วันเสาร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2555

เลือกอะไร .. เมื่อต้องเลือก

สำหรับใครที่ชอบขีดเส้นให้ตัวเองว่า จะเริ่มทำในสิ่งที่ตั้งใจในวันนี้หรือวันนั้น โดยเน้นยึดจาก “วันที่” หรือ “วันสำคัญ” เป็นเส้นแบ่ง ก็ขอแสดงความยินดีด้วย เพราะเส้นแบ่งของคุณได้เดินทางมาถึงอีกครั้ง หลังจากเทศกาลสงกรานต์หรือปีใหม่ไทย

แต่ลองใช้เวลาที่มีวันหยุดอีกวันหรือสองวันนี้ ลองทบทวนดูดีหรือไม่ว่า คุณใช้ “เส้นแบ่ง” มาแล้วกี่ครั้งในการบอกตัวเองว่า จะเริ่มต้นทำอะไรใหม่ หรือคุณใช้ “วันสำคัญ” มาแล้วกี่หนในการบอกว่า คุณจะเปลี่ยนแปลงตัวเองไปสู่จุดที่ดีกว่า และกี่ครั้งกี่หนที่ว่านั้น คุณได้ลงมือทำแม้เพียงสักครั้งแล้วหรือยัง

“วันอาทิตย์คิดเรื่องเงิน” เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทิ้งท้ายไว้ตรงที่คุณวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ บอกว่า ถ้าจะคิดเรื่องเกษียณ ก็ต้องคิดตั้งแต่วันแรกของการทำงาน วันนี้ขอเพิ่มเติมว่า แล้วสำหรับคนที่เพิ่งคิดตอนนี้ ตอนที่อายุ 40 หรืออายุ 50 คำถามคือ ยังทันหรือไม่

คุณวิวรรณไม่ได้บอกว่า ทันหรือไม่ แต่บอกว่า ถ้ายังไม่ได้ทำ ก็ต้องทำ ต้องเริ่ม เพียงแต่ว่าเมื่อเริ่มต้นช้า ก็ย่อมจะต้องยากลำบากมากกว่าคนที่เริ่มต้นเร็ว เพราะในขณะที่คนที่เริ่มต้นเร็ว อาจจะเก็บออมรายได้ในแต่ละเดือนเพียง 10% เพื่อสั่งสมสำหรับการลงทุน แต่คนที่เริ่มต้นช้า ก็อาจจะต้องเพิ่มสัดส่วนในการเก็บออมถึง 30% หรือมากกว่านั้น

 และในจำนวนที่เก็บออมไว้นั้น แต่ละก้อนก็ต้องแบ่งให้ชัดเจนว่า มีวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายเพื่อสิ่งใด

“เพราะเงินแต่ละก้อนรับความเสี่ยงได้ไม่เท่ากัน เงินเพื่อใช้จ่ายประจำวัน หรือใช้จ่ายฉุกเฉินก็ต้องกันไว้ส่วนหนึ่ง เป็นเงินที่รับความเสี่ยงไม่ได้ ส่วนเงินเพื่ออนาคตยาวๆ ก็ต้องกันไว้ส่วนนึง ซึ่งส่วนนี้สามารถรับความเสี่ยงความผันผวนได้มาก เพราะเรายังไม่ต้องการใช้ในปัจจุบัน”               

คุณวิวรรณ ให้หลักคิดไว้ว่า ต้องวางเป้าหมายระยะสั้น เช่น จะแต่งงาน จะซื้อบ้าน หรือเป้าหมายที่ยาวกว่านั้นหน่อย เช่น จะมีลูกและจะต้องส่งลูกเรียน จนถึงเป้าหมายที่ยาวมากๆ นั่นก็คือ เป้าหมายในการเกษียณ

จากนั้นก็จัดสรรว่า เงินสำหรับเป้าหมายระยะสั้น จะเอาไปทำอะไรได้บ้าง หรือสำหรับเป้าหมายระยะยาวจะนำไปลงทุนอะไรได้ แต่หลักสำคัญ คือ “อย่ารวมทุกอย่างเป็นก้อนเดียว” อย่านำเงินทั้งหมดไปลงทุนในอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งทั้ง 100% เพราะจะต้องยึดหลัก “กระจายความเสี่ยง”

“ยกตัวอย่างว่า ถ้าเรามีเงิน 10 ล้านบาท แล้วเอาเงินลงทุนในหุ้นหมดเลย ถ้าเป็นปีที่หุ้นไม่ดี เงินจาก 10 ล้าน อาจจะเหลือแค่ 5 ล้าน แต่ถ้าเรากระจาย คือไม่ได้ลงในหุ้นทั้งหมด แต่ลงทุนแค่ 30% หรือ 3 ล้านบาท ถ้าเงินหายไปครึ่งหนึ่งก็จะหายไปแค่ 1.5 ล้านบาท เท่ากับ 10 ล้านบาทของเราแทนที่จะเหลือ 5 ล้านบาท ก็จะกลายเป็นเหลือ 8.5 ล้านบาท เพราะเรามีส่วนที่เหลือที่ไม่ได้ลงทุนอีก 7 ล้านบาท”

