วันจันทร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2555

บวมส่อโรค

น้ำเป็นสิ่งจำเป็นต่อสิ่งมีชีวิต ถ้าปราศจากน้ำก็ปราศจากสิ่งมีชีวิต สังเกตได้จากคนที่อดอาหารสามารถมีชีวิตอยู่ได้หลายสัปดาห์ แต่ถ้าอดน้ำอาจตายภายใน 2-3 วัน เพราะน้ำเป็นส่วนประกอบใหญ่ของเซลล์ทุกเซลล์ในร่างกาย มีหน้าที่สำคัญมากมาย เช่น น้ำเป็นตัวกลางในการเกิดปฏิกิริยาเคมีทุกชนิดในกระบวนการเมตาบอลิซึมของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการย่อยอาหาร การดูดซึมของอาหาร หรือการขับของเสียต่างๆ ต้องอาศัยน้ำ เลือดสามารถขนส่งสารต่างๆ ไปทั่วร่างกายได้ต้องอาศัยการละลายในน้ำ นอกจากนี้น้ำยังช่วยควบคุมอุณหภูมิและช่วยรักษาระดับความเป็นกรดด่างของเลือดกับของเหลวต่างๆ ในร่างกายด้วย

วิธีรักษาสมดุลของน้ำและเกลือแร่
"ในภาวะปกติเซลล์ในร่างกายต้องการน้ำในปริมาณคงที่ จึงต้องจัดการให้ปริมาณน้ำที่ได้รับและที่กำจัดออกสมดุลกัน จากการที่เราได้รับน้ำจากน้ำดื่ม น้ำที่มีอยู่ในอาหาร และน้ำที่เกิดจากการเผาผลาญอาหารให้เป็นพลังงานซึ่งมีอยู่เพียงน้อยนิด น้ำเหล่านี้จะเข้าไปหล่อเลี้ยงกิจกรรมต่างๆ ของร่างกาย และในขณะเดียวกันร่างกายก็จะขับน้ำออกมาทางปัสสาวะ เหงื่อ ลมหายใจ และอุจจาระ เพื่อรักษาสมดุลของน้ำและเกลือแร่"

การควบคุมปริมาณน้ำและเกลือแร่ในร่างกายเกี่ยวข้องกับกลไกควบคุมที่สำคัญ 2 ระบบ ดังนี้

1. กลไกการควบคุมปริมาณน้ำ

การควบคุมปริมาณน้ำในร่างกายสามารถทำได้โดยผ่านระบบต่างๆ ของร่างกาย ทั้งระบบประสาท ฮอร์โมน และการทำงานไต แต่หากร่างกายของคนเราขาดความสมดุลของน้ำขึ้นมา ซึ่งเกิดได้จากสาเหตุต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเพราะการขาดน้ำ หรือการรับน้ำมากเกินไป โดยจะก่อให้เกิดความผิดปกติในร่างกายได้ดังต่อไปนี้

ภาวะขาดน้ำ (Dehydration) ถ้าร่างกายไม่ได้รับน้ำเข้ามาเลยหรือเสียน้ำไปมากๆ ร่างกายก็จะขาดน้ำ ตัวอย่างเช่น หากเกิดอาการท้องร่วงอย่างรุนแรง เสียเลือด อาเจียนมากๆ มีไข้สูงจนเหงื่อออกมาก หรือเป็นโรคเบาจืด รวมถึงกรณีไฟลวกแบบทั่วตัว อาจจะพบการขาดน้ำได้ เพราะน้ำมาคั่งบริเวณเนื้อเยื่อที่โดนไฟลวก สัญญาณแรกที่เราจะรู้สึกได้จากการภาวะขาดน้ำคือ อาการกระหายน้ำ ผิวหนังแห้ง ไม่ค่อยมีน้ำลาย กลืนอาหารลำบาก อารมณ์ฉุนเฉียวและสับสน ปัสสาวะออกน้อยและมีสีเข้ม มีอาการซึม หากขาดน้ำมากกว่าร้อยละ 7 ของน้ำหนักตัว จะทำให้ช็อกหรือหมดสติได้ และถ้าขาดมากกว่านี้ความดันเลือดจะลดลง เซลล์ต่างๆ จะเหี่ยวลง โดยเฉพาะเซลล์สมอง ถ้ารุนแรงมากๆ ทำให้หลอดเลือดฉีกขาดได้ และเสียชีวิตในที่สุด

ภาวะน้ำเกินและภาวะพิษจากน้ำ (Water excess and water intoxication) เกิดขึ้นเมื่อร่างกายได้รับสารน้ำในปริมาณที่มากผิดปกติ เช่น ผู้ป่วยไตพิการที่ได้รับน้ำเกินความสามารถของไตจะขับออกมา ผู้ที่มีการหลั่งฮอร์โมนADH ผิดปกติ ตลอดจนคนจมน้ำ อาจเกิดภาวะนี้ได้เช่นกัน ซึ่งโดยมากภาวะน้ำเกินนี้จะส่งผลต่อเซลล์ต่างๆ ทั่วร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเซลล์สมอง และที่สำคัญจะไม่เห็นอาการบวมทางคลินิกหรือภายนอกเลย ในรายเฉียบพลันจะมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อาจกระตุกและชัก ความดันเลือดสูงกว่าปกติ น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ม่านตาขยายไม่เท่ากัน ซึมและไม่รู้สึกตัว นอกจากนี้บางรายยังทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ ปอดบวมน้ำ สมองบวม หยุดหายใจ และเสียชีวิตได้ สำหรับในรายเรื้อรัง มีอาการอ่อนเพลีย หมดเรี่ยวแรง และซึมมาก

