วันเสาร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2555

ค่าไฟพุ่ง...ประหยัดได้แค่ปลายนิ้ว

กระแสการประหยัดพลังงานใช่เพิ่งจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ หากมีการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง แต่สังคมมักจะตื่นตัวกันแบบชั่วข้ามคืนเมื่อมีการปรับขึ้นของค่าพลังงานต่างๆ แบบฉับพลัน ดังสถานการณ์ล่าสุดที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติให้ปรับขึ้นค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) ในบิลค่าไฟประชาชนงวดใหม่ในเดือน พฤษภาคม-สิงหาคมนี้ ถึงอีก 30 สตางค์ต่อหน่วย แน่นอนว่าย่อมส่งผลกับรายจ่ายของทุกคนไม่มากก็น้อย และเมื่อไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ ปัญหานี้จึงเป็นโจทย์ใหญ่ให้ประชาชนต้องนึกถึงคำว่า "ประหยัด" มากขึ้นอีกหลายเท่าตัว และอาจเป็นการร่วมกันปฏิบัติระยะยาวเพราะพลังงานธรรมชาตินั้นเริ่มเหลือน้อยลงทุกที

อากาศร้อนๆ กับค่าไฟที่เพิ่มมากขึ้นดูท่าจะเป็นเรื่องขัดใจสำหรับนักธุรกิจสาว "แอน" ลภาภิดา หล่อกิติยะกุล ที่แจงว่าถ้าเพิ่มขึ้นระยะนี้ถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค เนื่องจากปัจจุบันอากาศร้อนอบอ้าว ทำให้ต้องมีการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น ทั้งการเปิดพัดลมและการดื่มน้ำเย็นคลายร้อน  อย่างน้อยๆ ในบ้านจะต้องมีพัดลมมากกว่า 1 ตัวอยู่แล้ว และการเปิดพัดลมพร้อมกัน นั่นหมายถึงการใช้ไฟเพิ่มขึ้น จึงเหมือนเป็นการซ้ำเติมผู้บริโภคเข้าไปอีก

"เดี๋ยวนี้ความรู้ต่างๆ เปิดกว้างมากขึ้น ทำให้เรารู้ว่าต้นทุนของการผลิตไฟฟ้า หรือน้ำประปา ซึ่งทำโดยรัฐบาลไม่ได้ขาดทุนแต่อย่างใด อย่างน้อยๆ ถ้าคิดจะขึ้นราคาควรจะค่อยเป็นค่อยไปมากกว่า มองภาพรวมง่ายๆ เมื่อค่าไฟขึ้นสินค้าทุกอย่างก็ต้องขึ้นตามไปด้วย แสดงว่ารายรับเท่าเดิมแต่รายจ่ายเพิ่มขึ้นอาจจะเดือดร้อนกันบ้าง ปัจจุบันเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายตัวมีโปรแกรมการตั้งเวลาปิด จึงควรจะตั้งเวลาปิดเครื่องปรับอากาศก่อนตื่นสัก 3 ชั่วโมง ความเย็นในห้องยังคงมีอยู่ อาจจะใช้พัดลมช่วยสักนิด เราตื่นขึ้นมาอาบน้ำแต่งตัวความเย็นจะค่อยๆ หมดไปเราก็ออกจากบ้านไปทำงานพอดี" สาวแอน กล่าว

ด้านสาวออฟฟิศ ณัทรภัทร กมลเศวตกุญ หยิบยกวิธีการประหยัดไฟหลากหลายที่ใช้ได้ผลดีมาแนะนำ ทั้งการใช้หลอดประหยัดไฟภายในบ้าน เครื่องปรับอากาศจะเปิดเฉพาะตอนจะเข้านอนเท่านั้น ปิดม่านกันแดดในห้องนั่งเล่นจะได้ไม่ร้อนมาก อยู่กันหลายคนในห้องเดียวก็สามารถเปิดแอร์ได้ และดูทีวีแค่เครื่องเดียวก็ประหยัดได้มากเช่นกัน

"ส่วนใหญ่จะใช้ไฟฟ้ากับคอมพิวเตอร์มากกว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น เพราะยุคนี้เครื่องมือสื่อสารนั้นสำคัญกับวิถีชีวิตมาก เลยต้องหาวิธีลดการใช้เครื่องไฟฟ้าชนิดอื่นๆ แทน เรื่องประหยัดไฟฟ้าไม่ใช่แค่เพื่อตัวเอง แต่เหมือนเป็นการช่วยโลกด้วย เพราะอย่างที่รู้ๆ ทุกวันนี้เวลาหนาวก็หนาวมาก หน้าร้อนก็ร้อนจัดกว่าเมื่อก่อน ซึ่งเชื่อว่าทุกคนสัมผัสได้" สาวรุ่นใหม่ให้ความเห็น

อีกมุมของเรื่องการประหยัดที่ไม่ขึ้นกับฐานะความเป็นอยู่ "แตง" ชญานี ศิริรัตน์บุญขจร กรรมการบริหาร บริษัท หลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) บอกว่าถึงค่าไฟฟ้าจะขึ้นมากน้อยย่อมกระทบกับการใช้ชีวิตของทุกคน เพราะทำให้มีต้นทุนการใช้ชีวิตเพิ่มขึ้น อย่างที่บ้านมีเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายประเภท ก็พยายามประหยัดที่สุดคือปิดเมื่อไม่ใช้งาน หรือใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีฉลากประหยัดไฟ ก็น่าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในยุคอะไรก็แพงได้ระดับหนึ่ง

