วันอังคารที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2555

วิตามินบี 6 ช่วยให้จำความฝันได้แม่นยำขึ้น

          ว่ากันว่าทุกๆ คืนที่เรานอนหลับกันนั้น ทุกคนล้วนฝันเป็นเรื่องราวไปต่างๆ นานา การนอนหลับคืนหนึ่งสามารถฝันได้ 3-4 เรื่องเลยทีเดียว ติดแต่ว่ายามตื่นขึ้นมาจะจำได้หรือไม่ก็เท่านั้น ในความฝันนั้น การจินตนาการโลดแล่นได้อย่างอิสระ ไม่ถูกริดรอนความเป็นไปได้ด้วยคำว่าข้อจำกัดดังเช่นโลกแห่งความเป็นจริง หลายๆ คนจึงมักรู้สึกเสียดายที่ยามตื่นขึ้นมาแล้วกลับจดจำความฝันตัวเองไม่ได้ หรือจำได้เพียงเลือนลางไม่ปะติดปะต่อ (ไม่ว่าจะฝันดี ฝันร้าย ได้ออกเดทกับดาราดัง หรือว่าวิ่งหนีผีก็ตาม)

          แต่ตอนนี้คนที่อยากจดจำความฝันของตัวเองให้ได้คงต้องตั้งใจฟังหน่อยแล้ว เพราะมีทฤษฎีหนึ่งกล่าวไว้ว่า วิตามินบีหก (B6) ซึ่งพบได้มากในปลา เครื่องในสัตว์ นม ไข่แดง ธัญพืช ข้าวที่ไม่ผ่านการขัดสี ถั่วต่างๆ ผักใบเขียว และผลไม้ทานง่ายอย่างกล้วย สามารถเสริมประสิทธิภาพให้คนเราสามารถจดจำความฝันของตัวเองได้ชัดเจนแจ่มแจ้งมากขึ้น แต่กระนั้นก็ยังไม่มีการทดลองเพื่อยืนยันคุณสมบัติในข้อนี้ของวิตามินบีหกอย่างเป็นทางการ

          อย่างไรก็ตามรายงานจากเว็บไซต์เดลิเมล วันที่ 8 เมษายน 2555 ระบุว่ามีงานวิจัยเล็กๆ ชิ้นหนึ่งซึ่งทำขึ้นตั้งแต่ปี 2002 ที่พอเป็นหลักฐานให้ทฤษฎีนี้ได้ โดยการทดสอบดังกล่าวได้อาสาสมัครเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยจำนวน 12 คน แบ่งออกเป็นสามกลุ่ม กลุ่มแรกได้รับวิตามินบีหกปริมาณ 100 มิลลิกรัม กลุ่มถัดมาได้รับวันละ 50 มิลลิกรัม และกลุ่มสุดท้ายได้วิตามินหลอก ทุกๆ กลุ่มได้รับวิตามินเช่นนี้เป็นเวลาติดต่อกัน 5 วัน

          ผลการทดลองปรากฎว่า นักศึกษากลุ่มที่ได้รับวิตามินบีหกในปริมาณมากที่สุด เป็นกลุ่มที่สามารถจดจำความฝันในแต่ละคืนได้แจ่มชัด เป็นเรื่องเป็นราว และปะติดปะต่อที่สุด วัดจากการถ่ายทอดออกมาว่าสามารถจดจำถึงอารมณ์ ความแปลกประหลาดล้ำจินตนาการ และสีสันเห็นสีสันของความฝันได้อย่างเด่นชัดที่สุด
         
          ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าวิตามินบีหกช่วยกระตุ้นกระบวนการเปลี่ยนกรดอะมิโนให้กลายเป็นฮอร์โมนเซโรโทนิน อันทำให้สมองยังคงตื่นตัวในช่วงที่เข้าสู่ช่วงหลับฝัน (rapid eye movement หรือ REM) จึงทำให้จดจำความฝันได้ดีขึ้นนั่นเอง แต่การได้วิตามินบีหกมากเกินความจำเป็นก็ไม่ดีต่อร่างกายเท่าใดนัก เนื่องจากอาจก่อให้เกิดอาการประสาทตื่นตัว นอนไม่หลับ เป็นตะคริว หัวใจเต้นแรง และมีอาการคล้ายคนเป็นโรคซึมเศร้าได้

          ทั้งนี้ในการหลับของคนเรานั้น แบ่งหยาบๆ ออกเป็นสองช่วงคือ ช่วงหลับธรรมดา (non-rapid eye movement หรือ non-REM) และช่วงหลับฝัน (rapid eye movement หรือ REM) ซึ่งคนเราจะเกิดความฝันในช่วงหลังนี้เอง และตั้งแต่การหลับธรรมดาจนถึงเสร็จสิ้นกระบวนการหลับฝันกินเวลา 70-100 นาที แล้วจึงเริ่มต้นวงจรใหม่อีกครั้ง โดยระยะเวลาของวงจรการหลับจะยืดยาวออกไปอีก

          ในคืนหนึ่งๆ คนเราจึงสามารถฝันได้ถึง 3-4 เรื่อง แต่ความฝันเรื่องที่ถูกจดจำได้มากที่สุด มักเป็นความฝันในช่วงหลับฝันของวงจรสุดท้ายก่อนตื่นนอน เพราะมีวงจรเวลาการหลับนานที่สุดทำให้ฝันได้เป็นเรื่องเป็นราวที่สุด ประกอบกับฝันเมื่อใกล้ตื่นจึงทำให้สามารถจดจำเรื่องราวได้ชัดเจนกว่าการหลับฝันช่วงอื่นๆ นั่นเอง

แหล่งที่มา   เว็บไซต์กระปุกดอทคอม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...