มาทำความรู้จักโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน หรือโรคมีเนีย (Meniere’s disease) กัน
โรคมีเนีย เป็นโรคที่มีความผิดปกติของหูชั้นใน โดยมีน้ำในหูชั้นในมากผิดปกติ หูชั้นในของคนเรามีเซลล์ประสาทที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการทรงตัวและการได้ยินอยู่ โดยปกติจะมีน้ำในหูชั้นใน ปริมาณที่พอดีกับการทำงานของเซลล์ประสาทที่ทำหน้าที่ควบคุมการทรงตัว และการได้ยินดังกล่าว และมีการไหลเวียนถ่ายเทเป็นปกติ เมื่อมีการเคลื่อนไหวของน้ำในหู ขณะเคลื่อนไหวศีรษะ จะกระตุ้นเซลล์ประสาทดังกล่าวให้มีการส่งสัญญาณไปยังสมองเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของร่างกาย เมื่อใดก็ตามมีความผิดปกติของการไหลเวียนของน้ำในหู เช่นการดูดซึมของน้ำในหูไม่ดี ทำให้น้ำในหูชั้นในมีปริมาณมากขึ้นกว่าปกติ (endolymphatic hydrops) จะส่งผลต่อการทำงานของเซลล์ประสาทที่ควบคุมการทรงตัว และการได้ยิน ทำให้เซลล์ดังกล่าวทำงานผิดปกติ ทำให้ผู้ป่วยโรคนี้มีอาการ
- ประสาทหูเสื่อม ผู้ป่วยจะมีการเสียการได้ยินแบบประสาทเสียงเสีย (sensorineural hearing loss) ทำให้หูอื้อ ได้ยินไม่ชัด รู้สึกแน่นในหูเป็นๆหายๆ บางครั้งการได้ยินดีขึ้น บางครั้งการได้ยินเลวลง ในระยะแรกเริ่มมักมีการเสียของประสาทหูที่ความถี่ต่ำก่อน แต่ในระยะยาวแล้วระดับการได้ยินจะแย่ลงเรื่อยๆ อาจถึงขั้นหูหนวกได้ ในระยะแรกอาจมีอาการที่หูข้างเดียว ในระยะหลังอาจมีอาการที่หูทั้งสองข้าง อาจมีอาการปวดหู หรือปวดศีรษะข้างที่เป็นด้วยได้
- มีเสียงดังในหู
- เวียนศีรษะ บ้านหมุน บางครั้งอาจมี คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออกร่วมด้วย อาการเวียนดังกล่าวมักเป็นๆหายๆ ส่วนใหญ่มักเวียนศีรษะไม่เกินครึ่งชั่วโมง แต่อาจเวียนเป็นชั่วโมงได้ เมื่อมีอาการเวียนศีรษะ มักมีอาการทางหู เช่น หูอื้อ เสียงดังในหูร่วมด้วย อาการเวียนศีรษะเป็นอาการที่รบกวนผู้ป่วยมากที่สุด ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ ต้องนอนพัก
โรคนี้พบมากในคนอายุ 30-60 ปี พบได้ทั้งเพศชาย และเพศหญิง โดยมากอาการมักจะเริ่มเมื่ออายุ 30 ปี ในประเทศไทย ข้อมูลทางระบาดวิทยาของโรคนี้ยังมีน้อย โรคนี้มักเป็นในหูข้างเดียว แต่อาจเป็นทั้งสองหูได้ร้อยละ 30 อาการของโรคนี้มักจะเกิดขึ้นทันทีทันใด อาจมีอาการทุกวัน หรือนานๆครั้งก็ได้ ซึ่งไม่สามารถทำนายได้ว่าจะเกิดอีกเมื่อไร แต่ละครั้งที่มีอาการ อาจมีอาการเป็นระยะเวลาสั้นๆ เป็นนาที หรือมีอาการเป็นระยะเวลานานเป็นชั่วโมงได้ หรืออาจมีอาการน้อย หรือมากได้ นอกจากนั้นผู้ป่วยอาจมีอาการปวดศีรษะ ปวดท้อง หรือท้องเสียร่วมด้วยได้
การวินิจฉัยโรคนี้ประกอบด้วย การซักประวัติ อาการที่สำคัญ 3 อาการดังกล่าว ซึ่งมักจะเป็นๆหายๆ และการตรวจระบบประสาทการทรงตัว และการตรวจการได้ยิน รวมทั้งการตรวจรังสีวินิจฉัย รวมทั้งการเจาะเลือด และตรวจปัสสาวะเพื่อวินิจฉัย แยกจากโรคอื่นๆ การรักษาประกอบด้วย การปฏิบัติตัวที่ถูกต้องเวลาเวียนศีรษะ, การให้ยาบรรเทาอาการ และการผ่าตัด