"เป็นเรื่องช่วยไม่ได้จริงๆ เมืองไทยเป็นเมืองร้อน ยังไงก็ต้องเปิดเพื่อปรับอากาศ แต่พยายามเปิดเวลาจำเป็น ถ้าช่วงไหนไม่อยู่บ้านยาวๆ ก็จะปิดเลย ขณะที่ การเปิดๆ ปิดๆ ก็ไม่ว่าช่วยประหยัด เพราะค่าเดินเครื่องใหม่จะแพงกว่าการเปิดไว้นานๆ การประหยัดเป็นหัวใจสำคัญของที่บ้านอยู่แล้ว ถึงเราจะมีพอที่จะใช้จ่ายแต่ก็ต้องทำ เพราะถือเป็นการช่วยเหลือสังคมด้วย ตอนนี้ไฟฟ้าเรานำเข้าแล้วจากลาว พม่า ถ้าช่วยกันได้คนละนิดๆ หน่อยๆ รวมกันก็คงประหยัดพลังงานได้มหาศาล" ผู้บริหารเกี่ยวกับเรื่องเงินๆ ทองๆ เผย

สำหรับนักวิชาการคนดัง "อ้อ" รศ.ดร.กฤติกา คงสมพงษ์ ชี้มูลเหตุของการขึ้นค่าไฟฟ้าในเวลานี้ว่า มี 2 เหตุผล คือมาจากการเพิ่มต้นทุนในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่สูงขึ้น จึงจำเป็นต้องควบคุมต้นทุน อีกสาเหตุหนึ่งคือ เป็นการสอนให้คนไทยรู้จักมีวินัยในการใช้ไฟฟ้า เพราะหากปล่อยให้ใช้ไฟแบบที่ผ่านมา อนาคตอาจจะต้องซื้อไฟจากประเทศเพื่อนบ้านก็เป็นได้

"เมื่อทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลง เราจะมาคัดค้านคงไม่ได้ ก็ต้องรู้จักปรับตัว เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าได้สอนเอาไว้ว่า เมื่อเราไม่สามารถเปลี่ยนอะไรได้ ก็ให้ปรับตัวเองให้เข้ากับสถานการณ์นั้น เชื่อว่าหากภาระที่รัฐบาลแบกรับไม่เหนือบ่ากว่าแรงจนเกินไป คงไม่จำเป็นต้องให้ประชาชนมาเดือดร้อน เพราะคงไม่คุ้มกับการถูกประชาชนว่ากล่าวแน่นอน และการปรับตัวง่ายๆ อย่างเช่น แทนที่จะรีดผ้าวันละตัวสองตัวเพื่อใส่วันต่อวัน ก็เปลี่ยนเป็นรีดผ้าพร้อมๆ กันหลายตัว เครื่องปรับอากาศก็ไม่จำเป็นต้องเปิดไว้ตลอดจนเราออกจากบ้าน ปิดก่อน 1 ชั่วโมงและดื่มด่ำกับความเย็นที่เหลือให้คุ้มที่สุด ก็เรียกว่าใช้ไฟอย่างคุ้มค่าที่สุดแล้ว" ดร.อ้อ แนะ

สอดคล้องกับข้อมูลของ สุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน (สนพ.) ให้ความรู้ถึงมาตรการการประหยัดพลังงานว่า การประหยัดพลังงานถือเป็นหน้าที่ของทุกคน โดยกระทรวงพลังงานในฐานะกำกับดูแลด้านพลังงานทดแทน ควบคู่กับดำเนินมาตรการประหยัดพลังงาน หากคนไทยทุกคนช่วยกันประหยัดพลังงานทุกวันก็จะสามารถลดการใช้พลังงานโดยรวม 22,000 ล้านหน่วย หรือคิดเป็นเงิน 59,000 ล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้เพื่อให้การประหยัดพลังงงานประสบผลสำเร็จ สนพ.จึงได้กำหนดมาตรการออกมา 10 มาตรการ เพื่อเป็นแนวทางให้ประชาชนนำไปปฏิบัติเพื่อประหยัดพลังงานภายในครัวเรือน
  1. เริ่มจาก ปิดไฟฟ้า 1 ดวง หรือถอดหลอดไฟที่ไม่ใช้ออก
  2. ตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศที่ 25 องศา จะช่วยประหยัดไฟฟ้า 10 เปอร์เซ็นต์
  3. ตั้งตู้เย็นห่างผนัง 15 เซนติเมตร จะช่วยประหยัดไฟฟ้าได้ 10 เปอร์เซ็นต์
  4. ปิดโทรทัศน์เมื่อไม่มีคนดู หรือเลือกใช้โทรทัศน์ขนาดเล็กเพื่อประหยัดไฟ
  5. ใช้หลอดฟลูออเรสเซนต์ 18 วัตต์ แทนหลอดไส้ 100 วัตต์
  6. ถอดปลั๊กเตารีดก่อนรีดเสื้อผ้าเสร็จ 2-3 นาที
  7. เสียบปลั๊กกระติกน้ำร้อนเมื่อใช้
  8. ใช้จอคอมพิวเตอร์ 15 นิ้วแทน 17 นิ้ว และปิดหน้าจอเมื่อไม่ใช้
  9. สุดท้าย อย่าเสียบปลั๊กไฟฟ้าทิ้งไว้เมื่อไม่ใช้งาน

พอได้เห็นการคำนวนหน่วยการประหยัดไฟแบบละเอียดถี่ยิบคำว่า "ช่วยกันคนละนิด" ดูจะเป็นเรื่องที่ทำได้จริง และไม่ยากเลยสักนิดเดียว จริงไหม

แหล่งที่มา     เว็บไซต์คมชัดลึก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...