วันจันทร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2555

สงกรานต์นี้นั่งรถม้าท่องเมือง "ลำปาง"

ถ้าพูดถึง "ลำปาง" คุณจะนึกถึงอะไร ?

แน่นอนว่าร้อยทั้งร้อยจะต้องนึกถึง อันเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดนี้เป็นอันดับแรก

แต่น้อยคนนักที่จะนึกถึงอย่างอื่นนอกจากรถม้า ลำปางยังเป็นจังหวัดที่มีโบราณสถานและโบราณวัตถุสำคัญๆ ที่สะท้อนเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ชาติไทยเมื่อหลายร้อยปีก่อนเก็บซุกซ่อนเอาไว้อย่างมากมาย เกือบจะทุกซอกทุกมุมของพื้นที่เล็กๆ ขนาด 12,533 กว่าตารางกิโลเมตรของเมืองรถม้าแห่งนี้

ดังนั้น ถึงแม้เราจะไม่รู้ว่าคุณเคยทำอะไร หรือไปเที่ยวที่ไหนอย่างสนุกสนานเมื่อหน้าร้อนปีที่แล้ว แต่สำหรับหน้าร้อนปีนี้เราอยากจะชวนคุณผู้อ่านสะพายกระเป๋าเสื้อผ้าขึ้นหลัง นั่งเครื่องบิน โบกรถทัวร์ และโหนรถไฟไปขึ้นรถม้าตะลอนรอบนครลำปาง เพื่อทำความรู้จักกับเมืองโบราณอายุกว่าพันปีแห่งนี้ให้มากขึ้นกว่าที่เดิม

ในระหว่างที่คุณลุงสารถีในชุดคาวบอยแบบตะวันตก ชวนให้นึกถึงภาพของเมืองเทกซัส (สหรัฐอเมริกา) ในยุคกฎหมายไร้ความหมาย กำลังควบขี่รถเทียมม้าพันธุ์ไทยแท้ท่องรอบนครลำปาง ที่มาของ "เมืองโบราณอายุกว่าพันปี" ตามตำนาน "ชินกาลมาลีปกรณ์" ได้กล่าวถึงประวัติการสร้างเมืองเขลางค์ (ชื่อเมืองลำปางในอดีต) ไว้ว่า ได้เกิดขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 โดยพระสุพรหมฤษีสร้างถวายพระเจ้าอนันตยศกุมารหรืออินทรเกิงการ โอรสของพระนางจามเทวี เป็นเมืองคู่แฝดของเมืองหริภุญชัย ผังเมืองมีลักษณะคล้ายรูปหอยสังข์ (สมุทรสังขปัตตสัณฐาน) 

หลังจากเล่าตำนานนิทานเมืองลำปางกันพอหอมปากหอมคอแล้ว รถม้าลำปางที่เราโดยสารกันมาตั้งแต่เหยียบย่างเข้าสู่จังหวัดแห่งนี้ก็ได้จอดให้ลงหน้า "วัดปงสนุกเหนือ" วัดแรกของประเทศไทยที่ได้รับรางวัล Award of Merit 2008 จากองค์การยูเนสโก


 แต่ยังไม่ทันที่จะได้หย่อนขาลงจากรถม้าเพื่อยืดเส้นยืดสาย ลุงสารถีรถม้าในมาดคาวบอยก็หันหลังกลับมาพูดกับเราด้วยสำเนียงชาวเหนือที่เกือบจะเร้าอารมณ์ว่า "น้องรู้มั้ยว่าวัดปงสนุกนี่เป็นวัดเก่าแก่ที่มีอายุพันกว่าปีเลยนะ" แน่นอนว่าเราก็ตื่นเต้นไปกับคำพูดของลุงคาวบอยสารถีอยู่บ้าง แต่...ก็ไม่ถึงที่สุด เพราะก่อนหน้าที่จะตัดสินใจสะพายเป้หนีกรุงมุ่งขึ้นนั่งรถม้าลำปางแบบนี้ ก็พอจะเคยได้ยินชื่อเสียงของวัดโบราณแห่งนี้มามากอยู่พอสมควร จนรู้คร่าว ๆ ตามคำสันนิษฐานของนักโบราณคดีว่า วัดปงสนุกถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 13 หรือพร้อม ๆ กับตำนานการสร้างเมืองพอดิบพอดี

อีกทั้งจากคำบอกเล่าของพระเถระผู้ใหญ่ที่เคยศึกษาประวัติวัดแห่งนี้จากคัมภีร์ใบลาน ก็ทำให้เราได้รู้ว่าชื่อเดิมของวัดนี้มีมากถึง 4 ชื่อด้วยกัน นั่นก็คือ "วัดศรีจอมไคล-วัดเชียงภูมิ-วัดดอนแก้ว-วัดพะยาว" ก่อนที่จะถูกเปลี่ยนชื่อเป็น "ปงสนุก" ตามชื่อของชาวเมืองปงสนุก (เชียงแสน) ที่ถูกพญากาลิละกวาดต้อนเข้ามาในปี 2346 และชื่อนี้ก็กลายเป็นชื่อที่ถูกเรียกติดปากมาจนถึงทุกวันนี้

