วันอาทิตย์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2555

ไม้ผลแปลกและหายาก ที่น่าปลูกในปี พ.ศ. 2555

นิสัยของชาวสวนผลไม้ไทยมักจะเลือกปลูกไม้ผลที่ฮือฮาตามกัน ผลไม้ชนิดไหนขายได้ราคาดีก็จะแห่ปลูกตามกันโดยไม่ยึดหลักการของ “การตลาดนำหน้าการผลิต” ผลสุดท้ายเมื่อผลผลิตของไม้ผลชนิดนั้นเกินความต้องการของตลาดทำให้ชาวสวนขายผลผลิตได้ราคาต่ำและมีไม้ผลเศรษฐกิจหลายชนิดที่ต้องใช้ทั้งเวลาและเงินทุนสูง ชาวสวนผลไม้ไทยควรจะต้องเปลี่ยนพฤติกรรมในการทำสวนผลไม้เสียใหม่ อาทิ ไม่ควรเลือกปลูกไม้ผลเพียงชนิดเดียวควรจัดแปลงปลูกไม้ผลหลากหลายชนิดและในแต่ละชนิดไม่ต้องใช้เนื้อที่ปลูกมาก มีการบำรุงรักษาปรับปรุงคุณภาพผลผลิตให้ดียึดหลักว่า “ทำน้อยได้มาก” นอกจากนั้นชาวสวนผลไม้จะต้องหมั่นศึกษาและหาข้อมูลทางด้านการตลาดผลไม้อยู่ตลอดเวลา อย่างกรณีของการนำไม้ผลแปลกและหายากมาปลูกก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหาทางด้านการตลาดลงได้ เนื่องจากไม้ผลชนิดนั้นยังมีการขยายพื้นที่ปลูกน้อย

“ไม้ผลแปลกและหายาก” ที่คิดว่ายังมีช่องทางทางการตลาดดีในอนาคต

เริ่มจากมะม่วงไต้หวันที่ปลูกได้ในประเทศไทย การปลูกมะม่วงในเชิงพาณิชย์ในประเทศไทยขณะนี้ถ้าจะว่ากันไปแล้วชาวสวนจะปลูกมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สีทองมากที่สุด ด้วยคิดเพียงแต่ว่าตลาดต่างประเทศมีความต้องการมากกว่ามะม่วงสายพันธุ์อื่น โดยไม่คำนึงว่ามะม่วงน้ำดอกไม้สีทองที่จะส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศนั้นจะต้องมีการคัดเกรดและการดูแลรักษาที่ยุ่งยากเพียงใด และด้วยมีการขยายพื้นที่ปลูกกันมากขนาดนี้ อนาคตการตลาดจะเป็นเช่นไร ผู้เขียนได้มีโอกาสไปดูงานการปลูกมะม่วงไต้หวัน 3 ครั้งในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา

นอกจากจะเห็นระบบการปลูก, การผลิตและการแปรรูปแล้ว เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงในไต้หวันยังมีการรวมตัวจัดตั้งเป็นกลุ่มสหกรณ์ที่มีความเข้มแข็งมาก ทำให้เกษตรกรไต้หวันขายผลผลิตมะม่วงได้ราคาดี อย่างกรณีของ มะม่วงพันธุ์อ้ายเหวิน ที่ไต้หวันส่งออกไปขายยังประเทศญี่ปุ่น เกษตรกรขายได้ไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 100 บาทปัจจุบันไต้หวันยังได้มีการพัฒนาสายพันธุ์มะม่วงอย่างต่อเนื่องและมีบางสายพันธุ์ที่มีการนำมาปลูกในบ้านเราจนประสบผลสำเร็จ เช่น พันธุ์งาช้างแดง ด้วยมะม่วงสายพันธุ์นี้ผู้เขียนเคยรับประทานที่ไต้หวันมาแล้ว รสชาติหวานอร่อยไม่แพ้พันธุ์จินหวงและพันธุ์อี้เหวิน เบอร์ 6 และจุดเด่นของมะม่วงงาช้างแดงมีขนาดน้ำหนักผลเฉลี่ย 2-3 กิโลกรัมและเมื่อแก่ผลจะมีสีม่วงเข้ม

