คู่ชีวิตสามีภรรยาร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาเนิ่นนาน แต่แล้วโชคชะตาก็มาเยี่ยมเยือน
ภรรยาล้มป่วย และตรวจพบว่าเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย กระนั้นโชคชะตาก็ไม่เลวร้ายเสียทีเดียวเนื่องเพราะมะเร็งนี้ยังมีหนทางรักษา แต่ค่ายาที่รักษานี้ราคาแพงมาก สมมติราคาอยู่ที่ 6 แสนบาท สามีพยายามทำทุกวิถีทาง ขายบ้าน ขายทรัพย์สิน หยิบยืมเงินทอง ขอความช่วยเหลือก็รวบรวมมาได้ราว 4 แสนบาท สามีนำเงินค่ารักษามาให้โรงพยาบาล พร้อมกับคาดหวังว่าทางโรงพยาบาลจะเห็นใจยอมลดหย่อนค่ารักษาหรือยอมให้ผ่อนชำระ แต่ทางโรงพยาบาลก็ไม่ช่วยเหลือ ไม่ได้มีความกรุณาดังที่คาดหมาย สามีดิ้นรนทุกทาง ขณะที่อาการของภรรยาก็เลวร้ายลงเรื่อยๆ ต่อมาชายหนุ่มมาทราบว่าต้นทุนการรักษาพยาบาลก็ไม่ถึง 3 แสนบาท แต่ก็ไม่มีหลักฐานที่จะต่อรองค่ารักษาพยาบาล ทางรอดสุดท้ายที่คิดออก คือ สามีอาจต้องทุจริตทรัพย์สินของบริษัทที่ทำงาน หรืออาจต้องใช้เช็คปลอมเพื่อหลอกลวงกับทางโรงพยาบาล ขโมยยา แต่ทุกทางก็เป็นการทำผิดศีลธรรมทั้งสิ้น
สมมติว่าสามีคนนี้มาขอคำปรึกษากับเราในฐานะที่พึ่งสุดท้าย เราจะให้คำแนะนำอะไร อย่างไร นี่คือตัวอย่างเรื่องราวความขัดแย้งที่นักจิตวิทยาการศึกษาท่านหนึ่งได้ใช้เป็นประเด็นศึกษาและทำความเข้าใจในเรื่องการเรียนรู้และปฏิสัมพันธ์ที่มีต่อเรื่องศีลธรรม ลอเรน คอลเบิร์ก อธิบายว่า สำหรับเด็กเล็ก มุมมองต่อเรื่องศีลธรรมเป็นอะไรที่ง่าย ตรงไปตรงมา สิ่งที่เด็กเล็กเรียนรู้คือ การเชื่อฟังและความหวั่นเกรงต่อการถูกลงโทษ เด็กเล็กบางคนมองว่าไม่ควรขโมยเพราะมันผิดศีลธรรม แต่เด็กเล็กบางคนก็อาจเห็นด้วยกับการขโมย สำหรับเด็กเล็กแล้วเรื่องของศีลธรรมเป็นอะไรที่ควรเชื่อฟัง และหากไม่เชื่อฟังก็เป็นเพราะเหตุผลอะไรบางอย่างที่ง่าย ไม่ซับซ้อน
ขณะที่เด็กโต วัยรุ่นที่เริ่มมีการรู้คิด รู้อ่าน พวกเขาเริ่มเรียนรู้ว่าพวกเขาไม่ได้เป็นศูนย์กลางของโลกอีกต่อไป พวกเขามีคนอื่นเกี่ยวข้องด้วย ความประพฤติของพวกเขา หลักศีลธรรมที่ยึดถือนั้น สัมพันธ์กับการยอมรับของหมู่คณะที่เด็กโตเหล่านั้นสังกัดอยู่ ความประพฤติหรือการมีศีลธรรมในระดับช่วงวัยนี้จึงขึ้นกับค่านิยมของหมู่คณะ แรงจูงใจทางศีลธรรมในขั้นนี้เริ่มมีความซับซ้อนเพราะหมู่คณะมีอิทธิพลต่อการคิดนึกและปฏิบัติของช่วงวัยนี้ ความนึกคิดทางศีลธรรมในช่วงขั้นตอนเปลี่ยนผ่านนี้ ยึดโยงกับการยอมรับ และความมุ่งหวังเพื่อเป็นที่รักของคนพิเศษ เช่น พ่อแม่ คนที่มีความหมายกับชีวิต เติบโตก้าวขึ้น คือ พัฒนาศีลธรรมในลักษณะขยาย คือ มองเห็นประเด็นศีลธรรมในลักษณะเชื่อมโยงกับมิติของหมู่คณะ ผลลัพธ์การตัดสินใจจึงอาจคล้ายคลึงกับเด็กเล็ก แต่สิ่งที่แตกต่าง คือ มิติความซับซ้อนในเชิงเหตุผลที่มากขึ้น
