วันศุกร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2555

ม.ขอนแก่น...ค้นพบเห็ดเรืองแสง


ฮือฮา นักวิทยาศาสตร์ม.ขอนแก่นค้นพบ “เห็ดเรืองแสง” สารในเห็ดสามารถควบคุมโรคพืช พัฒนาเป็นไม้ประดับจัดสวนเพิ่มความสวยงาม

วันนี้ ( 27 เม.ย.2555) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ณ ห้องประชุมสิริคุณากร 4 ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร สำนักงานอธิการบดี ม.ขอนแก่น รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น  พร้อมด้วย รศ.ดร.วีระศักดิ์ ศักดิ์ศิริรัตน์ อาจารย์ภาควิชาพืชศาสตร์และทรัพยากรการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ ม.ขอนแก่น   ร่วมกันแถลงข่าว “นักวิจัย ม.ขอนแก่น ค้นพบเห็ดเรืองแสง ที่มีสารสามารถควบคุมโรคพืช พร้อมพัฒนาเป็นไม้ประดับจัดสวนเพิ่มความสวยงาม”

โดยมีการสาธิตนำเห็ดเรืองแสงเพาะในเชื้อขี้เลื่อยยางพาราเข้าห้องมืด ที่ใช้สายตาส่องเข้าไปดูจะพบดอกเห็ดจากสีขาวเรืองแสงเป็นสีเขียวอ่อนสวยงามมาก นอกจากนี้มีสาธิตการได้เส้นใยจากเห็ดเรืองแสง และได้หัวเชื้อเห็ดเรืองแสงมาทำเป็นสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพเพื่อนำมารักษาโรครากปมของมะเขือเทศ
รศ.ดร.กิตติชัย กล่าวว่า โคกภูตากา มีพื้นที่ประมาณ 700 ไร่ เป็นป่าเต็งรังที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ตั้งอยู่ในเขต อ.เวียงเก่า จ.ขอนแก่น  จากปัญหาการบุกรุกแผ่วถางของชาวบ้าน แนวทางการแก้ปัญหาที่ถูกนำมาใช้ก็คือการประกาศให้พื้นที่โคกภูตากาเป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืช ถวายเป็นโครงการในพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อปี 2542 โดยหน่วยงานในมหาวิทยาลัยขอนแก่น หลายหน่วยงานด้วยกันได้เข้ามาช่วยกันทำงาน อย่างเช่น สำนักงานโครงการพระราชดำริ ศูนย์บริการวิชาการ ศูนย์วิจัยอนุกรมวิธานประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ เป็นต้น

เมื่อประมาณปี 2545 รศ.ดร.วีระศักดิ์ ศักดิ์ศิริรัตน์ อาจารย์ภาควิชาพืชศาสตร์และทรัพยากรการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมทีมวิจัย ได้เดินทางมาสำรวจพื้นที่โคกภูตากาเพื่อศึกษาถึงความหลากหลายทางชีวภาพของเห็ดในพื้นที่โคกภูตากา จนได้พบ “เห็ดเรืองแสง” ที่เป็นเห็ดในยุคดึกดำบรรพ์


รศ.ดร.วีระศักดิ์ กล่าวต่อมาว่า  การค้นพบเห็ดเรืองแสงถือเป็นการรายงานถึงเห็ดเรืองแสงชนิดนี้ครั้งแรกในประเทศไทย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Neonothopanus nambi มีลักษณะคล้ายกับเห็ดนางรมแต่จัดเป็นเห็ดมีพิษ พบในบริเวณที่มีความชื้นสูงในช่วงที่ฝนตกหนักในรอบปี คือ ช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคม โดยจะขึ้นเป็นกลุ่มๆละ 4 – 5 ดอก บนรากไม้หรือกิ่งไม้ที่ตาย ตอนกลางวันไม่มีแสงแต่จะเปล่งแสงในเวลากลางคืนสามารถมองเห็นได้ไกล 10 – 20 เมตร