ไม่ใช่แค่เพียงการกระจายการลงทุน แต่คุณวิวรรณ ยังบอกด้วยว่า เครื่องมือทางการเงินบางอย่างก็เหมาะสมกับบางยุคบางสมัย แต่บางอย่างก็ไม่เหมาะ ดังนั้น จึงต้องเลือกให้เหมาะสม ขณะเดียวกันยังต้องปรับเปลี่ยนการลงทุนตลอดเวลา ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสถานการณ์การรับความเสี่ยงของตัวเอง เนื่องเพราะอายุที่มากขึ้น ก็จะทำให้ความสามารถในการรับความเสี่ยงน้อยลง

ชอบที่คุณวิวรรณปิดท้ายว่า หมดสมัยที่จะมี “เจ้าคุณปู่” สะสมความมั่งคั่งให้แล้ว เพราะ ณ จุดนี้ เรากำลังพูดถึงการพึ่งตัวเอง การสะสมความมั่งคั่งให้ตัวเอง แล้วเมื่อเหลือเพียงพอ จึงค่อยส่งต่อให้ลูกหลาน ส่วนใครที่เจ้าคุณปู่เจ้าคุณพ่อสะสมมาให้อยู่แล้ว ก็เป็นประเด็นที่ท้าทายว่าเราจะรักษาความมั่งคั่งนั้นไว้ได้อย่างไร

ประเด็นอยู่ที่ว่า เมื่อต้องเลือก เราจะเลือกแบบไหนในการรักษาความมั่งคั่ง หรือในการพอกพูนความมั่งคั่ง เพราะนั่นเท่ากับเรากำลังเลือกระหว่าง “ความเสี่ยง” และ “ผลตอบแทน”

ถ้าเราเลือกที่จะรักษาความมั่งคั่งที่มีอยู่ อาจหมายถึงเรากำลังคำนึงถึง “ความเสี่ยง” ด้วยกลัวว่า ความมั่งคั่งที่มีอยู่จะหายไป ในทางตรงข้ามกัน ถ้าเราเลือกที่จะพอกพูนความมั่งคั่งให้ทวีขึ้น ก็อาจหมายถึงเรากำลังเลือก “ผลตอบแทน” เป็นปัจจัยหลัก

การเลือกระหว่าง “ความเสี่ยง” และ “ผลตอบแทน” ว่าจะให้น้ำหนักกับเรื่องใดก่อน นอกจากจะขึ้นอยู่กับรสนิยมหรือไลฟ์สไตล์ส่วนตัวของแต่ละคนแล้ว ยังไม่อาจละเลยปัจจัยแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง เพราะในภาวะที่เศรษฐกิจมีความสุ่มเสี่ยงหรือมีความไม่แน่นอนสูง ทางเลือกก็เหมือนจะมีน้ำหนักให้คำนึงถึง “ความเสี่ยง” มากกว่าที่จะเอา “ผลตอบแทน” เป็นตัวตั้ง

ดีที่สุด คือ พิจารณาจากตัวเองว่า เราต้องการแบบไหน แล้วพิจารณาปัจจัยแวดล้อมว่า เป็นไปได้ตามที่เราต้องการหรือไม่ ถ้าไม่ได้หรือไม่ควร ก็พยายามลดสิ่งที่เราต้องการลงมา เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ นั่นแหละจะออกมาเป็นส่วนผสมที่ลงตัวและพอเหมาะพอดีที่สุด เพราะไม่ได้ถูกผลักโดยมีปัจจัยหนึ่งปัจจัยเดียวเป็นตัวตั้ง

ตัวอย่างที่เห็นและน่าจะต้องติดตามปนความกังวลใจนิดๆ ก็คือ ความพยายามในการเปลี่ยนแปลงหรือปรับรูปแบบการลงทุนของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการหรือ กบข. ที่เมื่อก่อนเราคุ้นชินกันว่า จะเน้นเรื่อง “ความเสี่ยง” เป็นหลัก จนมาในระยะหลังๆ ที่เข็มของการลงทุนถูกเบี่ยงไปทางการแสวงหา “ผลตอบแทน” ที่มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายในการลงทุนในหุ้นที่เพิ่มเป็น 9% จากปีก่อนอยู่ที่ 7.9% และล่าสุดยังมีความเป็นไปได้ที่จะขยายเพดานการลงทุนในต่างประเทศจากระดับปัจจุบันที่ 20%

นั่งติดตามด้วยความสนใจและไม่เคยคิดไว้ในใจว่า เงินเกษียณของข้าราชการที่มีสมาชิกกว่า 1.2 ล้านคน ที่จะต้องการใช้ในบั้นปลายของชีวิต จะเน้นแสวงหาผลตอบแทนเป็นหลักมากถึงขนาดนี้

แหล่งที่มา   เว็บไซต์คมชัดลึก โดย...ขวัญชนก วุฒิกุล k_wuttikul@hotmail.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...