“ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา” น่าจะยังพอนำมาประยุกต์ใช้กับการบริหารเวลาของคนได้อยู่ คนส่วนใหญ่ยังปล่อยให้เวลาผ่านเลยไปตาม “กาลเวลา” ไม่ค่อยกระตือรือร้นอะไรมากมาย
- คนบางคนเริ่มเห็นความสำคัญของเวลาเข้าทำงานก็ต่อเมื่อได้รับใบเตือน หรือถูกตัดโบนัสไปเรียบร้อยแล้ว
- คนบางคนเริ่มเห็นความสำคัญของเวลาออกกำลังกายก็ต่อเมื่อนอนอยู่บนเตียงในโรงพยาบาลแล้ว
- คนบางคนเริ่มเห็นความสำคัญของเวลาเมื่อตกเที่ยวบิน
- คนอีกหลายคนที่มาเห็นความสำคัญของเวลาเมื่อ “สายไปเสียแล้ว”
ถ้าเราลองไปถามใครก็ตามว่า ในชีวิตนี้เวลาที่มีค่ามากที่สุดของเราคือเวลาไหน เชื่อมั่นว่าเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ที่ตอบว่าเวลาที่มีค่ามากที่สุดนั้นมีหน่วยเป็นเพียงนาทีหรือวินาที เช่น
- วินาทีที่รอดกระสุนปืนมาอย่างหวุดหวิด
- เสี้ยววินาทีที่ตึกถล่ม
- นาทีสุดท้ายที่คนที่เรารักต้องจากเราไป
- นาทีที่หัวหน้าบอกเลิกจ้างเรา
- วินาที่ที่นักโทษได้ยินคำพิพากษาตัดสินประหารชีวิต
- นาทีที่เราได้รับการประกาศชื่อให้เป็นนางงามจักรวาล
- นาทีที่เราได้รับการประกาศชื่อว่าเป็นผู้โชคดีได้รับรางวัลจากการทายผลฟุตบอลโลก ฯลฯ
เราจะเห็นว่า ถึงแม้ว่าชีวิตเรามีเวลามากมายเป็นหมื่นๆ วัน แต่เวลาที่มีค่ามากที่สุดของเรามีเพียงไม่กี่วินาที หรือไม่กี่นาทีเท่านั้น ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะเราไม่ได้ทำให้เวลาในชีวิตของเราที่ผ่านเข้ามาและผ่านออกไปนั้นมีมูลค่าเพิ่มอะไรขึ้นมาเลย มันผ่านเข้ามาด้วยมูลค่าเท่าไหร่ เมื่อผ่านตัวเราไปแล้วมูลค่าของเวลาไม่เพิ่มขึ้น เผลอๆ เวลาของบางคนมีมูลค่าลดลงเสียด้วยซ้ำไป
คนเรามักจะคิดว่าเรามีเวลาเหลือเฟือ จึงมักจะใช้เวลาอย่างฟุ่มเฟือย ซึ่งไม่แตกต่างอะไรกับการใช้จ่ายเงิน ถ้าเรามีเงินน้อย เงินทุกบาททุกสตางค์มันมีค่ากับเรามาก บางทีเงินเพียงหนึ่งบาทของเราอาจจะมีค่ามากกว่าเงินหนึ่งล้านบาทของมหาเศรษฐีที่มีเงินเป็นหมื่นๆ ล้านก็ได้ เช่นเดียวกันกับเวลาหนึ่งนาทีที่คนกำลังจะจมน้ำตาย มันมีค่ามากกว่าเวลาหนึ่งชั่วโมงของคนที่กำลังเดินชอบปิ้งในห้างสรรพสินค้าอย่างแน่นอน
แหล่งที่มา เว็บไซต์สยามรัฐดอทคอม 26-07-2011 09:39:21
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น