เห็ดชนิดนี้ได้บ่งชี้โดยอาศัยลักษณะทางสัณฐานวิทยา และสอบถามข้อมูลจาก Prof.Dr.R. Watiling ผู้เชี่ยวชาญด้านเห็ดจากประเทศอังกฤษ พบว่าเห็ดชนิดนี้ในครั้งแรกบ่งชี้ว่า เป็นเห็ดอยู่สกุล Omphalotus sp. ซึ่งเป็นสกุลที่มีเห็ดเรืองแสงเป็นสมาชิกอยู่หลายชนิด ทางคณะผู้วิจัยได้ศึกษาเพิ่มเติมโดย สกัดเอา DNA และเพิ่มปริมาณของชิ้นส่วน DNA ในส่วน ITS1- 5.8S-ITS2 (Internal transcribed spacer region) ของส่วน  rRNA gene ซึ่งเป็นส่วนที่มีความผันแปรในลำดับนิวคลิโอไทด์ของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดมาก สามารถนำมาบ่งชี้ในระดับชนิดได้ และได้นำชิ้นส่วน DNA นี้ไปหาลำดับนิวคลิโอไทด์ แล้วนำไปเทียบกับฐานข้อมูลใน GenBank พบว่าลำดับนิวคลิโอไทด์ในส่วน ITS เห็ดเรืองแสงที่พบในโคกภูตากานั้น มีความคล้ายคลึงกันกับเห็ดเรืองแสงชนิด Omphalotus illudens

อย่างไรก็ดียังไม่สามารถสรุปได้ว่าเห็ดเรืองแสงที่พบในโคกภูตากานี้เป็นชนิดใด เพราะส่วนของ ITSนี้ยังคล้ายกับเห็ดที่มีชื่อ Neonothopanus nambi  ด้วย ซึ่งเห็ดในสกุลนี้เป็นสกุลที่มีความซับซ้อนในการบ่งชี้มาก เนื่องจากนักอนุกรมวิธานมีการเปลี่ยนชื่อสกุลมาหลายครั้ง จากการศึกษาจนถึงปัจจุบัน จึงพบสรุปในเบื้องต้นได้ว่าเห็ดเรืองแสงที่พบในโคกภูตากาเป็นเห็ดชนิด Neonothopanus nambi
 

เห็ดเรืองแสงนั้นตามปกติจะเป็นเห็ดพิษ และมีรายงานในต่างประเทศว่าเห็ดเรืองแสงสร้างสารพิษหลายชนิดจะนำเอามาใช้ประโยชน์ได้ คณะผู้วิจัยจึงได้ศึกษาถึงการนำเอาสารพิษเหล่านั้นไปใช้ในด้านการควบคุมโรคพืช ซึ่งปัจจุบันกำลังดำเนินการศึกษาอยู่โดยการใช้เห็ดเรืองแสงชนิดนี้ควบคุมไส้เดือนฝอยรากปมในมะเขือเทศ เนื่องด้วยมะเขือเทศเป็นพืชเศรษฐกิจที่นิยมปลูกกันทั่วไป เป็นปัญหาสำคัญของการผลิตมะเขือเทศซึ่งพบระบาดทั้งในเขตหนาวและเขตร้อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือไส้เดือนฝอยรากปม (Meloidogyne spp.)

แม้จะได้ข้อสรุปที่แน่ชัดแล้วว่าเห็ดเรืองแสงสามารถควบคุมไส้เดือนฝอยรากปมได้ แต่ก่อนที่จะผลิตและเผยแพร่ คณะนักวิจัยก็ยังคงต้องศึกษาต่อไปว่าอัตราส่วนใดที่เหมาะสมในการควบคุมศัตรูพืช และไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งที่มีชีวิตนอกเป้าหมาย งานวิจัยเหล่านี้คงต้องอาศัยองค์ความรู้จากศาสตร์หลายแขนง เพื่อร่วมกันศึกษาวิจัยให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป

นอกจากนี้ยังมีแนวคิดนำเห็ดเรืองแสงมาเป็นเห็ดใช้ประดับในการจัดตกแต่งสวนเพิ่มความแปลกใหม่ และสวยงามในยามค่ำคืน หรือ แนวทางการตัดต่อเอายีนจากเห็ดเรืองแสงไปส่งถ่ายในต้นไม้แล้วทำให้ต้นไม้เปล่งแสงในตอนกลางคืนตามถนนในเวลาค่ำ อาจทำให้เพิ่มทัศนวิสัยที่ดีในการมองเห็นขณะขับขี่รถยามค่ำคืน และอาจประหยัดพลังงานไฟฟ้าส่องสว่างตามถนนลงได้ รวมถึงการใช้ประโยชน์ทางด้านการแพทย์ ที่มีแนวทางนำสารออกฤทธิ์ดังกล่าวมาบำบัดโรคมะเร็งอีกด้วย

แหล่งที่มา   เว็บไซต์เดลินิวส์ วันศุกร์ที่ 27 เมษายน 2555 เวลา 14:28 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...