วันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2555

พระอาจารย์ประคองมือขวาพระราชรัตนรังษี

คงเป็นที่ทราบโดยทั่วกันแล้วว่า มหาเถรสมาคมมีมติให้พระราชรัตนรังษี (วีรยุทธ์ วีรยุทโธ) เป็นเจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยาอินเดีย และเป็นหัวหน้าพระธรรมทูตไทยประจำอินเดียเนปาล แต่ท่านเจ้าคุณมีวัดในอินเดียและเนปาลต้องดูแลหลายวัด จึงต้องหาพระที่ไว้ใจได้มาทำหน้าที่แทนที่วัดไทยพุทธคยา อันเป็นวัดแห่งแรกที่รัฐบาลไทยสร้างในต่างประเทศ เมื่อ 55 ปีมาแล้ว พระที่ได้รับความไว้วางใจรูปนั้นคือพระประคอง ปริปุณโณ อายุ 47 ปี พรรษา 27 ที่อยู่ที่ประเทศอินเดียมา 20 ปี

ผู้เขียนพบกับท่านครั้งแรกเมื่อแวะไปเยี่ยมวัดไทยพุทธคยา ก่อนสิ้นปี พ.ศ. 2554 เมื่อแนะนำตัวก็พูดคุยกันหลายเรื่อง

ก่อนมาอยู่วัดไทยพุทธคยา เป็นหูเป็นตาแทนเจ้าอาวาสรูปใหม่ ท่านอยู่ที่วัดไทยสารนาถ เมืองพาราณสี 19 ปี สำนักเดิมที่เมืองไทย ได้แก่ วัดมหาธาตุ

ท่านเล่าว่ามาอยู่วัดไทยพุทธคยา รับผิดชอบทั้งวัด รวมทั้งคอยระวังภัย ไม่ให้โจรมาปล้น เวลากลางคืนท่านจึงอยู่บนดาดฟ้าของตึกภูริปาโลคลีนิคที่อยู่หน้าวัดโดยมีไฟฉาย และไม้ตีเบสบอล 1 อัน เพราะกลางดึกวันที่ 4 ธ.ค. 2554 โจรอินเดียประมาณ 16 คน ปล้นวัดเมตตาพุทธาราม วัดไทยที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ห่างจากวัดไทยพุทธคยาไปประมาณ 600 เมตร ได้เงินวัดและจากญาติโยมผู้แสวงบุญที่พำนักที่วัดไปประมาณ 1 ล้านรูปี

อาศัยยามของวัดบางทีก็ไว้ใจไม่ค่อยได้ ยามบางคนหลับยาม ส่วนท่านก็ไม่ไม่ประมาท บางคืนนอนน้อย ต้องระวังตลอดเวลา แต่กระนั้นก็มั่นใจจากคาถาอาคมที่ร่ำเรียนจากเสือใบ สะอาดดี เสือดังเมืองสุพรรณ เมื่อ 20 ปีที่แล้วหลังจากพบกันโดยบังเอิญ ที่วัดมหาธาตุ

อย่างไรก็ตาม ท่านยังอยากพบเสือใบที่เป็นมัคนายกอยู่วัดพันตำลึง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี เพราะเสือใบเคยพูดว่ามีของพิเศษจะมอบให้ท่าน แต่เวลาล่วงเลยมา 20 ปีแล้ว เสือใบอายุ 91 ปี ในปัจจุบันไม่รู้ว่ายังจะจำท่านได้หรือไม่ จึงบอกว่าจะหาโอกาสไปพบเมื่อมาเมืองไทย

พบเสือใบ
เมื่อมาเมืองไทยช่วงนี้ ขณะที่คอยต่อวีซ่าเข้าอินเดีย ได้เดินทางไปพบเสือใบ สะอาดดี ที่บ้านพันตำลึง เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2555
ในการพบกันนั้น เสือใบที่อยู่ในวัย 91 ปี ได้ให้การต้อนรับในบ้านที่ใหญ่โต ด้วยความยินดี หลังจากทราบว่าเป็นใครมาจากไหน ทั้งนี้เสือใบนั้น หลังจากพ้นโทษ ทำมาหากินตามปกติชนคนดีมีสัมมาอาชีวะ และเข้าวัดปฏิบัติธรรม ที่วัดมหาธาตุ กรุงเทพฯ มานาน โดยพูดด้วยความภูมิใจว่าท่านเป็นศิษย์พระพิมลธรรม (อาจ) ซึ่งต่อมาเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ และปฏิบัติธรรมกับเจ้าคุณโชดก (พระธรรมธีราชมหามุนี ป.ธ. 9) วัดมหาธาตุ

