยางพารา เช่น โรครากขาว ซึ่งล้วนเป็นปัญหาสำคัญที่บั่นทอนศักยภาพการผลิตยางพาราไทยที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ขณะเดียวกันยังเป็นการเผยแพร่ผลงานวิจัยยางพาราของสถาบันวิจัยยางที่สำเร็จแล้ว พร้อมถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีไปสู่เกษตรกร ไม่ว่าจะเป็น ยางพาราพันธุ์ใหม่ ที่ให้ผลผลิตน้ำยางและเนื้อไม้สูง วิธีการดูแลรักษาและจัดการสวนยาง การป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูยาง การปลูกพืชคลุมยาง การแปรรูปยาง ตลาดยางพารา ตลอดจนการป้องกันและขจัดภัยมืดต่าง ๆ ของยางพารา ซึ่งเกษตรกรสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตยางพาราได้จริง และทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน ในงานนี้ มีการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับยางพาราที่น่าสนใจหลายหัวข้ออีกด้วย


นอกจากนั้น ผู้ที่เข้าร่วมงานยังจะได้ ชมนิทรรศการศูนย์เรียนรู้ยางพารา พร้อมเข้าร่วม เสวนาเกี่ยวกับศูนย์เรียนรู้ยางพารา โดยจะเปิดเวทีให้เกษตรกรผู้นำศูนย์เรียนรู้ยางพาราจาก 15 ศูนย์ทั่วประเทศ และผู้สนใจได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานของแต่ละศูนย์ฯ รวมถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรสมาชิกศูนย์ฯ เพื่อนำไปปรับใช้ในพื้นที่ของตนเอง และในวันที่ 26 เมษายน กรมวิชาการเกษตรมีแผน ที่จะเปิด ศูนย์เรียนรู้ยางพาราแบบมีส่วนร่วมของเกษตรกรแห่งใหม่เพิ่มอีก 1 ศูนย์ ในจังหวัดกระบี่  เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของเกษตรกรในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงผู้สนใจทั่วไป สามารถเข้ามาเรียนรู้ด้านการผลิตยางพาราแบบครบวงจร และนำความรู้ที่ได้ประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพต่อไป

...โอกาสเดียวกันนี้ สถาบันวิจัยยางยังร่วมกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน เกษตรกรชาวสวนยาง โรงงานแปรรูป นักวิชาการ รวมถึงผู้ส่งออกได้ประชุมหารือและระดมแนวคิดเพื่อหาแนวทางกำหนดโจทย์และหัวข้อวิจัยและพัฒนายางพาราในปี 2556 และมีการนำเสนอผลงานวิจัยด้านยางพาราด้วย…

ขอเชิญชวนเกษตรกรชาวสวนยางหรือผู้สนใจเข้าร่วมงานมหกรรมยางทั่วไทย เร่งบริบทงานวิจัย...ขจัดภัยมืดยางพารา ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกระบี่ อ.เมือง จ.กระบี่ ในระหว่างวันที่ 26-28 เมษายน 2555 นี้

แหล่งที่มา    เว็บไซต์เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 23 เมษายน 2555 เวลา 00:00 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...