วันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2555

ดวงตาเห็นธรรม

พวกเราบางองค์ที่มาอาศัยการปฏิบัตินั้น อยู่ไปตั้งสองปีก็ยังไม่รู้เรื่องกันเลยก็มี ไม่รู้เรื่องว่าเขาทำอะไรกัน เพราะความเข้าใจตั้งใจจดจ่อไม่มี

ความจริงการเป็นผู้ปฏิบัติใจเรานั้น เมื่อเราดูใจเราเมื่อใดก็ให้มีสติจ้องอยู่อย่างนั้น เมื่อมีสติมันก็มีปัญญา มองเห็นว่า ไม่ว่าที่ใดก็ตาม ไม่ว่าเมื่อใดก็ตาม และไม่ว่าจะเป็นใครพูดอะไรก็ตาม มันล้วนแต่เป็นธรรมทั้งนั้น ถ้าเรารู้จักนำมาคิด

ธรรมะทั้งหลาย คือธรรมชาติที่มันเป็นอยู่ของมัน มันล้วนแต่เป็นธรรมะทั้งหมด ทีนี้เมื่อเราได้รู้ข้อปฏิบัติ

ไม่ว่าสิ่งทั้งหลาย คือธรรมะ เราจึงอาศัยแต่การอบรมจากครูบาอาจารย์ แต่ความจริงแล้วเราควรพิจารณาสภาวธรรมชาติรอบตัวทุกอย่าง อย่างต้นไม้อย่างนี้ ธรรมชาติของมันก็เกิดขึ้นมาจากเมล็ดของมัน แล้วมันก็โตขึ้นมาเรื่อยๆ ถ้าเราพิจารณาเราก็จะได้ธรรมจากต้นไม้ แต่เราไม่สามารถเข้าใจว่าต้นไม้ก็ให้ธรรมะได้ เมื่อมันใหญ่ขึ้นมา ใหญ่ขึ้นมาจนเป็นดอก จนมันออกผล เราก็รู้เพียงแต่ว่าต้นไม้มันเป็นดอก มันออกผลมา แต่ไม่รู้จักน้อมเข้ามาเป็น โอปนยิโก คือ น้อมเข้ามาในใจของเรา

เลยไม่รู้ว่าต้นไม้ก็เทศน์ให้เราฟังได้

พวกเราไม่พากันรู้จักต้นไม้นั้น มันเกิดเป็นผลขึ้นมาให้เราได้เคี้ยว ได้ฉัน ได้กินตามธรรมชาติ เราก็กินไปเฉยๆ กินด้วยการไม่พิจารณารสเปรี้ยว รสหวาน รสมัน รสเค็ม เรียกว่าไม่รู้จักพิจารณาธรรมะจากต้นไม้ จากธรรมชาติ เราไม่พากันเข้าใจถึงธรรมชาติของมัน เมื่อต้นไม้มันแก่ขึ้นใบของมันก็ร่วงลง เราก็เห็นเพียงว่าใบไม้นั้นมันร่วงลง แล้วเราก็เหยียบไป กวาดไปเท่านั้น การจะพิจารณาให้คืบคลานไปอีกก็ไม่มี

อันนี้ก็คือ ไม่รู้จักว่าธรรมชาตินั้น คือธรรมะ

พอใบไม้ร่วงแล้ว ทีนี้ก็จะมียอดเล็กๆ โผล่ขึ้นมา เราก็เห็นเพียงแค่ว่ามันโผล่ขึ้นมาเท่านั้น ไม่ได้พิจารณาอย่างอื่นอีก นี่ก็ไม่เป็น โอปนยิโก คือไม่น้อมเข้ามาหาในตน นี่เป็นเช่นนั้น

ถ้าน้อมเข้ามาหา เราจะเห็นว่าความเกิดของเรากับต้นไม้ก็ไม่แปลกอะไรเลย

สกลร่างกายของเราเกิดขึ้นมาด้วยเหตุด้วยปัจจัยของมัน อาศัยดิน น้ำ ลม ไฟ เกิดขึ้นมาตามธรรมชาติของมัน มันก็เหมือนกับเรา มันก็ไม่ได้แปลกอะไร เพราะเราก็เติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ ทุกสิ่งทุกส่วนของมันก็เจริญขึ้นเรื่อยๆ มันเปลี่ยนสภาวะของมันไปเรื่อยๆ เหมือนกับต้นไม้ ถ้าเราน้อมเข้ามาดูแล้วจะเห็นว่าต้นไม้เป็นอย่างไร เราก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน มนุษย์ทั้งหลายเกิดขึ้นมา เกิดขึ้นมา เบื้องต้น ท่ามกลางแล้วก็แปรไป ขน เล็บ ฟัน หนัง มันก็แปรไป มันไม่อยู่เหมือนเดิม