ชีวิตบั้นปลายอยู่กับภรรยา อายุ 72 ปี มีบุตรสาวคอยดูแลด้านอาหารการกิน บางครั้งได้รับเชิญไปเป็นประธานในงานการกุศล เช่น ทอดผ้าป่าบ้าง ไปแต่ละแห่งจะมีคนมาขอให้เป่ากระหม่อมให้เสมอ

ก่อนลากลับเสือใบถวายพระผงสุพรรณ กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุให้พระอาจารย์ประคอง 1 องค์ และบอกว่าทำบุญทุกครั้งอธิษฐานว่าหากเลือกเกิดได้ขอเกิดเป็นตำรวจ ไม่ขอเกิดเป็นเสืออีกต่อไป

พระอาจารย์ประคองบอกผู้เขียนว่ากลับมาเมืองไทยครั้งนี้พบเสือใบสมใจนึกเพราะปรารถนาไว้ 20 ปีแล้ว

ดูแลวัดไทยพุทธคยา
ส่วนความรับผิดชอบที่วัดไทยพุทธคยา ท่านเล่าว่า ทำทุกอย่าง ตั้งแต่ดูแลการสูบส้วม จนกระทั่งการบริหารระดับบน หรือบางครั้งต้องเป็นวิทยากรบรรยายให้คณะทัวร์ระดับ VIP ตามคำเรียกร้อง

ด้านความสะอาดในวัดไทยพุทธคยาเห็นชัดเจนสะอาดเป็นระเบียบ ว่าไม่มีขี้นกพิราบรอบๆ โบสถ์ เพราะท่านจะให้รางวัล คนกวาด 100 รูปีเมื่อกวาดขี้นกได้ 1 กระสอบ (กระสอบปุ๋ย) ในการับผิดชอบต่อท่านเจ้าอาวาสพระราชรัตนรังษี ซึ่งพระอาจารย์ประคองเรียกด้วยความเคารพว่าหลวงพ่อนั้น ท่านจะให้ความสำคัญทุกอย่างรวมถึงอาหารที่ฉันในแต่ละมื้อว่าจะไม่สารพิษเจือปน จึงต้องทำหน้าที่ชิมอาหารทุกจานก่อนถวายหลวงพ่อ

ก่อนบวชมีฐานะเป็นพ่อเลี้ยง
ก่อนบวชนั้น เป็นคนมีประสบการณ์ในการทำงานสร้างตัวเองเป็นระดับพ่อเลี้ยงตั้งแต่เป็นวัยรุ่น ทั้งๆ ที่พอเกิดมาเป็นพ่อเลี้ยงน้อยอยู่ก่อน เพราะพ่อแม่เป็นพ่อเลี้ยงเมืองพะเยา

ชื่อเดิมประคอง นามสกุลปงกา เกิดวันที่ 26 ก.ย. 2506 ที่ อ.พะเยา จ.เชียงราย ปัจจุบัน คือ จ.พะเยา


บวชเมื่ออายุ 20 ปี กะว่าจะบวชสัก 7 วัน แล้วลาสิกขาไปแต่งงานกับเจ้าสาวที่หมั้นไว้ จาก 7 วันกลายเป็น 27 พรรษาไปแล้วในปีนี้

เมื่อบวชแล้วได้ร่ำเรียนวิชาการต่างๆ จนได้ปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ แต่ไม่ได้เป็นมหาเปรียญ นอกจากมีเพื่อนเป็นมหาและเป็นเจ้าคุณหลายรูป เมื่อไปอยู่อินเดีย พ.ศ. 2535 โดยประจำที่วัดไทยสารนาถ ได้เรียนปริญญาโทจบด้านรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยพาราณสี

ความภูมิใจ
เมื่ออยู่วัดไทยสารนาถ ภูมิใจที่ได้สานต่อเจตนารมณ์ พระครูประกาศสมาธิคุณ พระอาจารย์ที่บุกเบิกวัด เพราะรู้สึกศรัทธาเลื่อมใสเมื่อได้อ่านประวัติและเจตนารมณ์ในการตั้งวัดไทยสารนาถ เพื่อพุทธบริษัท 4 โดยไม่สนใจนิกาย ซึ่งเจตนารมณ์นี้โดนใจมาก เพราะท่านเองก็คิดว่าเมื่อมาอินเดียควรมีเพียงนิกายเดียวคือ พุทธนิกาย เท่านั้น

