ตามธรรมเนียมพิธีพราหมณ์ก่อนที่จะสร้างเมืองแห่งใหม่ จะต้องทำพิธีฝังเสาหลักเมืองตามตำราพระราชพิธีนครฐาน เช่นเดียวกับศาลหลักเมือง กรุงเทพฯ สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ โปรดเกล้าฯ ให้กระทำพิธียกเสาหลักเมืองเมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2325
เสาหลักเมืองในสมัยรัชกาลที่ 1 ทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์ประกบด้วยไม้แก่นจันทน์ ภายในบรรจุดวงชะตาเมือง สูงพ้นดิน 108 นิ้ว มีเม็ดยอดรูปบัวตูมสวมบนเสาหลัก ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงแก้เคล็ดตรงเมืองโดยโปรดให้ขุดเสาหลักเมืองเดิม จัดสร้างเสาหลักเมืององค์ใหม่บรรจุดวงชะตาเมืองลงในยอดเสาทรงมัณฑ์
โดยบูรณะศาลหลักเมืองเก่าเปลี่ยนเป็นยอดพระปรางค์ตามแบบอย่างศาลหลักเมืองกรุงศรีอยุธยา จากนั้นจึงอัญเชิญเสาหลักเมืองทั้งสองมาประดิษฐานจนกระทั่งทุกวันนี้
ให้สังเกตว่าเสาหลักเมืองต้นที่สูงกว่าสร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 สื่อความหมายว่า มีความปราดเปรียวในการรบ อีกเสาสร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 สื่อความหมายว่ามีความมั่งคั่งสมบูรณ์ เนื่องจากเป็นช่วงที่บ้านเมืองปลอดจากศึกสงคราม
ทุกวันจะมีผู้คนหลั่งไหลมากราบสักการะ นิยมสรงน้ำ ปิดทอง และผูกผ้าแพรสีล้อม 4 เสาจำลองด้านนอก ก่อนไปกราบเคารพหอประดิษฐาน 5 เทพารักษ์ คือ พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระกาฬไชยศรี เจ้าพ่อเจตคุปต์ และเจ้าพ่อหอกลอง โดยเชื่อว่าจะช่วยตัดเคราะห์ต่อชะตา และเสริมวาสนาบารมีได้
แหล่งที่มา นสพ. M2F วันศุกร์ที่ 20 ม.ค. 55 (069)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น