สิ่งเหล่านี้ถ้าเราไม่รู้จักต้นไม้ เครือเขาเถาวัลย์เหล่านั้น ก็เหมือนกับเราไม่รู้จักตัวของเรา ถ้าเราน้อมเข้ามาเป็น โอปนยิกธรรม จึงจะรู้จักว่าต้นไม้เครือเถาวัลย์นั้นก็เหมือนกับเรา คนเราเกิดมาผลที่สุดแล้วก็ตายไป คนใหม่ก็เกิดมาต่อไป อย่างผม ขน เล็บ หลุดร่วงไปก็งอกขึ้นมาใหม่สลับเปลี่ยนกันไปอย่างนี้ ไม่หยุดสักที

ความเป็นจริงนั้น ก็หากเราเข้าใจข้อปฏิบัติ ก็จะเห็นว่าต้นไม้ก็ไม่แปลกไปจากเรา จะเห็นของสะอาดของสกปรก ก็ไม่แปลกไปจากเรา เพราะมันเป็นอย่างเดียวกัน ถ้าเราเข้าใจธรรมะ เข้าใจฟังธรรมะจากครูบาอาจารย์ มันเปรียบเหมือนกับที่ข้างในกับข้างนอก สังขารที่มีวิญญาณครองและไม่มีวิญญาณครอง นี่มันก็เหมือนกัน ไม่ได้แปลกอะไร ถ้าเราเข้าใจว่ามันเหมือนกันแล้ว เราเห็นต้นไม้ว่าเป็นอย่างไร เราก็จะเห็นขันธ์ของเรา คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร ก้อนสกลร่างกายของเรานี้ก็เช่นกัน มันก็ไม่ได้แปลกอะไรกัน

ถ้าเรามีความเข้าใจเช่นนี้ เราก็จะเห็นธรรม

เห็นอาการของขันธ์ห้าของเราว่า มันเคลื่อนมันไหว มันพลิก มันแพลง มันเปลี่ยนมันแปลงไปไม่มีหยุดทีนี้ไม่ว่าเราจะยืน จะเดินหรือนั่งหรือนอน ใจของเราก็จะมีสติคุ้มครองระวังรักษาอยู่เสมอ เมื่อเห็นของภายนอกก็เห็นของภายใน ถ้าเห็นของภายใจก็เห็นของภายนอก เพราะมันเหมือนกัน ถ้าหากว่าเราเข้าใจอย่างนี้ เราก็ได้ฟังเทศน์ของพระพุทธเจ้าแล้ว

ถ้าเข้าใจอย่างนี้ก็เรียกว่า “พุทธภาวะ” คือผู้รู้เกิดขึ้นมาแล้ว เกิดขึ้นมาแล้ว มันรู้แล้ว รู้อาการภายนอก รู้อาการภายใน รู้ธรรมทั้งหลายต่างๆ ที่มันเป็นมา

ถ้าเข้าใจอย่างนี้ แม้เรานั่งอยู่ใต้ร่มไม้ก็เหมือนกันกับพระพุทธเจ้าท่านเสด็จมาเทศน์โปรดเรา เราได้ฟังเทศน์ของพระพุทธองค์อยู่เสมอ เราจะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน ก็ได้ฟัง เราจะได้เห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ อันนี้เราก็ได้ฟังเทศน์อยู่เสมอเหมือนกับพระพุทธเจ้าเทศน์ให้เราฟัง

พระพุทธเจ้าก็คือ ผู้รู้อยู่ในใจของเรานี้แหละ รู้ธรรมเหล่านี้แล้วเห็นธรรมเหล่านี้แล้ว ก็พิจารณาธรรมอันนี้ได้ ไม่ใช่ว่าพระ

พุทธเจ้าท่านนิพพานไปแล้ว ท่านจะมาเทศน์ให้เราฟัง

พุทธภาวนาคือ ตัวผู้รู้ คือดวงจิตของเรานี้เกิดรู้ เกิดสว่างมาแล้ว ตัวนี้แหละจะพาเราพิจารณาธรรมทั้งหลายเหล่านั้น