อาจารย์ จำได้
เมื่อมีประสบการณ์ในอินเดีย 20 ปี ย่อมรู้ย่อมเห็นเรื่องต่างๆ ทั้งของนักแสวงบุญชาวไทยและคนอินเดียที่เป็นคนท้องถิ่น ท่านจึงเล่าเรื่องต่างๆ ได้อย่างมีอรรถรส เพราะรู้อะไรรู้ลึก พร้อมเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ทำให้คนฟังเพลิดเพลิน

เช่นเรื่องแขกอินเดียที่พุทธคยา เมื่อพบคนไทยหรือพระไทย จะทักทายที่ทำเอาคนฟังแปลกใจไปตามๆ กัน โดยแขกทักว่า อาจารย์ อาจารย์ จำได้ จำได้ (คนไทยสอนไว้)

ท่านจึงหยิบยกเอามาแต่งเป็นเพลงให้วง จี วัน แบนด์ วงดนตรีเพื่อธรรมนำไปขับร้อง

คำร้องที่ท่านแต่งว่า ฉันมาพุทธคยา ครั้งแรก ก็ไม่แปลกไม่เหงา มีแขกมาทักเราว่าจำได้ จำได้

พระอาจารย์ประคองเล่าความเป็นมาของเพลงว่า แขกมันมั่ว ทั้งๆ ที่เรามาพุทธคยาครั้งแรก ไม่เคยรู้จักและเห็นหน้ามาก่อน แต่แขกจะทักทายว่าอาจารย์ จำได้ อาจารย์ จำได้ เป็นการหากินแบบมั่วๆ เพื่อจะมาตีสนิท และเชิญชวนไปซื้อของ หรือให้ไปใช้บริการ

เมื่อได้ยินแขกทัก โดยมารยาทก็ตอบไปบ้าง แต่อย่าไปหลงกล ให้ถือคติว่าไม่ตลอด คือไม่สบตา ไม่มองหน้า ไม่เจรจา ไม่เสวนา มิเช่นนั้นจะเสียเวลา ทำให้ขบวนนำเที่ยวล่าช้าหากไปกันหลายคน เพราะแขกจะชวนแลกสตางค์หรือซื้อของ ทั้งนี้เพราะคณะทัวร์อินเดีย มักทำ 34 อย่างในเวลาเดียวกัน คือพระก็จะไหว้ สตางค์ก็จะแลก ของแปลกก็จะซื้อ

สำหรับเพลงจำได้ๆ นี้อยู่ในชุดสังเวชนียสถาน ของวง จี วัน แบนด์ เป็นเพลงเกี่ยวกับสังเวชนียสถาน 4 ตำบล รวม 14 เพลง ยังอยู่ในขั้นตอนการผลิต

ทัวร์หลายแบบ
พระอาจารย์ประคองเผยถึงพฤติกรรมของบริษัททัวร์ที่ไปอินเดียว่ามีต่างๆ กันหลายประเภท ทั้งที่น่าชื่นชมยกย่อง และน่าเห็นใจ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับจำนวนเงิน ที่บริษัททัวร์เรียกเก็บ หากเก็บในราคาสูง ลูกทัวร์ก็จะมีความสุขในการเดินทาง ทั้งที่พัก และอาหารการกิน หากจ่ายน้อย ก็ได้ตามราคา คือเหนื่อยและลำบาก บางคณะต้องสมาทานศีล 8 เพราะไม่มีอาหารค่ำให้รับประทาน

ท่านแบ่งเกรดบริษัททัวร์เป็นระดับวีไอพี ทัวร์ ตะลอน ทัวร์ ชะโงกทัวร์ และทุลักทุเล ทัวร์

วีไอพี จัดทัวร์ให้ลูกทัวร์สบาย แต่ต้องจ่ายในราคาสูง 67 หมื่นบาทต่อคนต่อทริป

ตะลอนทัวร์ ชื่อก็บอกแล้วว่าวิ่งไปวิ่งมาอย่างไร้จุดหมาย ไม่มีโปรแกรมชัดเจน กินข้าววัด นอนวัด แต่ไม่ยอมทำบุญใช้หนี้สงฆ์ ซึ่งผู้จัดทัวร์แบบนี้งกมาก และมีความอดทน อดกลั้นสูง ลูกทัวร์จะบ่นจะด่าอย่างไรก็ยิ้ม

