วันอังคารที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2555

สู่สวรรคาลัย...สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ





เมื่อวานนี้ (9 เม.ย.2555) พสกนิกรชาวไทยได้ร่วมถวายความอาลัย ส่งเสด็จสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพิณณวดี สู่สวรรคาลัย ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

ทั้งนี้ มีสิ่งน่ารู้เกี่ยวกับพระราชพิธีฯ ในครั้งนี้ ได้แก่ อาคารพระเมรุสร้างเป็นทรงปราสาทยอดมณฑป หลังจัตุรมุขซ้อน 2 ชั้น
  1. ส่วนเครื่องยอดพระเมรุ สร้างสัปตปฏลเศวตฉัตรไว้บนยอดพระเมรุ 
  2. ส่วนบนเป็นองค์ระฆังรับบัลลังก์
  3. เหนือสุดปักสัปตปฏลเศวตฉัตร
  4. หน้าบันทั้งสี่ด้านประดับอักษรพระนาม "พร"
หอเปลื้อง ที่เก็บพระโกศและเครื่องประกอบ เป็นอาคารขนาดเล็กชั้นเดียวหลังคาจั่ว โดยรอบประดับด้วยเทวดารอบพระเมรุ 30 องค์ รายล้อมด้วยสัตว์หิมพานต์ 160 ตัว มุ่งหมายให้เป็นการจำลองเขาพระสุเมรุที่มีเขาสัตตบริภัณฑ์รายล้อม

ส่วนพระโกศทองคำ ออกแบบให้ตัวฐานคล้ายบัลลังก์ ตัวฝาคล้ายพระชฎามหามงกุฎ และพระโกศจันทน์โกรกฉลุลวดลายด้วยไม้จันทน์หอมแปรรูป

ฉากบังเพลิง ด้านหน้าวาดเป็นรูปเทวดา ด้านหลังเป็นรูปดอกกุหลาบมีพระมหาพิชัยราชรถอัญเชิญพระโกศพระศพจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเวียนรอบพระเมรุตามพระราชประเพณี


รวมถึงมีซีดีเพลงชุด "เพชรรัตนาลัย" และเหรียญที่ระลึกสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เหรียญที่ระลึกอนุสรณ์พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพฯ น้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณอีกด้วย


น้อมเกล้าส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย จากดวงใจไทยทุกดวง

เทวดาประดับรอบพระเมรุครั้งนี้มีจำนวน ๓๐ องค์ แบ่งเป็นเทวดานั่งถือโคม ๑๔ องค์
เทวดานั่งถือบังแทรก ๖ องค์ เทวดายืนถือโคม ๒ องค์ เทวดายืนถือฉัตรผ้า ๘ องค์

เป็นเทวดาชุดเดียวกับที่ใช้ในงานพระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ และมีปั้นหล่อเพิ่มเติมอีก ๒ องค์ โดยสำนัก
ช่างสิบหมู่ได้นำมาซ่อมแซมและทำสีใหม่ทั้งหมด พร้อมปิดลวดลายผ้าทองย่นสาบสีที่ฐานเทวดาใหม่ทั้งหมด


ศาลาลูกขุน ใช้เป็นที่สำหรับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เฝ้าฯ รับเสด็จและร่วมพิธี เป็นอาคารโล่งชั้นเดียว
ในครั้งนี้มีการปรับประยุกต์ใช้เต็นท์สำเร็จรูปเป็นโครงอาคาร และได้ออกแบบองค์ประกอบ
และลวดลายทางสถาปัตยกรรมไทย ตกแต่งให้เข้ากับหลังคาเต็นท์โค้ง

เครื่องยอดพระเมรุนี้ ประกอบด้วยชั้นเชิงกลอน ๕ ชั้น กึ่งกลางของเชิงกลอนแต่ละชั้นมีซุ้มบันแถลงซ้อนสองชั้น
ที่มุมหลังคามีนาคปัก ส่วนบนเป็นองค์ระฆังรับบัลลังก์ เหนือบัลลังก์เป็นชุดบัวกลุ่ม ๕ ชั้น
ปลียอดแบ่งเป็นสองส่วนคั่นด้วยลูกแก้ว ที่ยอดบนสุดประดิษฐานสัปตปฎลเศวตฉัตร

ทับเกษตร หมายถึงอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อแสดงขอบเขตมณฑลพิธี มักสร้างเป็นระเบียงล้อมรอบพระเมรุ
ใช้เป็นที่นั่งของเจ้าหน้าที่ผู้มาร่วมงาน ส่วนกลางทับเกษตรเป็นอาคารยอดมณฑป ชั้นเชิงกลอนประดับด้วยซุ้มบันแถลง
และนาคปักที่มุมทั้งสี่ บนหลังคาอาคารส่วนที่เป็นปีกทั้งสองด้านประดับฉัตรผ้าทองแผ่ลวด










พระที่นั่งทรงธรรม
ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกของพระเมรุ สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับขณะบำเพ็ญพระราชกุศล มีบริเวณสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพาร ทูตานุทูต นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี เฝ้าฯ รับเสด็จ พระที่นั่งองค์นี้มีลักษณะเป็นอาคารโถง หลังคาจัตุรมุข ยกพื้นสูง หลังคาจั่วมีกันสาดปีกนก มุขหน้าและหลังมีมุขประเจิด พื้นที่ด้านหน้าอาคารต่อเป็นหลังคาปะรำ เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการใช้สอย

การที่สถาปนิกออกแบบให้พระนั่งทรงธรรมตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก หันหน้าไปทางทิศตะวันออกสู่พระเมรุ เนื่องจากพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพจะเริ่มตั้งแต่ช่วงบ่ายไปจนถึงค่ำ ร่มเงาของพระที่นั่งทรงธรรมจะทอดสู่ลานและบันไดทางเสด็จพระราชดำเนินขึ้นพระเมรุ อีกทั้งผู้ที่อยู่บนพระที่นั่งทรงธรรมจะแลเห็นแสงเงาและสีสันอันงดงามของพระเมรุที่สะท้อนแสงอาทิตย์ในช่วงบ่ายถึงเย็น

กระถางต้นไม้ที่ประดับตกแต่งโดยรอบบริเวณพระเมรุนั้น มีแนวความคิดมาจากการตกแต่งพระเมรุเมื่อครั้งงานพระเมรุมาศ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยได้ออกแบบจัดทำลวดลายกระถางในครั้งนี้อย่างโบราณ และจัดทำเป็น ๓ แบบ คือ กระถางกลมขนาดใหญ่ ขนาดเล็กทรงรี และขนาดเล็กทรง ๘ เหลี่ยม บนกระถางได้เชิญอักษรพระนาม พ ร ประกอบช่อชัยพฤกษ์และใบปาล์ม ประดับอยู่กลางกระถางด้วย
 ช่อชัยพฤกษ์ มีความหมายถึง ชัยชนะ และความบริสุทธิ์ ดังเช่นสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ผู้มีพระจริยวัตรบริสุทธิ์สะอาด ทรงพระคุณธรรมในการระงับพระกาย พระวาจา และพระหฤทัยให้สำรวมอยู่ในความดีงาม ห่างไกลจากมลทินโทษ เป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ในทางธรรม อีกทั้งช่อชัยพฤกษ์ยังสื่อความถึงพระยศ พลเอกหญิง พลเรือเอกหญิง และพลอากาศเอกหญิง ซึ่งทรงดำรงอยู่ในทางทหารอีกด้วย

แหล่งที่มา   นสพ. M2F วันอังคารที่ 10 เม.ย. 55 (123),  เว็บไซต์ okNation 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...