ก้าวขึ้นสู่พัฒนาการของวัยผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ในฐานะผู้มีวุฒิภาวะ มีมิติการคิดนึกกว้างไกลและลึกซึ้งมากขึ้น ผู้ใหญ่วัยนี้มองศีลธรรมในแง่ข้อตกลงสัญญาประชาคมและสิทธิขั้นพื้นฐาน เหตุผลการคิดนึกต่อเรื่องศีลธรรมไม่ได้มาจากใครคนหนึ่งเป็นผู้กำหนด แต่เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องมีสิทธิมีเสียงที่จะบอกเล่า หรือมีส่วนร่วมต่อคำถามที่มีต่อสังคม เช่น “สังคมที่ดี เกิดขึ้นได้อย่างไร” มีมุมมองที่ให้ความสำคัญกับคุณค่า สิทธิ และหน้าที่ที่พึงมี พึงยึดถือ หลักศีลธรรมหรือจริยธรรมของสังคมจึงยึดโยงกับความเป็นประชาธิปไตย
กระนั้นเสียงของมติคนส่วนใหญ่หรือการถือหลักประชาธิปไตยก็อาจไม่ใช่คำตอบถูกต้องสำเร็จรูป เพราะความถูกต้องของคนส่วนใหญ่กลุ่มหนึ่งอาจหมายถึงการทำร้ายคนส่วนใหญ่อีกกลุ่มหนึ่ง เช่น การบริโภคที่เกินความพอดีย่อมหมายถึงการเบียดเบียนทรัพยากรของสังคมโลกโดยรวม มิติศีลธรรมจึงต้องเป็นเรื่องของหลักการสากล : ความเมตตากรุณา ความรัก สันติวิธี การไม่เบียดเบียน หลักกฎหมายจึงต้องตอบสนองหลักการศีลธรรมสากลผ่านระบบความยุติธรรม ความเสมอภาค การให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพในความคิดและการแสดงออก
แล้วปัญหาของเรื่องนี้อยู่ที่ไหน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงปัญหาความรุนแรงต่างๆ ก็มากขึ้นทั้งจากภัยธรรมชาติและภัยจากแนวคิดการเมือง ผลประโยชน์ ความเชื่อที่ขัดแย้งและไม่ประสานกัน กับดักสำคัญที่ทำให้เรื่องราวเช่นนี้รุนแรง ก็คือ ความเชื่อที่ว่า “เราถูก คนอื่นต่างหากที่ผิด” ความเชื่อนี้จึงเป็นแรงผลักที่ทำให้ไม่เกิดการเรียนรู้ ไม่เกิดการรับฟัง ข้อสังเกตจากคุณอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี และผู้ใหญ่สำคัญของสังคมไทยตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า “คนไทยจำนวนหนึ่ง ‘ฟังไม่เป็น คิดไม่ออก พูดไม่จริง และทำไม่ถูก’” เราแต่ละคนจึงมีความเป็นไปได้อย่างมากทีเดียวที่อาจตกอยู่กับกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่คุณอานันท์หมายถึงก็ได้ และเช่นนั้นก็หมายถึงว่าเรามีส่วนร่วมในการทำร้ายคนอื่น ทำร้ายสังคม
ศีลธรรมในฐานะหลักความประพฤติที่มีอยู่ในใจเรา จึงต้องมีการทบทวนเรียนรู้ และตรวจสอบเสมอ เพราะเป็นไปได้อย่างมากที่เราอาจเผลอตกอยู่ในกับดักและใช้ศีลธรรมในระดับต่ำกว่าวุฒิภาวะที่พึงเป็น และนั่นคือเรื่องน่ากลัวของทุกคนในสังคม
แหล่งที่มา เว็บไซต์โพสทูเดย์ 29 มกราคม 2555 เวลา 10:52 น.
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ตอน 37 ลาก่อนทองแดง
ตอน 36 อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...
-
ใครที่นึกเบื่อตลาดติดแอร์ แต่ชื่นชอบตลาดเปิดท้ายรวมถึงของขายแบกกะดินราคาถูก หรือร้านขายตามล็อกหลากหลายแนว มาทอดน่องช็อปให้เพลินที่ "ต...
-
การจ่ายเงินรายได้ไม่ครบถ้วน ว่าจริงๆ แล้วเงินที่ทางผู้จ้างได้จ่ายให้ผู้รับจ้างไม่ครบนั้น เพราะว่าทางผู้จ้างได้หักภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ซ...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น