ปัจจุบันวัดปงสนุกแห่งนี้ได้กลายมาเป็นแหล่งรวมสิ่งของสำคัญหลายอย่างที่ทรงคุณค่าทางด้านศิลปวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมมากมายอาทิ พระพุทธรูปไม้ เสาหงส์ ซุ้มประตูโขง ภาพพระบฎ วิหารพระนอน วิหารพระเจ้าพันองค์ อันเป็นสถาปัตยกรรมระหว่างล้านนาไทย พม่า และจีน ที่ยังคงหลงเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวของไทยอีกด้วย


หลังจากไหว้พระและเดินชื่นชมโบราณสถานแห่งนี้กันได้สักระยะลุงสารถีรถม้าคนเดิม ก็ควบม้าเทียมรถคู่ใจมาเร่งให้ขึ้นรถเพื่อไปชมสถานที่ต่อไปอย่าง "พิพิธภัณฑ์ปูมละคอน" ที่ตั้งอยู่บริเวณอาคารสำนักงานเทศบาลนครลำปาง เพื่อเปิดให้นักท่องเที่ยวและคนในพื้นที่ได้เข้ามาเยี่ยมชม เพื่อย้อนรำลึกความหลังทางประวัติศาสตร์นครลำปางในอดีต

ระหว่างทางที่รถม้ากำลังลัดเลาะพาเราไปตามตรอกซอกซอยเพื่อพาเราไปยังพิพิธภัณฑ์ปูมละคอนนั้นนับว่าเป็นช่วงที่เราจะได้สัมผัสนครลำปางอย่างแท้จริง เพราะตลอดสองข้างทางที่เรานั่งรถม้าผ่านไปก็จะได้พบเห็นชีวิตความเป็นอยู่ของคนลำปาง รวมทั้งบ้านไม้เก่าที่ตั้งเรียงรายกันอยู่มากมายในตัวเมืองลำปาง จนทำให้เรารู้สึกอยากนั่งไทม์แมชีนย้อนเวลากลับไปเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว เพื่อดูว่าบ้านไม้เก่าเหล่านั้นมีความสวยงามแค่ไหน หากอยู่ในสภาพที่ใหม่เอี่ยมอ่อง

จากคำบอกเล่าของลุงสารถีคนเดิม ทำให้เราได้รู้เพิ่มเติมว่า บ้านไม้ส่วนใหญ่ในลำปางนั้น เมื่อก่อนจะเป็นบ้านที่ฝรั่งมาปลูกเอาไว้เพื่ออยู่อาศัยในช่วงที่ลำปางเป็นเมืองท่าที่เจริญรุ่งเรือง แต่พอศูนย์กลางความเจริญทุกอย่างโดนโยกให้ไปอยู่ที่เชียงใหม่หมด ลำปางก็เลยซบเซาจนฝรั่งต้องทิ้งบ้านไม้เหล่านี้กลับประเทศหรือไปที่อื่นกันหมด เหลือแต่บ้านที่เป็นของคนไทยอย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบัน

และจากปรากฏการณ์ความซบเซาของลำปางตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมานี้เองได้ถูกชาวบ้านนำมาพูดถึงกันอย่างกว้างขวางว่า น่าจะเกิดจากการกลับมาของคำสาปของนางสุชาดาที่ต้องตายด้วยความเข้าใจผิดว่าเป็นชู้กับพระเถระ ทำให้เธอได้สาปแช่งให้นครลำปางไม่มีวันพบกับความเจริญรุ่งเรืองอีกต่อไป (ตำนานพระแก้วดอนเต้า)


ถึงแม้ว่าคำสาปของนางสุชาดาจะรุนแรงข้ามศตวรรตมานับร้อยๆ ปี จนทำให้ลำปางไม่ใช่เมืองที่เจริญรุ่งเรืองเต็มไปด้วยผู้คนที่ผ่านเข้ามาจับจ่ายใช้สอย หรือมีห้างร้านใหญ่ ๆ เข้ามาเปิดเหมือนเพื่อนร่วมภาคอย่างเชียงใหม่ แต่สิ่งหนึ่งที่ลำปางมีแต่หลาย ๆ จังหวัดที่เจริญรุ่งเรืองไม่มีนั่นก็คือ "ความคลาสสิก" ที่คงอยู่ และถูกอนุรักษ์เก็บไว้จนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ไม่ว่าจะเป็นวัดวาอารามหรือบ้านเมืองอันเก่าแก่



แหล่งที่มา   เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ  โดยภูมิ ชื่นบุญ  วันที่ 04 เมษายน พ.ศ. 2555 เวลา 12:14:10 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...