ธรรมก็คือพระพุทธเจ้าองค์นี้แหละ ถ้าตั้งพุทธะเอาไว้ในใจของเรา คือความรู้สึกมันมีอยู่อย่างนี้เราเห็นหมด เราก็พิจารณาไป มันก็ไม่แปลกจากเรา เห็นสัตว์ก็ไม่แปลกจากเรา เห็นต้นไม้ก็ไม่แปลกจากเรา เห็นคนทุกข์คนจนก็ไม่แปลกกัน เห็นคนร่ำรวยก็ไม่แปลกกัน เห็นคนดำคนขาวก็ไม่แปลกกัน เพราะสิ่งเหล่านี้มันตกอยู่ในสามัญลักษณะอันเดียวกัน คือลักษณะอันเดียวกัน

ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้ ก็เรียกว่าผู้นั้นอยู่ไหนก็สบาย จะได้มีพระพุทธเจ้าเทศน์โปรดเสมอเลยทีเดียว

ถ้าผู้ไม่เข้าใจอย่างนี้ ไม่เข้าใจในเรื่องนี้ก็ให้นึกอยากจะฟังเทศน์กับอาจารย์อยู่เรื่อยไป เลยไม่รู้จักธรรมะ

ที่สมเด็จพระบรมศาสดาของเราท่านตรัสว่า ตรัสรู้ธรรมนั้นก็คือ รู้ธรรมชาติเหล่านั้นแหละ ธรรมชาติที่มันเป็นอยู่นี้แหละ ถ้าเราไม่รู้จักธรรมชาติธรรมดาอันนี้ พอเราเห็นเข้า เราก็กระตือรือร้นตื่นเต้น มีความร่าเริงจนหลงอารมณ์ จึงมีโศกเศร้า เสียใจ เพราะหลงอารมณ์ หลงธรรมชาติเหล่านี้แหละ เมื่อมัวหลงธรรมชาติอันนี้ มันก็คือไม่รู้จักธรรมะนั่นเอง

สมเด็จพระบรมศาสดาท่านทรงชี้ธรรมชาติ คือธรรมชาติหรือธรรมดาว่ามันเป็นของอยู่อย่างนั้น เกิดมาแล้วก็เปลี่ยนไปแปรไปแล้วดับไปเป็นธรรมดา จะเป็นตัวว่าสุขก็เหมือนกัน จะเป็นตัวว่าทุกข์ก็เหมือนกัน

อย่างวัตถุที่เราปั้นขึ้นมา เช่น ถ้วยหม้อต่างๆ ทั้งหลายเหล่านี้เมื่อถูกปั้นขึ้นมา ก็เกิดจากเหตุจากปัจจัย คือ ความปรุงแต่งของเราขึ้นมาอีกทีหนึ่งเช่นกัน ครั้นได้ใช้ไปมันก็เก่าไป แตกไป สลายไป มลายไปได้ เพราะเป็นธรรมดาของมัน ต้นไม้ ภูเขา เถาวัลย์ต่างๆ ก็เหมือนกัน ตลอดจนมนุษย์สัตว์เดียรฉานก็เหมือนกัน มีความเกิดขึ้นเป็นเบื้องต้น มีความแปรไปเป็นธรรมดาเช่นนั้น

เมื่อท่านอัญญาโกณฑัญญะท่านฟังเทศน์เป็นปฐมสาวกนั้น ท่านไม่ได้เข้าใจอะไรมากมาย ท่านเข้าใจว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นมาเป็นเบื้องต้น แล้วมีความแปรไปเป็นธรรมดา แล้วผลที่สุดก็มีความดับเป็นธรรมดาของมัน เมื่อก่อนนี้พระอัญญาโกณฑัญญะนั้นไม่เคยได้มีความนึกหรือความคิดอย่างนี้เลย หรืออักนัยหนึ่งก็คือไม่เคยพิจารณาให้แจ่มแจ้งเลยสักครั้ง

ฉะนั้น พระอัญญาโกณฑัญญะจึงไม่ได้ปล่อยหรือไม่ได้วาง คือมีอุปทานในขันธ์ทั้งห้านี้อยู่ ต่อเมื่อได้มาฟังเทศน์ของสมเด็จพระบรมศาสดาของเรา ขณะนั่งฟังมีพุทธภาวนาเกิดขึ้นได้มองเห็นธรรมว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นของไม่แน่นอน มันเป็นธรรมชาติหรือธรรมดานี่เอง ท่านจึงบอกได้ว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเบื้องต้น แล้วมีความแปรไป สิ่งเหล่านี้ดับไปเป็นธรรมดา ธรรมชาติอันนี้มันเป็นอยู่อย่างนี้เสมอ

