หลายคนอาจจะไม่ทราบว่า วันที่ 21 เมษายน 2555 เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทย เพราะตรงกับวันฉลองครบรอบกรุงรัตนโกสินทร์ ราชธานีแห่งที่ 4 ของสยามประเทศ ซึ่งในปี พ.ศ.2555 นี้ กรุงรัตนโกสินทร์ บรรจบครบรอบเป็นปีที่ 230 แล้ว
ย้อนไปเมื่อ 230 ปีก่อน ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเป็นราชธานีทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งคือฝั่งพระนครในปัจจุบัน จากนั้น ในวันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีฝังเสาพระหลักเมืองที่กรุงเทพมหานคร รวมทั้งโปรดเกล้าฯ ให้มีการก่อสร้างพระบรมมหาราชวัง ตลอดจนวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว ขึ้นในคราเดียวกัน
ในปี พ.ศ.2425 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นปีที่กรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบหนึ่งศตวรรษ หรือ 100 ปี หรือหากนับอย่างปีรัตนโกสินทร์ ก็คือ ร.ศ.100 ในปีนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้จัดงานสมโภชพระนครครบรอบศตวรรษอย่างยิ่งใหญ่ โดยทรงมีพระราชประสงค์ให้จัดงานแสดงสินค้าแห่งชาติขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ณ ท้องสนามหลวง หรือที่เรียกว่า "แนชันนาลเอกษฮีบิชัน" พร้อมกันนี้ ยังทรงให้จัดทำเหรียญที่ระลึก สำหรับพระราชทานให้แก่ผู้ที่นำสินค้าแปลก ๆ มาจัดแสดงในงานสมโภชพระนครด้วย
นอกจากนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงมีพระราชประสงค์ให้บูรณะวัดพระศรีรัตนศาสดารามที่เริ่มทรุดโทรมลงไปตามกาลเวลา ให้กลับมาสวยงามดังเดิมพร้อมกับงานฉลองพระนคร โดยพระองค์ได้พระราชทานเหรียญที่ระลึกให้แก่ผู้ที่ร่วมบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามจนแล้วเสร็จในครั้งนี้ด้วย
การจัดทำเหรียญที่ระลึกถือเป็นอีกสัญลักษณ์สำคัญของการฉลองเฉลิมหนึ่งศตวรรษของกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเหรียญที่ระลึกสำคัญเหรียญหนึ่งที่จัดทำในโอกาสดังกล่าว ก็คือ "เหรียญสตพรรษมาลา" ซึ่งด้านหน้าเหรียญเป็นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 5 และโดดเด่นด้วยการออกแบบรอบเหรียญให้เป็นแฉกรัศมี 100 แฉก ที่หมายถึงกรุงรัตนโกสินทร์ 100 ปี
งานเฉลิมฉลองสมโภชพระนครครั้งยิ่งใหญ่เกิดขึ้นอีกครั้งในปี พ.ศ.2475 เนื่องในสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ครบ 150 ปี ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์ให้บูรณะวัดพระศรีรัตนศาสดารามตามพระราชประเพณี และได้มีการจัดทำเหรียญที่ระลึกฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เนื่องในโอกาสครบรอบ 150 ปี และนำเหรียญดังกล่าวแจกจ่ายให้กับผู้มีจิตศรัทธาที่ร่วมบริจาคบูรณะวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
อย่างไรก็ตาม สัญลักษณ์ที่สำคัญที่สุดของการเฉลิมฉลองงานสมโภชพระนครอมรรัตนโกสินทร์ 150 ปีนั้น ก็คือ การที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพานพระปฐมบรมราชานุสรณ์ หรือ สะพานพระพุทธยอดฟ้า ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมจังหวัดพระนครและธนบุรีเข้าด้วยกัน เพื่อเป็นการขยายพระนคร และช่วยให้การคมนาคมติดต่อกันเป็นไปได้สะดวกขึ้น โดยเริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ.2472 และมีพิธีเปิดในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2475 ซึ่งครั้งนั้นมีการจัดงานมหรสพรื่นเริง เพื่อเฉลิมฉลองการเปิดสะพานต่อเนื่องกันถึงเจ็ดวันเจ็ดคืน
อีก 50 ปีต่อมา ในปี พ.ศ.2525 ได้เกิดงานเฉลิมฉลองสมโภชพระนครอย่างยิ่งใหญ่อีกครั้ง ซึ่งเป็นปีที่กรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ 200 ปี หรือสองศตวรรษ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่งในปีนั้น ทางราชการได้จัดประกวดออกแบบตราสัญลักษณ์งานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์เป็นครั้งแรก และตั้งชื่อว่า "ตราสัญลักษณ์งานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี"
นอกจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ ยังได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมทั้งประกอบพระราชพิธีบวงสรวงบูรพกษัตริย์ พระสยามเทวาธิราช พระเทพารักษ์ และพระราชพิธีสมโภชหลักเมือง เพื่อเป็นสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลแก่พระมหานครรัตนโกสินทร์
สำหรับในปี พ.ศ.2555 ซึ่งเป็นวันสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ รวมทั้งกรุงเทพมหานคร ครบ 230 ปีนั้น ทางกรุงเทพมหานครได้จัดกิจกรรมให้ประชาชนร่วมกันโหวตชื่อคำขวัญของกรุงเทพมหานคร เนื่องในโอกาสครบรอบ 230 ปี เมืองหลวงของประเทศไทย ซึ่งจะประกาศผลการโหวต ในวันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2555 นี้
แหล่งที่มา เว็บไซต์กระปุกดอทคอม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น