1. การปฏิบัติตัวที่ถูกต้องเวลาเวียนศีรษะ
เมื่อมีอาการเวียนศีรษะขณะเดิน ควรหยุดเดิน และนั่งพัก เพราะการฝืนเดินขณะเวียนศีรษะ อาจทำให้ผู้ป่วยล้ม เกิดอุบัติเหตุได้ เช่นกัน ถ้าอาการเวียนศีรษะเกิดขณะขับรถ หรือขณะทำงาน ควรหยุดรถข้างทาง หรือหยุดการทำงาน โดยเฉพาะการทำงานที่เกี่ยวกับเครื่องจักรกล ซึ่งอาจเกิดอุบัติเหตุได้ ถ้าเวียนมากควรนอนบนพื้นราบที่ไม่มีการเคลื่อนไหว เช่นพื้น และ ผู้ป่วยควรมองไปยังวัตถุที่อยู่นิ่ง ไม่เคลื่อนไหว
- รับประทานยาที่แพทย์ให้รับประทาน เวลาเวียนศีรษะ
- พยายามอย่ารับประทาน หรือดื่มมากนัก จะได้มีโอกาสอาเจียนน้อยลง
- หลีกเลี่ยงการเดินทางโดยทางเรือ เพราะจะทำให้มีอาการเวียนศีรษะมากขึ้นได้
- ถ้าอาการเวียนศีรษะน้อยลง ค่อยๆลุกขึ้น แต่อาจรู้สึกง่วง หรือเพลียได้ แนะนำให้นอนหลับพักผ่อน ถ้าง่วง หลังตื่นนอน อาการมักจะดีขึ้น
ควรจำกัดความเค็ม เพราะความเค็มหรือ เกลือโซเดียมที่มีปริมาณมากขึ้นในร่างกาย จะทำให้มีน้ำคั่งในร่างกาย และในหูชั้นในมากขึ้น อาจทำให้อาการผู้ป่วยแย่ลงได้
- การรับประทานยาขับปัสสาวะ อาจทำให้น้ำคั่งในหูชันในน้อยลง ผู้ป่วยอาจมีอาการดีขึ้นได้
- ให้ยาบรรเทาอาการเวียนศีรษะ หรือคลื่นไส้ อาเจียน
- การรับประทานยาขยายหลอดเลือด (ฮิสตะมีน) จะช่วยให้การไหลเวียนของน้ำในหูดีขึ้น
- ถ้าผู้ป่วยหายเวียนศีรษะแล้ว ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มเลือดไปเลี้ยงหูชั้นใน
- หลีกเลี่ยงสารคาเฟอีน (ชา เครื่องดื่มน้ำอัดลม และกาแฟ) เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ และความเครียดซึ่งจะทำให้อาการของผู้ป่วยโรคนี้แย่ลง เนื่องจากจะไปลดเลือดที่ไปเลี้ยงหูชั้นใน
- การผ่าตัด เพื่อระบายน้ำที่คั่งอยู่ในหูชั้นใน จะทำเมื่อให้ยารักษาเต็มที่แล้ว อาการของโรคโดยเฉพาะอาการเวียนศีรษะไม่ดีขึ้น และรบกวนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมาก การผ่าตัดได้แก่
- การทำลายอวัยวะควบคุมการได้ยิน และการทรงตัวในหูชั้นใน (labyrinthectomy) ซึ่งจะช่วยควบคุมอาการเวียนศีรษะได้ดี แต่ผู้ป่วยจะสูญเสียการได้ยินในข้างนั้นด้วย มักจะทำในผู้ป่วยที่สูญเสียการได้ยินในหูข้างนั้นมากแล้ว แต่ยังมีอาการเวียนศีรษะมากอยู่
- การตัดเส้นประสาทที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการทรงตัวในหูชั้นใน (vestibular neurectomy) มักจะทำในผู้ป่วยที่มีอาการเวียนศีรษะมาก แต่ยังมีการได้ยินดีอยู่
- การฉีดยาที่มีพิษต่อระบบประสาทหูและการทรงตัวเข้าไปในหูชั้นกลาง เพื่อให้ดูดซึมเข้าไปในหูชั้นใน เช่น gentamycin ซึ่งเป็นยาต้านจุลชีพกลุ่ม aminoglycoside เพื่อทำลายระบบประสาททรงตัว ทำให้อาการเวียนศีรษะน้อยลง แต่การได้ยิน อาจเสียไปด้วย
ถึงแม้โรคมีเนีย จะไม่มีวิธีรักษาที่ทำให้โรคหายขาด แต่อาการของผู้ป่วย ส่วนใหญ่สามารถควบคุมได้ด้วยยา และการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง
แหล่งที่มา เว็บไซต์ THAIZA.COM
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น