ความเห็นของพระอัญญาโกณฑัญญะในขณะที่ฟังนั้นเป็นความรู้สึกแปลก แปลกจากในอดีตหรือในกาลก่อนที่ได้เคยพิจารณา อันนี้รู้เท่าถึงดวงจิตจริงๆ เป็นได้ว่าพุทธะ คือผู้รู้เกิดขึ้นมาในเวลานั้น สมเด็จพระบรมศาสดา ท่านทรงเรียกว่าพระอัญญาโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมแล้ว

ดวงตาเห็นธรรมนั้นคือ ดวงตาเห็นอะไร คือ ดวงตาเห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดเป็นเบื้องต้นความแปรไปเป็นท่ามกลาง ความดับเป็นที่สุด สิ่งใดสิ่งหนึ่งก็คือทั้งหมด จะเป็นรูปก็ช่าง จะเป็นนามก็ตามสิ่งใดสิ่งหนึ่งครอบรวบเลยทีเดียว ได้แก่ธรรมชาติทั้งหมดเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งจะเป็นรูปธรรมก็ช่าง จะเป็นนามธรรมก็ตาม เกิดขึ้นแล้วก็แปรดับไป

อย่างตัวสกลร่างกายของเราก็เหมือนกัน มันเกิดแล้วก็แปรไปตามธรรมดาของมัน แล้วก็ดับไป อย่างเด็กก็แปรจากเด็ก ดับจากเด็กมาเป็นหนุ่ม จากหนุ่มก็ดับไปเป็นแก่ จากแก่ก็ดับไปเป็นชรา จากชราก็ตาย ต้นไม้ ภูเขา เถาวัลย์ก็เหมือนกัน เบื้องต้นก็เหมือนกัน มันแปรไป แล้วก็แก่ไป สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ธรรมชาติเหล่านี้ เรียกว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ความเห็นหรือความเข้าใจอันเกิดมาจากผู้รู้ในคราวที่นั่งฟังธรรมอยู่นั้น เข้าไปถึงใจของพระอัญญาโกณฑัญญะ จนเป็นเหตุให้ถอนตัวอุปธิ หรืออุปาทานออกจากสังขารทั้งหลายทั้งปวงนั้นได้ เป็นต้นว่า สักกายทิฏฐิ คือ อาการที่ไม่ถือเนื้อถือตัวทั้งหลายนี้ เห็นตามสกลร่างกายของเรา แล้วก็ไม่เห็นว่าเป็นตัวเป็นของเรา เห็นชัดลงไปจนเป็นเหตุให้ถอนจากอุปาทานนั้น ไม่ถือตัวซึ่งเป็นสักกายทิฏฐิและไม่มีวิจิกิจฉา

เมื่อถอนอุปาทานออกมาจากความยึดมั่นถือมั่นแล้ว ก็มิได้สงสัยเลยในธรรมทั้งหลาย หรือในความรู้ทั้งหลาย เมื่อเข้าไปเห็นธรรมทั้งหลายเหล่านั้นแล้วก็เปลี่ยนออกไปเลยทีเดียวรู้ว่า นี่วิจิกิจฉา นี่สีลัพพตปรามาส

การปฏิบัติของท่านนั้นแน่แน่วตรงเข้าไป ไม่ได้เคลือบแคลงสงสัย ไม่ได้ลูบหรือไม่ได้คลำ ถึงแม้ว่าสกลร่างกายมันจะเจ็บ มันจะไข้เป็นอย่างใด ท่านก็ไม่ลูบคลำมัน ไม่ได้สงสัยเสียแล้ว

การที่ไม่ได้สงสัยนี้ก็คือ ถอนอุปทานออกมาแล้ว

ถ้ามีอุปทานอยู่ก็ต้องไปลูบไปคลำในสกลร่างกายนี้ อาการลูบคลำในสกลร่างกายนี้เป็นสีลัพพตปรามาส เมื่อถอนสักกายทิฏฐิออกจากกายนี้ สีลัพพตปรามาสก็หมดไป วิจิกิจฉาก็เลิก สีลีพพปรามาสก็เลิก

ถ้ายังมีสีลัพพตปรามาสอยู่ วิจิกิจฉาก็อยู่อุปทานก็ยังอยู่

แหล่งที่มา    เว็บไซต์โพสทูเดย์ โดย..ภัทระ คำพิทักษ์ 22 มกราคม 2555 เวลา 09:12 น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...