 นอกจากนั้นยังมีไม้ผลแปลกและหายากจากไต้หวันอีกชนิดหนึ่งที่ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตรได้นำมาทดลองปลูกคือ “ปีแป๋” ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Pipa” มีคนไทยเรียกทับศัพท์ว่า “ผีผา” ผู้เขียนได้เมล็ดปีแป๋จำนวนหลายร้อยเมล็ดจากไต้หวันมาเพาะและปลูกลงดิน เมื่อต้นปี

แป๋มีอายุต้นกล้า 2 ปีได้ทดลองราดสารแพคโคลบิวทราโซลเพื่อบังคับการออกดอก ผลปรากฏว่าหลังจากราดสารไปได้ 1 เดือน พบว่ามีการออกดอกและติดผล “ปีแป๋” นับเป็นไม้ผลแปลกและหายากอีกชนิดหนึ่งที่มีอนาคต เนื่องจากที่ไต้หวันมีราคาขายถึงผู้บริโภคราคากิโลกรัมละ 100-300 บาท

ในขณะเดียวกันไต้หวันได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ฟักให้มีขนาดผลใหญ่มากเพื่อรองรับการแปรรูปเป็นน้ำฟักพร้อมดื่ม และได้มีการนำเมล็ดฟักยักษ์จากไต้หวันมาทดลองปลูกในประเทศไทยได้ขนาดของผลใหญ่ใกล้เคียงกับที่ปลูกในไต้หวัน คือ มีน้ำหนักผลเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 20 กิโลกรัมต่อผล “ฟักยักษ์” เป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ในดินทุกชนิด และสามารถปลูกได้ในทุกพื้นที่ของประเทศไทย

ประเทศไทยนั้นเป็นอันดับหนึ่งในการผลิตและส่งออกสับปะรดกระป๋องเท่านั้น แต่ถ้าพูดถึงการส่งออกสับปะรดในรูปสับปะรดผลสดนั้น ถือว่าไทยเรามีการส่งออกน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งของไทยอย่างประเทศฟิลิปปินส์ที่สามารถส่งออกสับปะรดผลสดได้ปีละกว่าแสนตันต่อปี หรือแม้แต่ไต้หวันซึ่งมีพื้นที่ปลูกสับปะรดน้อยกว่าไทย แต่มีตัวเลขการส่งออกสับปะรดผลสดมากกว่า โดยเฉพาะส่งไปขายที่ประเทศญี่ปุ่น สับปะรดพันธุ์ “MD2” เป็นสับปะรดที่นิยมบริโภคสดทั่วโลก โดยมีคุณสมบัติที่โดดเด่นทั้งภายในและภายนอก เช่น ภายในคือเรื่องของรสชาติที่หวาน มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว เนื้อมีสีเหลืองเข้ม  (คล้าย ๆ กับสับปะรดพันธุ์ภูเก็ตหรือตราดสีทองบ้านเรา) เนื้อตัน แน่น และไม่เป็นโพรง น้ำหนักผลเฉลี่ย 1.7-1.8 กิโลกรัม จากข้อมูลพบว่ามีวิตามินซีสูงถึง 4 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับสับปะรดพันธุ์อื่น ๆ เมื่อทานแล้วไม่กัดลิ้น สามารถทำให้คนทานได้มากขึ้น ปัจจุบันนี้สับปะรดพันธุ์ “MD2” เป็นที่รู้จักและกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมากและมีการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นในประเทศไทย

นอกจากนั้นยังมีไม้ผลอีก 2 ชนิดที่น่าสนใจและเป็นผลงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตร คือ เรื่อง “มะพร้าวลูกผสมกะทิพันธุ์ชุมพร 84-1 และ 84-2” ต่อไปเกษตรกรที่คิดจะปลูกมะพร้าวกะทิไม่ต้องเสี่ยงว่าผลผลิตจะเป็นกะทิหรือไม่ มะละกอพันธุ์ “ขอนแก่น 80” สำหรับผู้บริโภคที่มีความต้องการที่จะบริโภคมะละกอสุกที่มีขนาดผลใหญ่ไม่มาก ผู้เขียนขอแนะนำว่ามะละกอพันธุ์ขอนแก่น 80 จัดเป็นมะละกอกินสุกที่มีรสชาติอร่อยมาก จะว่าไปแล้วอร่อยกว่าพันธุ์เรดมาลาดอล์ด้วยซ้ำไป

แหล่งที่มา    เว็บไซต์เดลินิวส์ โดยทวีศักดิ์ ชัยเรืองยศ วันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม 2554 เวลา 00:00 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...