2. กลไกการควบคุมของสารน้ำ

ภาวะบวม (Edema) หรือ อาการบวมสารน้ำ หมายถึง ภาวะที่มีสารน้ำขังอยู่ในช่องว่างระหว่างเซลล์ (interstitial tissue) จนเกิดอาการบวมให้เห็นทางภายนอก โดยเกิดจากความผิดปกติของกลไกการควบคุมแรงดันในร่างกายที่มีอยู่ 2 ระบบ คือ

Hydrostatic Pressure หรือแรงผลักออก คือ แรงดันภายในหลอดเลือดที่ดันน้ำออกสู่เนื้อเยื่อ
Oncotic Presssure หรือแรงดูดกลับ คือ แรงที่ทำหน้าที่ในการดึงดูดน้ำไว้ภายในหลอดเลือด แรงนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณโปรตีนภายในเลือด โดยเฉพาะอย่างยิ่งอัลบูมิน (Albumin)

สาเหตุของภาวะบวม
  1. Hydrostatic pressure ในหลอดเลือดเพิ่มขึ้น ทำให้ภายในหลอดเลือดมีแรงดันสารน้ำออกสู่เนื้อเยื่อเพิ่มมากขึ้น พบในภาวะที่มีการคั่งของเลือด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาวะเลือดคั่งจากหัวใจล้มเหลวหรือภาวะที่ได้รับโซเดียมสูงเกินไป
  2. Oncotic pressure ในหลอดเลือดลดลง พบได้ในภาวะที่มีโปรตีน โดยเฉพาะอัลบูมินในเลือดลดลง ซึ่งอาจเกิดจากการเสียโปรตีนทางปัสสาวะที่พบในกลุ่มโรคไตชนิดเนฟโฟรติก (nephrotic syndrome) หรือเกิดจากการสร้างโปรตีนได้น้อยที่พบในผู้ป่วยโรคตับแข็งและผู้ที่มีภาวะขาดสารอาหารรุนแรง เป็นต้น
  3. ภาวะการคั่งของน้ำและเกลือแร่ (Salt and water retention) พบได้ในภาวะการทำงานของไตผิดปกติ มีการลดลงของการกรองโซเดียม เช่น ภาวะไตวายเฉียบพลัน ภาวะหัวใจล้มเหลวที่มีผลต่อการคั่งของโซเดียมในท่อไต ทำให้มีการดูดกลับน้ำเพิ่มขึ้น hydrostatic pressure ก็เพิ่มขึ้นด้วย ถ้าภาวะหัวใจวายไม่ได้รับการรักษาที่ดีพอ การดูดกลับน้ำที่เพิ่มขึ้นนี้ก็จะทำให้การบวมแย่ลงไปอีก พยาธิสภาพที่สำคัญที่จะพบได้คือ ภาวะปอดบวมน้ำ (pulmonary edema)
  4. การสูญเสียความสามารถในการซึมผ่านของสารน้ำในผนังหลอดเลือดฝอย (vascular permeability) พบได้ในการบวมที่เกิดในกระบวนการอักเสบ เช่น การหลั่งของสารฮิสตามีน (histamine)
  5. การอุดตันของต่อมน้ำเหลือง (Lymphatic obstruction) ส่งผลให้การดูดกลับสารน้ำส่วนเกินทางท่อน้ำเหลืองเสียไป ส่วนใหญ่แล้วการบวมจากสาเหตุนี้มักเป็นเฉพาะที่ เช่น โรคเท้าช้าง การบวมของเต้านมเนื่องจากเซลล์มะเร็งอุดกั้นท่อน้ำเหลือง และการบวมของแขนหลังการผ่าตัดมะเร็งที่มีการเลาะต่อมน้ำเหลือง ทำให้ทางเดินปกติของน้ำเหลืองเสียไป เป็นต้น
บวมแบบไหนบอกโรค

โรคไต
โรคไตบางชนิดมีความผิดปกติเกิดขึ้นภายในส่วนที่ทำหน้าที่กรองเลือด ทำให้โปรตีนในเลือดหรืออัลบูมินรั่วออกทางปัสสาวะ เมื่อโปรตีนในเลือดต่ำลงจะทำให้เกิดอาการบวม สังเกตได้ง่ายเวลาที่ตื่นนอนตอนเช้าจะมีการบวมที่บริเวณหนังตาหรือใบหน้า อาจพบเท้าหรือหน้าแข้งบวมช่วงบ่ายหรือเมื่อมีกิจกรรมในท่ายืนเป็นเวลานานๆ ซึ่งถ้าเป็นมากจะมีอาการบวมทั่วตัว ในเด็กอาจจะพบลูกอัณฑะบวมเป็นอาการแรก และท้องจะโตเพราะมีน้ำในช่องท้องมาก