ทุลักทุเลทัวร์ไปถึงที่หมายก็มืด อาศัยว่าเป็นชาวพุทธขอพักวัด หากวัดเต็มก็ขอกางมุ้งกางเต็นท์นอน แต่พระก็หนักใจ ประเภทนี้เก็บถูกเพียง 2.9 หมื่นบาท นั่งเครื่องบินลงที่กัลกัตตา นั่งรถบัส 10 ชั่วโมง มาพุทธคยา ถึง 6-7 โมงเช้า แวะวัดล้างหน้าล้างตา กินข้าววัดมื้อหนึ่ง จากนั้นไหว้พระที่ต้นพระศรีมหาโพธิ์แล้วไปนาลันทา ไปไหนแบบทุลักทุเลและมั่วตลอด เดินทางกว่าจะถึงวัดเป้าหมายบางครั้งเลยเพล พระที่เดินทางไปด้วยอดอาหาร เพราะไม่ได้เตรียมอาหารเพลไปด้วย ทัวร์แบบนี้มีลักษณะแกมบังคับลูกทัวร์ให้สมาทานศีล 8 เพราะไม่มีอาหารเย็นให้รับประทาน

ทัวร์หน้าร้าน ประเภทนี้ค่ำไหนนอนนั่น ไปมั่วและขอพักวัดในฐานะคนไทย พระเห็นใจว่าคนไทยด้วยกัน มักไม่ปฏิเสธ

ชะโงกทัวร์ ในสมัยที่ต่างชาติต้องจ่ายค่าเข้าสังเวชนียสถานในราคาหัวละ 100 รูปีนั้น บริษัททัวร์บางแห่งหาวิธีหลีกเลี่ยงไม่ต้องเสียเงิน 100 รูปี โดยพยายามพาไปสังเวชนียสถาน ตอนค่ำ เมื่อสถานที่นั้นปิดลงแล้ว และออกเดินทางต่อไปในเวลาเช้ามืด ซึ่งยังไม่เปิดทำการ ลูกทัวร์จึงได้แค่ชะโงกทัวร์เท่านั้น

ที่หลีกเลี่ยงเพราะไม่ต้องการจ่ายค่าเข้าคนละ 100 รูปี 30 คนก็ 3,000 รูปี แต่ปัจจุบันเสียเพียง 5 รูปี เท่ากับชาวอินเดีย เพราะนักศึกษาไทยจากมหาวิทยาลัยพาราณสีไปเจรจาให้รัฐบาลอินเดียผ่อนปรน

เมื่อถามว่าบริษัทจัดทัวร์ไทยไปอินเดียในปัจจุบันมีมากแค่ไหน ท่านอาจารย์ประคองเล่าว่ามีประมาณ 2030 บริษัทด้วยกัน เช่นธรรมาพาเที่ยว NC Tour, NC Holiday, ธรรมจารี, ธรรมหรรษา มายด์เวเคชั่น,ศรัทธา ทัวร์, ปทุมทัวร์, ดร.สังคม อดีตพระศิริธรรมาภรณ์ อดีตรองเจ้าคณะจังหวัดนครศรีธรรมราช และบริษัทเล็ก บริษัทน้อยอีกมาก

ท่านจึงแนะนำผู้ที่จะไปสังเวชนีสถานให้ศึกษาก่อน ดูโปรแกรมที่เขาจัดให้ จ่ายมาก อยู่สบาย จ่ายน้อยก็ลำบากหน่อย
ท่านยังเตือนเศรษฐินี ที่ทำตัวเป็นมหาราณี ว่าอาจตกที่นั่งลำบากเมื่อฝืนคำแนะนำแจกเงินแขกขอทานไม่เลือกที่ เพราะคุณหญิงท่านหนึ่งเกือบเอาตัวไม่รอดถ้าลูกน้องและตัวท่านไม่กางแขนปกป้องไว้ โดยตัวท่านควักเงินรูปีที่มีโปรยไปด้านหลังเบนความสนใจแขก จากนั้นจึงพาคุณหญิงขึ้นรถได้อย่างปลอดภัย

ท่านตั้งข้อสังเกตว่าคนที่มาพุทธคยามี 23 ประเภท มาแบบพระโพธิสัตว์ มาใช้เวรใช้กรรม หรือมาสร้างเวร สร้างกรรม
บางเรื่องจะโทษแขกอินเดีย ฝ่ายเดียวก็ไม่ได้ เพราะคนไทยบางคนไปส่งเสริมให้แขกอินเดียเป็นอย่างนั้น โดยเฉพาะหญิงไทย

แหล่งที่มา   เว็บไซต์โพสทูเดย์ โดย...สมาน สุดโต 29 มกราคม 2555 เวลา 08:00 น. 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...