40 เปอร์เซ็นต์ของชาย และหญิงเอเชียชอบร้องเพลงขณะอาบน้ำ
การร้องเพลงในห้องน้ำ นอกจากทำให้มีความสุข ช่วยลดเครียดได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังมีส่วนช่วยให้พูดภาษาไทยได้ชัดขึ้น
คุณนิรุทติ์ อมรคณารัตน์ นักกิจกรรมบำบัด โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท ( แผนกผู้สูงอายุ ) กล่าวว่า “ การพูดภาษาไทยให้ถูกต้องเป็นเรื่องสำคัญ พิธีกร, นักร้อง, นักแสดง, คุณครู, ประชาสัมพันธ์ ฯลฯ เป็นอาชีพที่จำเป็นต้องพูดภาษาไทยให้ถูกต้อง การร้องเพลงในห้องน้ำมีส่วนช่วยให้พูดภาษาไทยได้ชัดขึ้น รวมถึงมีส่วนช่วยในการบำบัดผู้ป่วยกลุ่มที่มีปัญหาปลายประสาทอักเสบอย่างที่เป็นข่าวของดาราสาวชื่อดังที่เกิดขึ้นจากการพักผ่อนน้อย, รวมถึงผู้ป่วยอัมพาต อัมพฤกษ์ ”
ร้องเพลงในห้องน้ำช่วยให้พูดภาษาไทยชัดเจนขึ้น |
"การร้องเพลงยังช่วยให้พูดได้ชัดขึ้นเพราะคอหอย ลิ้น ริมฝีปาก กล่องเสียง ฯลฯ ได้ทำงานขณะที่หูได้ฟังไปด้วย ทำให้เกิดการออกกำลังกายเสียง และควบคุมส่วนต่าง ๆ ที่ใช้ในการพูดและช่วยให้เคยชินกับการควบคุม ทั้งการควบคุมลม การหายใจ การเว้นวรรค และจังหวะ ”
“ วิธีที่ดีในการร้องเพลงเพื่อช่วยให้พูดภาษาไทยได้ชัดขึ้น คือ การร้องเพลงตามแบบนักร้องที่ร้องเพลง และออกเสียงภาษาไทยได้ชัดเจน เช่น อุเทน พรหมมินทร์ ( เท่ห์ ), ธนพร แวกประยูร ( ปาน ), ฝน ธนสุนทร ฯลฯ หรือธงชัย แมคอินไตย เพลงไปเที่ยวกัน, สุกฤษฎิ์ วิเศษแก้ว ( บี้ เดอะสตาร์ ) เพลงจังหวะหัวใจ, วิชญาณี เปียกลิ่น ( แก้ม เดอะสตาร์ ) เพลง แค่คำคำเดียว, นภัทร อินทร์ใจเอื้อ ( กัน เดอะสตาร์ ) เพลงหวังดีประสงค์รัก, เพื่อจะเลียนเสียงที่มักพูดกันไม่ถูกต้อง
โดยปกติแล้วการฝึกพูดจะต้องมีครูฝึก หรือผู้บำบัด การร้องเพลงในห้องน้ำจึงเป็นการใช้เสียงสะท้อนกลับจากผนัง และหูของเราทำหน้าที่แทน ซึ่งข้อดีของวิธีนี้คือผู้ที่พูดไม่ชัดปกติแล้วจะอาย และกลัวที่จะถูกล้อ หรือถูกทัก ทำให้ไม่กล้าพูดเต็มเสียง แต่ถ้าร้องเพลง หรือฝึกพูดในห้องน้ำก็จะช่วยแก้ไขเรื่องดังกล่าวได้
ส่วนเวลาที่ใช้ในการฝึกก็มีความสำคัญ ถ้าเป็นช่วงเช้าร่างกายจะมีความพร้อม เพราะทุกส่วนของร่างกายก็สดชื่น, แข็งแรงพร้อมสำหรับการฝึก คุณภาพเสียงน่าจะดีกว่า จะทำให้มีกำลังใจในการฝึกร้องออกเสียงมากกว่า
ห้องน้ำห้องเล็กแบบปิด |
* อวัยวะที่ผลิตลม เช่น ปอด กล้ามเนื้อกระบังลม ในปอดมีกล้ามเนื้อซี่โครง และกล้ามเนื้อกระบังลมออกมา ซึ่งควบคุมทั้งความแรง ความเร็ว และจังหวะ
* อวัยวะที่ทำให้เกิดเสียง เวลาพูดจะมีการสั่นสะเทือนบริเวณสายเสียงที่อยู่ภายในกล่องเสียง ( ใกล้ลูกกระเดือก ) การสั่นน้อยทำให้เกิดเสียงแหบ และการสั่นมากทำให้เกิดเสียงสูง
* อวัยวะที่ใช้ในการเปล่งเสียงพูด เช่น เพดานแข็ง อ่อน ปุ่มเหงือก ลิ้น ฟัน ริมฝีปาก การควบคุมอวัยวะเหล่านี้ทำให้เกิดเสียงที่แตกต่างกันไป
* อวัยวะที่ทำให้เกิดความก้องของเสียง ซึ่งเป็นโพรงต่าง ๆ เช่น โพรงจมูก ช่องคอ ช่องจมูก
* สมอง และเส้นประสาทที่ใช้สั่งงาน และควบคุมเพื่อให้เกิดความสัมพันธ์กันของกลุ่มอวัยวะทั้งหมด
* หู ช่วยให้ได้ยินเสียงต้นแบบ เพื่อให้เลียนเสียงได้
แต่ถ้าเป็นการพูดไม่ชัดจากความเจ็บป่วย เช่น มีปัญหาเรื่องการควบคุมลิ้น, กระพุ้งแก้ม, ริมฝีปาก, ลิ้นไก่ ฯลฯ คุณนิรุทติ์แนะนำว่า ควรต้องพบแพทย์ด้านอายุรกรรมสมองเพื่อค้นหาสาเหตุ เช่น เกิดที่ก้านสมอง ที่ไปควบคุมการทำงานส่วนไหน, เปลือกสมอง, การติดเชื้อไวรัสบางตัว, การได้รับสารพิษ ฯลฯ และเข้าพบนักกิจกรรมบำบัดเพื่อทำการบำบัด อาจต้องเข้ารับการบำบัดด้วยการฝึกการพูด การปรับการทำงานของ ลิ้น ขากรรไกร ปาก กล่องเสียง ปอด และอื่นๆ เพื่อให้พูดได้ชัดขึ้น
แหล่งที่มา เว็บไซต์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ 7 เมษายน 2555 13:43 น.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น