วันจันทร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2555

ชวนผู้สูงอายุ "เข้าครัว" ช่วยฟื้นความจำ

นพ.สุวินัย บุษราคัมวงษ์
แพทย์สาขาอายุรกรรมสมอง
ศูนย์ฟื้นฟูผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาต
โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท
         เป็นที่ทราบกันดีว่า เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายย่อมเสื่อมสภาพไปตามเวลา ส่งผลให้การเคลื่อนไหวช้าลง หรือบางคนความจำเริ่มถดถอย คิดอะไรไม่ค่อยไวเหมือนแต่ก่อน แต่ความเสื่อมเหล่านี้ สามารถเยียวยาได้ หากได้รับการกระตุ้นจากกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย ทำงานศิลปะ หรืองานประดิษฐ์
      
       แต่อีกหนึ่งกิจกรรมใกล้ตัวที่น่าสนใจ และเป็นกิจกรรมบำบัดที่ดีวิธีหนึ่งคือ การเข้าครัวทำอาหารร่วมกับลูกหลาน หรือสอนหลานทำอาหาร ซึ่งนอกจากจะช่วยผู้สูงอายุที่มีปัญหาความเสื่อมของร่างกายแล้ว ยังมีส่วนช่วยในการบำบัดผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องอัมพฤกษ์ อัมพาต ตลอดจนฟื้นฟูความจำได้ดีอีกด้วย
      
       นพ.สุวินัย บุษราคัมวงษ์ แพทย์สาขาอายุรกรรมสมอง ศูนย์ฟื้นฟูผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาต โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท กล่าวว่า หลาน ๆ ที่ช่วยคุณตาคุณยายเข้าครัวทำอาหาร เด็ก ๆ จะอยากรู้อยากลอง ช่างซักช่างถามเพื่อให้คุณตาคุณยายคอยสอน และบอกขั้นตอนการทำอาหาร ซึ่งมีส่วนช่วยกระตุ้นและฟื้นฟูสุขภาพให้ผู้สูงอายุได้มีกิจกรรมการเคลื่อนไหว ได้คิดได้คำนวณ ได้วางแผน นำไปสู่ความรู้สึกว่าตัวเองได้รับความรัก ความเคารพ และความชื่นชมในความสามารถจากหลาน ทำให้เกิดแรงจูงใจในการดำเนินชีวิต
      
       "เสียงเจี๊ยวจ๊าวไร้เดียงสา ตามด้วยเสียงฉอเลาะถามโน่นนี่ของหลาน ๆ การได้สอนหลานคนโปรดทำอาหารที่ผู้สูงอายุชอบ ทำให้สมองส่วนไฮโปธารามัสและต่อมใต้สมองผลิตสารเอ็นโดรฟินออกมาทำให้รู้สึกผ่อนคลาย และมีความสุข และช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย สารเอ็นโดรฟินยังทำให้เกิดการหลั่งของสารโดปามีนซึ่งเป็นสารที่ช่วยให้บรรเทาความเจ็บปวด ความสมดุลของร่างกาย ความหิว การนอนหลับ ระบบการไหลเวียนของเลือด การควบคุมการหายใจ ทำให้ท่านมีความสุขขึ้น และกลับมามีกำลังใจอยากจะช่วยเหลือตัวเองในชีวิตประจำวันได้ เกิดความมั่นใจที่จะกลับมามีชีวิตที่มีความสุขอีกครั้ง" แพทย์สาขาอายุรกรรมสมองเผย
      
       ด้าน ธนกร แก้วประเสริฐ นักกิจกรรมบำบัด ศูนย์ฟื้นฟูผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาต โรงพยาบาลเดียวกัน บอกถึงข้อดีของการชวนผู้สูงอายุเข้าครัวทำอาหารว่า การทำอาหารทุกอย่างที่ต้องเริ่มจากทบทวนความจำสูตร และวิธีการปรุงที่ต้องใช้สมองส่วนหน้า และต้องใช้ความคิดจากสมองส่วนนีโอคอร์เท็กซ์ เริ่มจากการวางแผนว่าว่าต้องใช้วัตถุดิบอะไรบ้าง แต่ละอย่างหาซื้อได้ที่ไหน ราคาเท่าไร หรือต้องใช้เท่าไร การใช้สมองส่วนต่าง ๆ นี้ ทำให้สมองได้ออกกำลัง และเพิ่มการสื่อสัญญาณประสาทในสมองให้แก่ผู้สูงอายุได้
       นอกจากนี้ ยังช่วยกระตุ้น และฝึกการทำงานของกล้ามเนื้อมือ แขน และหัวไหล่ ในการตัก หั่น คน กวน ผัด คลุกเคล้า ฝึกการรับรู้จากผิวสัมผัสจากการหมักหมูกับน้ำปลา กระเทียม หรือกระตุ้นสายตาจากการแยกผัก หั่นหมู และกะระยะความห่างของเขียง รวมไปถึงประสาทสัมผัสต่าง ๆ เช่น การรับรส การจับต้อง การสัมผัส การชิม เป็นต้น ส่วนตัวหลาน ๆ เอง การเข้าครัวกับผู้สูงอายุ ช่วยให้เด็กรู้จักการให้ การขอบคุณ รู้จักการเข้าหาผู้ใหญ่ ความอ่อนน้อมถ่อมตน เรียนรู้เรื่องการรอคอย และเรียนรู้ที่จะเคารพปู่ ย่า ตา ยาย
      
       ทั้งนี้ นักกิจกรรมบำบัดแนะทิ้งท้ายว่า การชวนผู้สูงอายุเข้าครัวทำอาหาร ควรเลือกเมนูง่ายๆ และเหมาะสมที่สามารถทำร่วมกันได้ทั้งผู้สูงอายุและลูกหลานในวัยเด็ก โดยอาจมีคุณพ่อคุณแม่คอยเป็นลูกมือร่วมด้วย เช่น ทำสาคูไส้หมู ต้มยำ น้ำพริก เป็นต้น ที่สำคัญ ควรจัดสภาพแวดล้อมในครัวให้ปลอดภัยสำหรับเด็ก และผู้สูงอายุด้วย
      
       วันสงกรานต์ปีนี้ เป็นวันที่ครอบครัวใหญ่ได้มีเวลาอยู่ร่วมกันพร้อมหน้า เป็นวันที่แสดงถึงความงดงามของการเริ่มต้นปีใหม่ไทยอย่างอบอุ่น ทั้งทำบุญ เยี่ยมญาติ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ทานข้าวร่วมกัน และยิ่งบ้านไหนที่ทำกิจกรรมร่วมกันส่งเสียงหัวเราะทั้งจากหลานๆ และคุณปู่คุณย่าดังประสานกันมาจากในครัวหลังบ้านด้วยแล้ว ยิ่งสร้างบรรยากาศให้อบอุ่นมีความสุขมากขึ้นเป็นพิเศษ

แหล่งที่มา   เว็บไซต์โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 13 เมษายน 2555 15:38 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...