อาการบวมนี้ อาจเกิดได้ในโรคไตหลายชนิด เช่น โรคไตอักเสบชนิดเนโฟรติค ซินโดรม (Nephrotic Syndrome) ซึ่งเป็นโรคที่มีการรั่วของโปรตีนออกมากับปัสสาวะในปริมาณมาก หรือโรคไตเรื้อรังที่มีการเสื่อมของไต ทำให้มีการคั่งของน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย การตรวจปัสสาวะจะช่วยยืนยันถึงความผิดปกติของการรั่วของโปรตีนดังกล่าวได้เป็นอย่างดี หากมีอาการบวมมาก อาจทำให้หอบเหนื่อยจากการคั่งของเกลือและน้ำในปอด ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต แต่โรคไตบางชนิดก็ไม่จำเป็นต้องมีอาการบวมน้ำ ตัวอย่างเช่นโรคไตอักเสบชนิดเรื้อรังในระยะต้นๆ มักจะไม่มีอาการแสดงให้เห็น หรืออาจจะมีอาการบวมนิดหน่อยเท่านั้น ไม่ถึงกับตัวบวมให้เห็นชัดเจน ด้วยเหตุนี้เป็นการเข้าใจผิดอย่างมากว่าถ้าตัวไม่บวมน้ำก็ไม่ได้เป็นโรคไต

โรคหัวใจ
การบวมในผู้ป่วยโรคหัวใจโดยมากมักเกิดจากการที่หัวใจห้องขวาล่างทำงานลดลง ทำให้เลือดจากขาไม่สามารถไหลเข้าสู่หัวใจด้านขวาได้สะดวก จึงมีเลือดค้างอยู่ที่ขามากขึ้น อาการบวมที่เกิดกับผู้ป่วยโรคหัวใจจะมีลักษณะสมมาตรคือจะบวมที่ขาทั้งสองข้าง และมีอาการหายใจหอบเหนื่อย ซึ่งพบได้ในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว หรือมีปัญหาที่หลอดเลือดดำที่ขา นอกจากนี้โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเรื้อรังก็ทำให้เกิดอาการเช่นนี้ได้เช่นกัน

โรคตับ
เช่น ตับแข็ง เริ่มแรกจะมีอาการอ่อนเพลีย มีไข้ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และดีซ่าน ต่อมาจึงมีอาการบวมที่เท้าและขาทั้งสองข้าง และมีอาการท้องบวมโตกว่าปกติหรือที่เรียกว่า ท้องมาน เนื่องจากตับเป็นอวัยวะที่สร้างโปรตีนตัวสำคัญคืออัลบูมิน เมื่อไม่สามารถสร้างอัลบูมินได้ ก็ขาดตัวดูดกลับหรือ Oncotic Presssure ลดลง ทำให้มีสารน้ำจำนวนมากคั่งในร่างกายดังนั้น ถึงแม้ผู้ป่วยจะมีแขนขาและลำตัวดูซูบผอม แต่จะมีอาการท้องบวมซึ่งอาการอาจทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้

โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือเอส แอล อี (SLE)
 ก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการบวมได้เช่นกัน

"อาการบวมสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายโรค และในแต่ละโรคมีแนวทางการรักษาที่ต่างกันไป ดังนั้น เมื่อพบว่ามีอาการบวม หรือในกรณีที่บวมโดยไม่ทราบสาเหตุ ขอให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจสาเหตุที่แน่ชัด"

"สิ่งสำคัญ อย่าตกใจไปก่อนว่าเรามีอาการบวมแล้วจะเป็นโรคไตเพียงอย่างเดียว จริงๆ แล้วอาจเกิดขึ้นจากกลไกตามธรรมชาติของร่างกาย โดยเฉพาะผู้หญิงในวัยมีประจำเดือนที่มักจะมีอาการบวมสารน้ำได้ ซึ่งเกิดจากระดับฮอร์โมนแปรปรวน และส่งผลต่อการขับสารน้ำในร่างกาย แต่เมื่อประจำเดือนหมดไปก็กลับเป็นปกติ ถือเป็นเรื่องธรรมชาติของร่างกาย นอกจากนี้ อาการบวมยังอาจเกิดจากผลข้างเคียงของการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาคอร์ติโซน (สำหรับผู้ป่วยโรคหอบหืด) ยาลดความดันเลือดสูง ยาแก้ปวดชนิด NSAIDs เป็นต้น เพราะฉะนั้นอย่ารู้สึกตกใจและคิดไปก่อนว่าเมื่อบวมจะมีอาการไม่ดีแล้ว ทั้งๆ ที่จริงอาจไม่มีอะไรเลยก็ได้"

แหล่งที่มา   เว็บไซต์ MTHAI

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...